แก้วมังกรเป็นชื่อผลไม้ไทยชนิดหนึ่งที่ตั้งชื่อโดยคนไทย เป็นไม้ผลในวงศ์กระบองเพชร มีถิ่นกำเนิดทางตอนใต้ ของประเทศเม็กซิโกและประเทศใกล้เคียง ประเทศไทยเริ่มปลูกไม้ผลชนิดนี้เป็นอาชีพใหม่ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๐ ซึ่งในระยะแรกๆ ผลแก้วมังกรที่เก็บเกี่ยวได้มีรสชาติไม่ค่อยอร่อยนัก ต่อมาด้วยวิริยอุตสาหะและความสามารถของเกษตรกร รวมทั้ง นักวิชาการเกษตรไทย จึงสามารถผลิตผลแก้วมังกรที่มีคุณภาพดีขึ้นตามลำดับ ปัจจุบันผลไม้ชนิดนี้มีรสชาติอร่อยมากยิ่งขึ้น ซึ่งผู้บริโภคควรเลือกซื้อจากสวนที่เชื่อถือได้ หรือซื้อโดยดูจากตราสินค้าซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีที่ติดบนผล
ปัจจุบันแก้วมังกรมีจำหน่ายอยู่ ๓ กลุ่ม คือ กลุ่มเนื้อสีขาว กลุ่มเนื้อสีแดง และกลุ่มเนื้อสีชมพูที่มีลูกผสมพันธุ์ใหม่ชื่อว่า "พิ้งกี้ช้อยซ์" ซึ่งผลแก้วมังกรพันธุ์นี้มีจำหน่ายในจำนวนที่จำกัดเพราะเพิ่งเริ่มการปลูก คนทั่วไปมักคิดว่า แก้วมังกรเป็นพืชที่ปลูกเลี้ยงง่าย แต่เรื่องจริงแล้ว การปลูกเลี้ยงต้องใช้ความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ เพราะการผลิตแก้วมังกรมีศัตรูพืชและอุปสรรคต่างๆ รวมทั้งดินฟ้าอากาศ และสิ่งแวดล้อม ผู้ที่ไม่ใช่มืออาชีพ รู้แต่ทฤษฎีและคำบอกเล่าจากหนังสือมักประสบความล้มเหลว ซึ่งเป็นการสูญเสียทรัพยากรที่น่าเสียดายมาก ถึงแม้ว่าประเทศไทยสามารถผลิตแก้วมังกรได้ดีในระดับหนึ่ง แต่ภาคเอกชนและภาครัฐก็ยังต้องศึกษาค้นคว้าวิจัย เพื่อการพัฒนาให้ได้ผลดียิ่งขึ้น
ผลแก้วมังกรที่ดีควรเป็นผลแก่กำลังพอดี ผลไม่จำเป็นต้องมีขนาดใหญ่ แต่ควรดูสะอาดตาน่ามอง มีรสหวานกว่าน้ำอัดลม และควรอมเปรี้ยวเล็กน้อย เนื้อใกล้เปลือกมีความหวานน้อยที่สุด ส่วนที่หวานมากที่สุด คือ ใจกลางของผล ปกติแก้วมังกรมีเนื้อแน่นแต่ไม่กรอบ เนื้อจะแน่นมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ผลแก่มากมีรสหวานมาก เปรี้ยวน้อย และเนื้อแน่นน้อย ส่วนผลอ่อนก็มีคุณสมบัติที่ตรงกันข้าม
แก้วมังกรมีธาตุอาหารโดยทั่วไปเหมือนผักผลไม้อื่นๆ แต่ที่พิเศษคือ อุดมด้วยใยอาหารและแร่ธาตุจำพวกโพแทสเซียม แมกนีเซียม ฟอสฟอรัส และแคลเซียม การเพิ่มแคลเซียมให้แก่แก้วมังกร มีแนวโน้ม ทำให้เนื้อแน่นมากขึ้น แก้วมังกรเป็นผลไม้สุขภาพที่สำคัญ มีสารคล้ายวุ้นเหลวและเหนียวเล็กน้อย และมีเคมีพืชหลายชนิด ซึ่งช่วยต่อต้านอนุมูลเสรี บรรเทาอาการท้องผูก ลดความเสี่ยง ในการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ควบคุมน้ำหนักตัว ป้องกันโรค และการเจ็บป่วย หลายโรค ทำให้สุขภาพดี และร่างกายแข็งแรง หากเด็กๆ รับประทาน ในปริมาณมากพอสมควร เช่น วันละ ๑๕๐ กรัม จะส่งผลให้เด็กๆ เรียนหนังสือเก่ง นอกจากรับประทานเป็นผลไม้สดแล้ว เด็กๆ ยังอาจนำมาทำสลัดผลไม้ ผลไม้รวมมิตร ผสมในสลัดผัก น้ำแก้วมังกรผสมในเครื่องดื่มต่างๆ ทำไอศกรีม รวมทั้งรับประทานผลที่แช่แข็งแบบหวานเย็น