ภาคกลางของประเทศไทยเป็นแหล่งปลูกมะพร้าวน้ำหอมพันธุ์ต้นเตี้ยมากที่สุด ผลอ่อน ซึ่งใช้รับประทาน มีน้ำหวานหอมและเนื้ออ่อนนุ่ม ชาวสวนนิยมปลูกแบบยกร่องให้พ้นจากน้ำท่วมขัง แต่ใกล้แหล่งน้ำ เช่น แม่น้ำลำคลองต่างๆ ในภาคกลาง เนื่องจากมะพร้าวน้ำหอมชอบอากาศร้อนชื้น ฝนตกสม่ำเสมอ และเจริญเติบโตได้ดีในที่ราบลุ่ม
มะพร้าวน้ำหอมหลังจากออกช่อดอก ซึ่งเรียกว่า จั่น ได้ ๑๙๕ วัน ก็จะพัฒนาเป็นผลมะพร้าวที่มีน้ำหวานหอม เนื้ออ่อนนุ่ม ชาวสวนจะใช้มีดตัดทะลายผลอ่อน เพื่อนำมารับประทาน โดยการตัดก้นผล แยกเนื้อและน้ำใส่ภาชนะ เมื่อเด็กๆ รับประทานจะรู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด เพราะน้ำมะพร้าวเป็นน้ำที่บริสุทธิ์ อุดมไปด้วยแร่ธาตุที่เกิดขึ้นภายในผล ซึ่งไม่มีในไม้ผลชนิดอื่น
มะพร้าวน้ำหอมปลูกได้ผลดีในภาคกลาง เพราะมีดินดีน้ำดี มีสภาพอากาศที่พอเหมาะ ช่วยให้มีการเจริญเติบโตเร็ว เมื่ออายุ ๒ ปีครึ่ง ก็ให้ผลซึ่งดกและเก็บเกี่ยวได้นานถึง ๔๐ ปี จึงจะปลูกใหม่
มะพร้าวน้ำหอมที่ปลูกในภาคกลางเป็นพันธุ์ก้นจีบซึ่งพัฒนาอย่างต่อเนื่องมากว่า ๕๐ ปี โดยเกษตรกรเป็นผู้นำมาทดลองปลูก พัฒนา และอนุรักษ์ ตามจังหวัดต่างๆ ในภาคกลางบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำบางปะกง ทางราชการได้ช่วยปรับปรุงมะพร้าวพันธุ์ก้นจีบให้คงคุณภาพความหวานหอม และเผยแพร่ ให้เกษตรกรชาวสวนนำไปปลูกทั่วประเทศ หน่วยงานที่พัฒนาพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมคือ ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์