เล่มที่ 17 สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
ฉันทลักษณ์ไทย
เล่นเสียงเล่มที่ 17 สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ ฉันทลักษณ์ไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
กาพย์เกริ่น

ร้อยกรองลองรู้จัก     ฉันทลักษณ์ของไทยเรา
มีค่าอย่าดูเบา     คำร้อยกรองงามผ่องใส
อักษรสุนทรสาร     บ่อเกิดงานอันอำไพ
เฉิดฉันวรรณคดีไทย     กวีสร้างแต่ปางบรรพ์
มาเถิดเยาวชนไทย     เร่งสนใจงานประพันธ์
ฝึกฝนจนสร้างสรรค์     กาพย์กลอนได้ภูมิใจจริง
ฐ.น.
ก่อนรู้จักฉันทลักษณ์ไทย

            ฉันทลักษณ์เป็นคำที่มีความหมายกว้าง หมายถึง ตำราว่าด้วย คำประพันธ์ ซึ่งครอบคลุมการแต่งคำประพันธ์ชนิดต่างๆ ก่อนที่จะทำความรู้จักกับฉันทลักษณ์ ขอเชิญอ่านบทร้อยกรองง่ายๆ สัก ๔ เรื่อง ต่อไปนี้
            บทร้อยกรองข้างต้นเป็นคำบ่นของคนที่ไม่ชอบอากาศร้อน เขาไม่ทราบจะโทษใครดี ก็เลยโทษดวงอาทิตย์ว่า ไม่เห็นใจตน ผู้บ่นใช้น้ำเย็นและพัดช่วยให้คลายร้อนได้บ้าง แต่ก็ยังร้อนอยู่นั่นเอง ในที่สุดเมื่อหนีไม่พ้น ก็ต้องทนร้อนต่อไป การบ่นเป็นร้อยกรองเช่นนี้ ชวนให้ผู้ฟัง หรือผู้อ่านเห็นใจ พร้อมกันนั้น ก็เกิดอารมณ์ขันไปด้วย เมื่ออ่านวรรคสุดท้าย

ถ้อยคำที่ใช้ในกาพย์ยานีบทนี้เป็นคำง่ายๆ สื่อความหมาย ชัดเจน เสียงสัมผัสคล้องจอง มีทั้งในวรรคเดียวกัน และต่างวรรคที่อยู่ถัดไป ทำให้เกิดจังหวะน่าฟัง
            เด็กๆ ที่เคยนั่งรถเล่น แล้วกางนิ้วให้ลมสัมผัสมือ คงจะมีความรู้สึกคล้ายๆ ที่กล่าวไว้ในบทร้อยกรองข้างต้น และถ้านั่งรถผ่านทุ่งนา ที่มีข้าวกล้าสีเขียวอ่อน ก็จะสังเกตเห็น "คลื่นเขียว" ขณะที่ ลมพัด เมื่อหยุดพักริมลำธาร ก็อาจมองเห็นดอกไม้เหมือนสาวน้อยส่องกระจก มีลมพัดโชยมา ทำให้ดอกไม้ไหว ธรรมชาติที่สวยงามชวนให้รื่นรมย์เช่นนี้ เมื่อบันทึกไว้เป็นบทร้อยกรอง ก็จะทำให้นึกเห็นภาพงามๆ ตามไปด้วย ดูไปแล้ว การแต่งวิชชุมมาลาฉันท์ ก็ไม่น่าจะยาก มีเพียงวรรคละ ๔ คำ เพียง ๘ วรรค ก็จบบท เด็กๆ เคยสังเกตธรรมชาติรอบตัวมาแล้ว อาจลองแต่งฉันท์ชนิดนี้ ดูบ้างก็ได้
            สายรุ้งหรือรุ้งกินน้ำ ใครๆ ก็คงเคยเห็นกันทั่วไป รุ้งมี ลักษณะเป็นแถบสี ๗ สี สวยงาม โค้งเป็นครึ่งวงกลม พาดขึ้นไปบนท้องฟ้า การมองเห็นสายรุ้ง ทำให้คนใจสบาย เกิดความหวัง ดังนั้นผู้แต่งจึงชวนให้ผู้อ่านคิดเปรียบเทียบสายรุ้งกับความสุข ที่จะได้รับ หลังจากที่ทุกข์มามากแล้ว

            น่าสังเกตว่าการมองดูปรากฏการณ์ธรรมชาติ แล้วเกิดความคิดเชิงเปรียบเทียบเช่นนี้ เป็นวิธีการอย่างหนึ่ง ที่กวีหรือนักกลอน ชอบใช้ เพราะทำให้บทร้อยกรองมีสาระลึกซึ้งขึ้น ทั้งยังเป็นข้อคิด ที่ปลอบใจให้คลายทุกข์ได้บ้าง
            ดอกบัวเกิดจากโคลนตมในสระน้ำ ก้านของดอกบัวยาว จึงสามารถชูดอกแย้มบานเหนือน้ำได้ ฉะนั้นแม้ฝนจะตก น้ำจะท่วม บัวก็ยังสดชื่นอยู่ได้ ในขณะที่ดอกไม้ชนิดอื่นเหี่ยวโหยโรยราไปหมด เพราะสวนล่ม เนื่องจากน้ำท่วมนาน ผู้แต่งคงจะได้สังเกตความแตกต่าง ระหว่างดอกบัวกับดอกไม้ชนิดอื่น จึงเกิดความคิดเชิงเปรียบเทียบ หรืออุปมาอุปไมยขึ้น เป็นการก้าวจากรูปธรรมคือ ดอกบัว ไปสู่นามธรรม คือ ความเป็นผู้มีปัญญา และความอดทน สามารถยืนหยัดอยู่ได้อย่างสงบ ไม่ต้องหมองเศร้า เพราะความทุกข์ แตกต่างจากผู้ที่ขาดปัญญา ซึ่งถูกความทุกข์ทำลายอย่างย่อยยับ