เล่มที่ 23 สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
เฟิร์นไทย
เล่นเสียงเล่มที่ 23 สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เฟิร์นไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :


            ในบรรดาสิ่งมีชีวิตที่อยู่รอบๆ ตัวเรา พืชหรือต้นไม้ที่มีสีเขียวมักจะเป็นที่รู้จักกันดี เนื่องจากเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไป ในชีวิตประจำวัน เด็กๆ อาจเคยเห็นพืชสีเขียวที่ขึ้นอยู่ตามพื้นดิน ในน้ำ หรือตามต้นไม้ มีใบอ่อนม้วนขดเป็นวงคล้ายลานนาฬิกา และเมื่อสังเกตด้านล่างของใบที่เจริญเต็มที่ มักจะพบจุดหรือขีดสีน้ำตาล พืชที่มีลักษณะดังกล่าวเรียกว่า "เฟิร์น" หรือคนไทยมักเรียกว่า "กูด" หรือ "ผักกูด"



            เราจะพบเฟิร์นได้ทั่วไปในบริเวณที่ชื้นและมีร่มเงา ในป่าธรรมชาติแบบต่างๆ ตั้งแต่บริเวณริมทะเลไปจนถึงบริเวณยอดเขาสูง แต่จะพบน้อยมากในป่าที่ถูกบุกรุกทำลาย เนื่องจากเฟิร์นเป็นพืชที่ชอบความชุ่มชื้น และมีร่มเงา จึงพบมากบริเวณเขตร้อนชื้นของโลก และจะพบน้อยลงในเขตหนาว และพื้นที่ที่มีความแห้งแล้ง สภาพภูมิประเทศ และภูมิอากาศของประเทศไทยจะแตกต่างกันไปในแต่ละภาค ทำให้ประเทศไทยเป็นแหล่งรวมของเฟิร์นเกือบ ๖๐๐ ชนิด บางชนิดพบเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น และคาดว่า ยังมีอีกหลายชนิดที่ยังไม่มีผู้ค้นพบ



            คนไทยรู้จักเฟิร์นมาเป็นเวลานาน จึงรู้จักนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์หลายอย่าง เช่น ใบอ่อนของ "กูดกิน" "ผักแว่น" จัดเป็นผักพื้นบ้านที่มีผู้นิยมบริโภค และมีขายตามตลาดสดทั่วไป เนื่องจากเฟิร์นมีใบที่สวยงาม จึงมีผู้นิยมปลูกเป็นไม้ประดับตามบ้าน สวน หรืออาคารสถานที่ ก้านใบของเฟิร์น "ย่านลิเภา" ใช้เป็นวัสดุจักสานผลิตภัณฑ์จากย่านลิเภาหลายชนิด เช่นกระเป๋าถือสตรี พัด พาน กำไล เป็นต้น



            นอกจากเฟิร์นที่ขึ้นอยู่ในป่าตามธรรมชาติจะเป็นแหล่งผลิตก๊าซออกซิเจนร่วมกับพืชสีเขียวอื่นๆ แล้ว ยังมีเฟิร์นบางชนิด เช่น "โชน" ซึ่งชอบขึ้นตามบริเวณพื้นที่ลาดชันกลางแจ้ง รากของโชนจะช่วยยึดดิน ช่วยป้องกันการพังทลายของหน้าดิน 



            จึงอาจกล่าวได้ว่า เฟิร์นเป็นพืชที่มีความสำคัญต่อมนุษย์ไม่ยิ่งหย่อนกว่าพืชกลุ่มอื่นๆ เราจึงควรช่วยกันดูแลรักษาป่าเมืองไทย ให้เป็นแหล่งที่อยู่ของเฟิร์น และพืชอื่นๆ ตลอดไป