ลายเอ๋ยลายไทย แลวิไลด้วยกระหนกที่ผกผัน
ผูกเป็นลายหลายอย่างต่างต่างกัน สารพันสำหรับประดับประดา
ทั้งปูนปั้นสลักเขียนเพียรประดิษฐ์ ล้วนวิจิตรเส้นสายลายเลขา
ดูงามเด่นดีนักประจักษ์ตา ล้ำคุณค่าเฉิดฉายลายไทยเอย
ลายไทยแสนสวยที่เราเห็นกันอยู่ในทุกวันนี้มาจากไหนนะ ?
มีการพบหลักฐานว่า เมื่อกว่าพันปีก่อน ครั้งที่ประเทศไทยรับเอาพระพุทธศาสนามาจากประเทศอินเดีย ก็ได้รับลวดลายอินเดียโบราณที่เป็นต้นเค้าลายไทยมาด้วย
ลักษณะที่สำคัญของลายไทยคือ มีตัวกระหนกเป็นหลัก เราจึงเรียก ลายไทยได้อีกอย่างหนึ่งว่า ลายกระหนก
ลายกระหนกนี้แต่แรกเริ่มมีรูปร่างเหมือนเลขหนึ่งที่มีหัวจุก ต่อมาได้รับการพัฒนาให้สวยงามไปตามยุคสมัย ลายกระหนกที่มีลักษณะอ่อนช้อย แบบบาง และเป็นเปลวหยักสะบัดปลายอย่างที่คุ้นตาในยุคปัจจุบัน พบมาตั้งแต่ สมัยอยุธยาตอนปลาย
ลวดลายกระหนก ที่บานหน้าต่างพระอุโบสถวัดสุวรรณดาราราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ลายไทยหรือลายกระหนกใช้เขียน สลัก หรือปั้นปูน สำหรับประดับตกแต่งสิ่งก่อสร้างที่สำคัญ เช่น วัดวาอาราม ปราสาท ใช้ประดับศิลปวัตถุ เช่น ตู้พระธรรม ช่างไทยนำกระหนกมาผูกเป็นลวดลาย โดยอาศัยแรงบันดาลใจจากธรรมชาติรอบตัว เช่น ต้นไม้ ใบไม้ ดอกไม้ การออกแบบลวดลายต้องคำนึงถึงความเหมาะสมกับพื้นที่ที่จะประดับ เราจึงมีลายไทยแบบต่างๆ เช่น ลายกรวยเชิง ใช้ประดับที่ส่วนล่างของผนัง ลายเฟื่องอุบะใช้ประดับส่วนบนของผนัง
ลายไทยหรือลายกระหนกใช้เขียน สลัก หรือปั้นปูน สำหรับประดับตกแต่งสิ่งก่อสร้างที่สำคัญ เช่น วัดวาอาราม ปราสาท ใช้ประดับศิลปวัตถุ เช่น ตู้พระธรรม ช่างไทยนำกระหนกมาผูกเป็นลวดลาย โดยอาศัยแรงบันดาลใจจากธรรมชาติรอบตัว เช่น ต้นไม้ ใบไม้ ดอกไม้ การออกแบบลวดลายต้องคำนึงถึงความเหมาะสมกับพื้นที่ที่จะประดับ เราจึงมีลายไทยแบบต่างๆ เช่น ลายกรวยเชิง ใช้ประดับที่ส่วนล่างของผนัง ลายเฟื่องอุบะใช้ประดับส่วนบนของผนัง
ลวดลายกระหนกประดับที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพฯ
ลายไทย-ลายกระหนกมีลักษณะเฉพาะตัวที่โดดเด่น ได้รับความนิยมมาทุกยุคทุกสมัย สมัยก่อนใช้ประดับพระราชวัง และวัดวาอาราม แต่ปัจจุบันมีที่ใช้กว้างขวาง นับเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งของชาติไทยและชาวไทยทุกคน