บายศรีมีลักษณะคล้ายกระทงของภาคกลางที่เด็กๆ นำมาลอยในแม่น้ำลำคลอง ในวันเพ็ญ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ เพื่อขอขมา ต่อพระแม่คงคา กระทงอาจทำด้วยใบตอง ผ้า กาบกล้วย หรือกระดาษ ก็ได้ แต่สำหรับบายศรีส่วนใหญ่จะทำด้วยใบตอง โดยอาจวางบนภาชนะ คือ พานแก้ว พานเงิน พานทอง ใส่อาหารคาว-หวาน แล้วตกแต่งด้วยดอกไม้ นำไปใช้ในพิธีสังเวยบูชา พิธีทำขวัญ ทั้งในพิธีหลวงและพิธีราษฎร์
มีผู้สันนิษฐานว่า บายศรีมาจากคำ ๒ คำรวมกัน คือ "บาย" แปลว่า ข้าว "ศรี" แปลว่า มิ่งขวัญ สิริมงคล "บายศรี" จึงมีความหมายว่า ข้าวขวัญหรือข้าวที่มีสิริมงคล เพราะบายศรีต้องมีข้าวสุกประกอบ รวมทั้งยังมีอาหารคาว-หวานอื่นๆ ด้วย นอกจากนี้ยังมีการตกแต่งอย่างสวยงามด้วยดอกไม้หลากสี
พิธีกรรมที่ต้องใช้บายศรีส่วนใหญ่ต้องอาศัยผู้รู้ ผู้ชำนาญ พราหมณ์ หรือผู้อาวุโสในแต่ละท้องถิ่น เป็นสื่อกลาง หรือผู้ประกอบพิธี ส่วนความเหมาะสมที่จะใช้บายศรีชนิดใดนั้น มีกำหนดไว้ในแบบแผนประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา ตั้งแต่สมัยโบราณ บายศรีจึงไม่ได้เป็นเพียงองค์ประกอบในพิธีกรรมเท่านั้น แต่ยังแสดงถึงภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ที่สร้างสรรค์ออกมา ให้เป็นศิลปะอันงดงาม
บายศรีแบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ บายศรีของหลวง ใช้ในพระราชพิธีเกี่ยวเนื่องกับพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ บายศรีของราษฎร ใช้ในพิธีกรรมต่างๆ ของราษฎร ซึ่งแบ่งเป็น ๒ ชนิด คือ บายศรีปากชาม และบายศรีใหญ่หรือบายศรีต้น บายศรีทั้ง ๒ ประเภทจัดเป็นบายศรีของภาคกลาง
ในแต่ละภาคของประเทศไทย คือ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ มีการทำบายศรีตามแบบของแต่ละภาค และปัจจุบันบางแห่งมีการใช้บายศรีสำเร็จรูปในพิธีกรรมต่างๆ แทนบายศรีใบตอง ช่างทำบายศรีก็ลดน้อยลงไป แต่ยังคงนิยมทำกันในบางท้องถิ่น โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคอีสาน ส่วนภาคใต้ไม่ค่อยนิยมและลดความสำคัญลง แต่ในพิธีของหลวงนั้น ยังคงรักษาและยึดมั่นในแบบแผนประเพณี ดังนั้น บายศรีจึงยังคงเหลือเป็นมรดกให้อนุชนรุ่นหลังได้รู้จัก และมีความภาคภูมิใจในภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทยต่อไป