เล่มที่ 17 สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
ของเสียที่เป็นอันตราย
เล่นเสียงเล่มที่ 17 สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ ของเสียที่เป็นอันตราย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
 
            ในชีวิตประจำวันของเราทุกคนย่อมจะต้องมีเศษสิ่งของเหลือใช้ ที่จะทิ้งอยู่บ้าง ไม่มากก็น้อย ตัวอย่างเช่น เศษอาหาร เศษกระดาษ เศษใบตอง ถุงพลาสติก กิ่งไม้ใบไม้แห้ง หลอดไฟฟ้าที่เสีย เครื่องใช้ ที่หักพัง เศษโลหะ เศษแก้ว และอื่นๆ อีกมากมายหลายอย่าง
            เราแบ่งสิ่งของเหลือใช้ที่จะทิ้งออกเป็นสองจำพวกใหญ่ๆ คือ ของไม่เป็นอันตรายพวกหนึ่ง และของที่เป็นอันตรายอีกพวกหนึ่ง
            ของไม่เป็นอันตราย เช่น เศษอาหาร เศษกระดาษ เศษโลหะ เป็นของที่เราอาจทำลาย หรือกำจัดให้หมดไปได้ง่าย เศษอาหารอาจใช้ทำปุ๋ย เศษกระดาษใช้ทำกระดาษห่อของ เศษโลหะนำมาหลอมใหม่ให้เป็นโลหะ

            ส่วนของที่เป็นอันตราย เช่น พวกสารเคมีที่มีพิษ และสารปนเปื้อนเชื้อโรคนั้น ถ้านำไปทิ้งหรือทำลายโดยไม่ถูกวิธี ก็อาจทำให้ผู้คนเจ็บป่วย หรือถึงตายได้ หรือถ้าทิ้งลงในแม่น้ำลำคลอง ก็จะทำให้น้ำเน่าเสีย เป็นเหตุให้ปลาและสัตว์น้ำตายหมด อย่างที่เคยปรากฏเป็นข่าวมาแล้ว
            ของเสียที่เป็นอันตรายมิได้มีอยู่เฉพาะจากโรงงานอุตสาหกรรมเท่านั้น ยังมีการผลิตจากบ้านเรือนของเรา และแหล่งอื่นๆ อีกด้วย เช่น ร้านค้า พื้นที่เกษตรกรรม และโรงพยาบาล
            ตัวอย่างของเสียที่เป็นอันตรายจากโรงงานอุตสาหกรรม ได้แก่ สารเคมีนานาชนิด กรด ด่าง สารที่เป็นพิษ และวัตถุไวไฟต่างๆ ส่วนสิ่งของเหลือทิ้งจากบ้านเรือน ร้านค้า และพื้นที่เกษตรกรรม ที่เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ซากถ่านไฟฉาย หลอดไฟฟลูออเรสเซนซ์ ภาชนะบรรจุยาฆ่าแมลง ฯลฯ สำหรับสิ่งของที่ทิ้งจากโรงพยาบาล ได้แก่ สำลีเช็ดแผล เข็มฉีดยาใช้แล้ว เสมหะ น้ำลาย ปัสสาวะ อุจจาระ ของผู้ป่วย เป็นต้น

            เราควรรู้วิธีที่ถูกต้องในการทำลาย และกำจัดของเสีย ที่เป็น อันตราย เพื่อความปลอดภัยของชีวิตของเราเอง และเพื่อเป็นการป้องกันมิให้เกิดสิ่งแวดล้อมเป็นพิษขึ้น ในชุมชนของเรา