เวลาที่มีงานเลี้ยง เครื่องดื่มที่ไม่เคยขาดก็คือ เครื่องดื่มสีเหลืองๆ มีฟองมากๆ ในแก้วหนาๆ ที่คนทั่วไปรู้จักกันว่า เบียร
เบียร์ ทำจากการผสมน้ำ ข้าวมอลต์ ดอกฮ็อพ และยีสต์ ด้วยกรรมวิธีที่ต้องควบคุมทุกขั้นตอน เพื่อให้ได้รสที่ต้องการ
ด้วยเหตุนี้ จึงต้องมีผู้ทำหน้าที่ควบคุมกรรมวิธีนี้ ซึ่งเรียกว่า ผู้ปรุงเบียร์ ซึ่งนอกจากจะต้องเรียนวิชาปรุงเบียร์มาโดยตรงแล้ว ยังต้องเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในการทำงานพอสมควรด้วย
ขณะนี้ ในประเทศไทยยังไม่มีโรงเรียนที่สอนวิชาชีพนี้ โดยเฉพาะผู้ที่อยากจะเป็นผู้ปรุงเบียร์ จึงต้องไปเรียนจากประเทศที่ถือว่า เชี่ยวชาญในการทำเบียร์คือ ประเทศเยอรมนี
ผู้ที่ให้กำเนิดการผลิตเบียร์ในประเทศไทย คือ พระยาภิรมย์ภักดี (บุญรอด เศรษฐบุตร) ผู้ก่อตั้ง บริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ตั้งแต่วันที่ ๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ โดยมีผู้ปรุงเบียร์ ซึ่งเป็นคนไทยคนแรกคือ นายประจวบ ภิรมย์ภักดี เป็นผู้ช่วยควบคุมดูแลการผลิต
จากนั้นมาก็ได้มีการพัฒนาการปรุงเบียร์มาโดยตลอด เบียร์จึงมีหลายชนิด ขึ้นอยู่กับปริมาณส่วนผสม และขั้นตอนการผลิตรส ที่นักดื่มนิยมมักจะเป็นรสขม และมีกลิ่นหอมของดอกฮ็อพ
เนื่องจากเบียร์เป็นเครื่องดื่มที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ต่ำ และมีสารอาหารที่มีคุณค่าต่อร่างกาย เช่น โปรตีน คาร์โบไฮเดรต และแร่ธาตุต่างๆ โภชนากรจึงจัดเบียร์อยู่ในกลุ่มเครื่องดื่มที่ช่วยให้เจริญอาหาร และกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิตด้วย