มนุษย์มีความต้องการลงไปท่องเที่ยวอย่างมีอิสระใต้ทะเล จึงพยายามหาวิธีการดำน้ำ และพัฒนาอุปกรณ์ดำน้ำมาเป็นเวลานานนับร้อยปี ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ อุปกรณ์ดำน้ำ ได้ถูกพัฒนาขึ้น จนบุคคลทั่วไป สามารถฝึกใช้ได้ ทำให้การดำน้ำ เพื่อการท่องเที่ยว และการกีฬา เป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ นอกเหนือจากการดำน้ำทางยุทธวิธี และดำน้ำเป็นอาชีพ
ท้องทะเลมีธรรมชาติและสภาพแวดล้อมแตกต่างจากบนพื้นดิน หรือบนบกที่มนุษย์คุ้นเคย เมื่ออยู่ใต้น้ำ การทำงานของอวัยวะหลายอย่างของคนเราผิดไปจากปกติ การทรงตัวในสภาพไร้น้ำหนัก การมองเห็น การได้ยินเสียง การเคลื่อนไหว หรือแม้แต่การหายใจ กลายเป็นเรื่องยุ่งยากใต้น้ำ ความจำกัดต่างๆ เหล่านี้อาจก่อให้เกิดปัญหาขณะดำน้ำได้
การดำน้ำ แบ่งตามระดับความลึกได้ ๒ ประเภท คือ ประเภทน้ำตื้น และประเภททะเลลึก
การดำน้ำประเภทน้ำตื้น เป็นการดำน้ำ ที่มีระดับความลึกน้อยกว่า ๓๕ ฟุต ส่วนประเภททะเลลึก เป็นการดำน้ำ ที่มีระดับความลึกมากกว่า ๓๕ ฟุต
อันตรายจากการดำน้ำมีมากมาย ได้แก่ การจมน้ำ การถูกพิษของสัตว์หรือพืชใต้ทะเล ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องระบบทางเดินหายใจ ออกซิเจนขาดหรือเกิน สำลักน้ำ หายใจไม่ออก เมาก๊าซไนโตรเจน อุณหภูมิต่ำไป เส้นเลือดในสมองแตก โรคหัวใจกำเริบ ฯลฯ และที่สำคัญได้แก่ โรคน้ำหีบ (เป็นภาษาท้องถิ่นภาคใต้) หรือโรคน้ำหนีบ หรือโรคจากความกดดันของอากาศ ซึ่งมีผู้ป่วยมากมาย บางรายเสียชีวิต บางรายเป็นอัมพาตครึ่งซีกบ้างครึ่งตัวบ้าง
สาเหตุ
เนื่องจากดำน้ำอยู่นานหลายชั่วโมง แต่เวลาที่ขึ้นมาสู่พื้นน้ำ กลับขึ้นเร็วเกินไป วิธีที่ถูกต้องควรจะค่อยๆ ขึ้น โดยทุกๆ ระยะ ๑๐ ฟุต ต้องพัก ๑-๒ นาที แล้วค่อยลอยตัวขึ้นต่อ หรือเกิดจากเครื่องมือปั๊มอากาศเสีย และที่สำคัญ เมื่อเกิดอาการขึ้นแล้ว แต่ไม่มีเครื่องมือปรับความดัน หรือห้องปรับบรรยากาศที่จะช่วยเหลือได้
โรคและอันตรายจากการดำน้ำ ล้วนก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตทั้งสิ้น หากไม่รู้จักป้องกัน