เล่มที่ 38 สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
รังสี
เล่นเสียงเล่มที่ 38 สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ รังสี
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
            ชีวิตเรามักเกี่ยวข้องกับรังสีอยู่เกือบตลอดเวลา ซึ่งบางอย่างหลีกเลี่ยงได้ บางอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นับตั้งแต่ตื่นขึ้นมาเวลาเช้า ถ้ายังมืดอยู่ ก็เปิดสวิตช์ไฟให้ห้องสว่าง แสงสว่างจากหลอดไฟเป็นรังสี เข้าครัวช่วยคุณแม่ทำกับข้าว ต้มน้ำ สิ่งที่แผ่ออกจากเตาไฟเป็นรังสี ฟังวิทยุ ดูโทรทัศน์ คลื่นที่ส่งจากสถานีมาที่เครื่องรับเป็นรังสี ออกจากบ้านไปโรงเรียน เล่นกีฬาในสนามกลางแจ้ง ถูกแสงแดด ซึ่งเป็นรังสี เพื่อนหกล้มแขนหัก ต้องไปโรงพยาบาล หมอให้ถ่ายเอกซเรย์ เอกซเรย์เป็นรังสี ใครเป็นมะเร็ง หมอให้การรักษาด้วยการฉายแสง แสงที่หมอใช้เป็นรังสี ใครเป็นกระเนื้อหรือปานดำ ไปหาหมอผิวหนัง เพื่อลบรอยดำออก หมอใช้แสงเลเซอร์จี้บริเวณนั้น แสงเลเซอร์เป็นรังสี เมื่อรู้สึกหิว เอาอาหารไปอุ่น ในเตาไมโครเวฟ ไมโครเวฟก็เป็นรังสี ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกนี้ ดำรงอยู่ท่ามกลางรังสี


ลักษณะของรังสี

                        รังสีแบ่งได้เป็น ๒ ประเภท ประเภทแรก มีลักษณะเป็นคลื่นที่เรียกว่า คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เช่น คลื่นไฟฟ้า คลื่นวิทยุ เรดาร์ ไมโครเวฟ รังสีความร้อน แสงสว่าง รังสีอัลตราไวโอเลต เลเซอร์ รังสีเอกซ์ รังสีแกมมา ประเภทที่ ๒ มีลักษณะเป็นกระแส ของอนุภาค เช่น รังสีแอลฟา รังสีบีตา รังสีคอสมิก รังสีนิวตรอน 


ที่มาของรังสี

            รังสีเหล่านี้มาจากต้นกำเนิดรังสีที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติ ได้แก่ ดวงอาทิตย์ อวกาศนอกโลก ไอโซโทปกัมมันตรังสีบางชนิด ที่มีอยู่ในสิ่งแวดล้อมและในร่างกายของเรา และต้นกำเนิดรังสีที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นมา ได้แก่ ไอโซโทปกัมมันตรังสีบางชนิด เครื่องมือเครื่องใช้ อุปกรณ์ต่างๆ เช่น เครื่องส่งวิทยุ-โทรทัศน์ เครื่องเอกซเรย์ เครื่องเรดาร์ เครื่องเลเซอร์ เครื่องเร่งอนุภาค เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ (เครื่องปฏิกรณ์ปรมาณู)


            รังสีทุกชนิดสามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ในองค์ประกอบของเซลล์ ของร่างกายได้ ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับชนิดของรังสี พลังงานของรังสี และปริมาณรังสีที่ได้รับ โดยทั่วไป รังสีที่ร่างกายได้รับ จากธรรมชาติรอบตัวเราถือว่า น้อย จึงไม่ก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรง แต่สำหรับรังสี ที่แผ่ออกจากต้นกำเนิดรังสีที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นมา โดยเฉพาะรังสีเอกซ์ รังสีแกมมา รังสีแอลฟา รังสีบีตา รังสีนิวตรอน สามารถ ก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงได้ ด้วยเหตุนี้ การใช้รังสีพวกนี้ ควรทำด้วยความระมัดระวัง ต้องมีวิธีการตรวจวัดปริมาณรังสีที่ได้รับ และมีวิธีการป้องกันรังสีที่ดี โดยต้องไม่ให้ผู้ใด ได้รับรังสีเกินระดับที่ถือว่า ปลอดภัย ส่วนรังสีอื่นๆ เช่น คลื่นไฟฟ้า คลื่นวิทยุ-โทรทัศน์ รังสีอัลตราไวโอเลต แสงสว่าง ตลอดจนไมโครเวฟ หากเป็นการใช้งานตามปกติและถูกวิธี ก็จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรง