เล่มที่ 38 สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
โรคพันธุกรรมในเด็ก
เล่นเสียงเล่มที่ 38 สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ โรคพันธุกรรมในเด็ก
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
            ณ จังหวัดกำแพงเพชรมีตำนานเรื่อง "ท้าวแสนปม" เล่าว่า นานมาแล้ว มีชายคนหนึ่งมีร่างกายผิดปกติ มีปุ่มปมขึ้นเต็มไปหมดทั่วทั้งร่างกาย จนผู้คนเรียกว่า นายแสนปม นายแสนปมเป็นคนสวนในวังของเจ้าเมือง ปลูกมะเขืองอกงาม ออกลูกใหญ่น่ารับประทาน วันหนึ่งพระธิดาของเจ้าเมืองเสด็จประพาสสวน และได้เห็นมะเขือลูกงาม จึงอยากเสวย นายแสนปมก็เด็ดลูกมะเขือถวาย

            ต่อมาเกิดปาฏิหาริย์ขึ้น พระธิดาทรงพระครรภ์และคลอดพระโอรส เจ้าเมืองจึงรับสั่งให้ทหารตีฆ้องร้องป่าวไปทั่วเมืองว่า ถ้าพระโอรสของพระธิดาคลานไปรับของจากมือใคร ก็จะยกพระธิดาให้อภิเษกสมรสด้วย แต่พระโอรสไม่ยอมรับข้าวของขนมนมเนย จากชายคนใดเลย ผลสุดท้ายเจ้าเมืองจึงต้องยอมให้ชายอัปลักษณ์อย่างนายแสนปมลองดูบ้าง นายแสนปมถือเพียงก้อนข้าวเย็น มามอบให้ พระโอรสกลับคลานเข้ามารับก้อนข้าวเย็นนั้น นายแสนปมหยิบฆ้องวิเศษที่ได้จากลิงป่าออกมาตี ทันใดนั้น ปุ่มปมตามร่างกายก็หายไปหมด กลายเป็นชายหนุ่มรูปงาม นายแสนปมจึงได้อภิเษกสมรสกับพระธิดาของเจ้าเมือง


            นิทานปรัมปราที่มีเรื่องเกี่ยวกับคนที่มีปุ่มปมขึ้นเต็มไปทั่วร่างกายนั้น มีปรากฏอยู่หลายที่ทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ เนื่องจากคนที่มีลักษณะผิดปกติอย่างเช่นนายแสนปมนี้มีอยู่จริง และโรคท้าวแสนปมเป็นเพียงหนึ่งในโรคพันธุกรรมหลายร้อยโรค ที่พบได้บ่อยในประเทศไทย

            โรคพันธุกรรมในเด็กนั้น มักจะเกิดขึ้นได้อย่างบังเอิญจากความผิดปกติทางพันธุกรรมที่ถ่ายทอดมาจากรุ่นพ่อแม่ หรืออาจมีปัจจัยอื่นๆ จากสิ่งแวดล้อมร่วมด้วย โดยมากจะแสดงอาการออกมาตั้งแต่กำเนิดหรือในวัยเด็ก และไม่สามารถ ที่จะรักษาให้หายขาดได้โดยง่ายเพียงแค่การตีฆ้องวิเศษดังเช่นในตำนาน

            เมื่อใดก็ตามที่เด็กๆ มีโอกาสได้พบเด็กคนอื่นที่ป่วยเป็นโรคพันธุกรรมตั้งแต่กำเนิด เช่น ร่างกายพิการ หน้าตาผิดปกติ หรือมีความบกพร่องทางสติปัญญา เด็กๆ ควรจะให้ความเห็นใจและให้กำลังใจแก่พวกเขา เพราะพวกเขาเป็นคนที่น่าสงสาร ที่มีความพยายามต่อสู้กับความเจ็บป่วย เพื่อดำรงชีวิตต่อไปให้มีความสุขเช่นเดียวกับเรา