เล่มที่ 8 สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
ประวัติการแพทย์และเภสัชกรรมไทย
เล่นเสียงเล่มที่ 8 สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ ประวัติการแพทย์และเภสัชกรรมไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
            เมื่อคนไทยรวมกันเป็นหมู่ในแผ่นดินที่เป็นประเทศไทยนี้เมื่อมีการเกิด เจ็บ และตาย ได้พยายามใช้ยาตามธรรมชาติ เช่น รากไม้ ใบไม้ รักษาโรค เมื่อนับถือพระพุทธศาสนาได้นำการแพทย์ของอินเดียเข้ามาร่วมด้วย นอกจากนี้ยังได้รับอิทธิพลจากจีน และไสยศาสตร์ เช่น มีการสะเดาะเคราะห์ หมอในสมัยโบราณจึงเป็นไปในลักษณะของหมอทางไสยศาสตร์
 
            ในสมัยกรุงศรีอยุธยามีการติดต่อกับชาวตะวันตก โดยเฉพาะในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้มีการนำความรู้ทางการแพทย์เข้ามาด้วย ต่อมาสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีแพทย์แผนปัจจุบัน ชาวต่างประเทศเข้ามาทำการรักษาคนเจ็บป่วย ซึ่งขณะนั้นคนไทยยังไม่มีสถานที่รักษาพยาบาลของตนเอง  จนกระทั่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงให้นำไม้และวัสดุจากเมรุ ที่ใช้ในการพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ มาสร้างเป็นโรงศิริราชพยาบาล ทำการรักษาทั้งแผนปัจจุบัน และแผนโบราณ ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น "โรงพยาบาลศิริราช" มีการรับนักเรียนเข้าเรียนแพทย์และพยาบาล ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระราชบิดา เจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์ ที่ทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ สร้างสถานศึกษาขึ้นบางส่วน และส่งคนไทยไปศึกษายังต่างประเทศ พร้อมกับขอความร่วมมือจากมูลนิธิร็อคกีเฟลเลอร์ ให้ช่วยส่งอาจารย์มาพัฒนาหลักสูตร การแพทย์แผนโบราณจึงได้หมดไปจากโรงเรียนแพทย์
การแพทย์แผนปัจจุบันได้ขยายไปทั่วประเทศ และเป็นที่ยอมรับของคนทั่วโลก