ภาษาคือ สิ่งที่มนุษย์เราใช้พูดกัน เพื่อเล่าเรื่องต่างๆ หรือบอกให้ผู้อื่นทราบว่า เราต้องการอะไร หรือเป็นอะไร เช่น บอกว่า เราต้องการฟังนิทาน หรือบอกว่า เรารู้สึกหิว นอกจากนี้เราใช้ภาษาสำหรับฟังและเข้าใจผู้อื่น |
ภาษาทำให้เราเข้าใจนิทานที่คุณแม่เล่าให้ฟัง รู้เรื่องที่คุณครูสอนเราในห้องเรียน ภาษาทำให้เราจดจำสิ่งต่างๆ ได้มากมาย ภาษาทำให้มนุษย์เราแตกต่างจากสัตว์อื่นๆ ไม่มีสัตว์อื่นใดอีกที่สามารถใช้ภาษาพูด เล่าเรื่อง จำ ฟัง และถามได้แบบเดียวกับมนุษย์ |
มนุษย์เราสามารถพูดได้ มนุษย์จึงใช้ภาษาสั่งสอนกันได้ ภาษาทำให้มนุษย์คิดและทำสิ่งต่างๆ ด้วยกันได้ อยู่รวมกันเป็นหมู่เหล่า และสร้างความเจริญให้หมู่คณะหรือสังคมได้ ในสังคมที่เจริญแล้ว หรือสังคมที่อยู่รวมกันเป็นเมือง คนมักมีเรื่องที่ต้องทำและจดจำมากมาย และคนไม่สามารถจำทุกอย่างได้ จึงคิดหาวิธีที่จะช่วยทำให้ตนเองจำเรื่องต่างๆ ได้ และจำได้เป็นเวลานานๆ คนในเมืองจึงคิดสร้างตัวอักษร สำหรับเขียนขึ้น เพื่อไว้จดบันทึกเรื่องราว เพื่อเตือนความจำเรื่องต่างๆ |
มนุษย์เราใช้ภาษาเขียน และตัวอักษร จดบันทึกสะสมเรื่องและความคิดต่างๆ ไว้มากมาย คนในปัจจุบันสามารถอ่านและเรียนรู้ถึงความคิดของคนสมัยก่อนได้ สามารถคิดและทำสิ่งต่างๆ ต่อจากที่คนอื่นคิดเริ่มต้นไว้แล้วได้ การที่มนุษย์เรามีความรู้มาก จนต้องมีโรงเรียน และมหาวิทยาลัยไว้ สำหรับเรียนและสอนความรู้ทางวิชาการ ก็เพราะมีภาษาเขียนบันทึกความรู้ไว้ การที่นักวิทยาศาสตร์สามารถประดิษฐ์สิ่งต่างๆ ขึ้นมาใช้ได้ เช่น เครื่องบิน เครื่องคอมพิวเตอร์ หรือทำให้มนุษย์เดินทางไปในอวกาศได้ ก็เพราะนักวิทยาศาสตร์ได้อ่านได้เรียนรู้ถึงความคิด และผลของการศึกษาหาความรู้ของคนรุ่นก่อนๆ จากที่ภาษาเขียนบันทึกไว้ มนุษย์ในทุกสังคมมีภาษาพูดเป็นของตัวเองทั้งสิ้น นักภาษาประมาณว่า ในโลกเรามีภาษาที่ใช้พูดกันอยู่ทั้งหมดราวๆ ๓,๐๐๐ ภาษา แต่มีไม่ถึง ๑๐๐ ภาษาที่มีภาษาเขียนเป็นของตนเอง และภาษาไทยก็เป็นหนึ่งในไม่ถึง ๑๐๐ ภาษานี้ด้วย |
พ่อขุนรามคำแหง กษัตริย์องค์ที่ ๓ ของอาณาจักรสุโขทัย เป็นผู้ประดิษฐ์อักษรไทยขึ้น เมื่อปี พ.ศ. ๑๘๒๖ หลังจากที่คนไทยรวมตัวกันเป็นบ้านเมือง และมีพระเจ้าแผ่นดินของตนเองแล้ว ในสมัยนั้นชาวเขมร ชาวพม่า และชาวมอญ ที่อยู่ใกล้เคียงกับคนไทย มีการ ปกครองตนเอง และมีอักษรเป็นของตัวเองใช้แล้ว และเพื่อนบ้านเหล่านี้ ล้วนมีจารึกเกี่ยวกับบ้านเมืองของตนเอง เขียนด้วยภาษาของตนเองทั้งสิ้น ดังนั้นเมื่อคนไทยมีบ้านเมือง และมีการปกครองเป็นของตนเอง ก็จำเป็นที่จะต้องมีภาษาเขียนของตัวเองด้วย เพื่อให้มีฐานะเท่าเทียมกับเพื่อนบ้าน พ่อขุนรามคำแหงจึงได้ประดิษฐ์อักษรไทยขึ้น ไว้ให้ชาวไทยใช้เขียนบันทึกเรื่องราวต่างๆ อักษรไทย หรือ ลายสือไทย ที่พ่อขุนรามคำแหงทรงประดิษฐ์ขึ้น มีพยัญชนะ สระ และเครื่องหมายวรรณยุกต์ ซึ่งแตกต่างไปจากตัวอักษรของเพื่อนบ้านของเรา ตรงที่ภาษาไทยมีเครื่องหมายวรรณยุกต์ใช้ เพราะเป็นภาษาที่มีเสียงวรรณยุกต์ แต่ตัวอักษรของเพื่อนบ้านใกล้เคียงของเรา ไม่มีเครื่องหมายเหล่านี้ นับจนถึงปัจจุบันภาษาเขียน และตัวอักษรของไทยเรา มีอายุกว่า ๗๐๐ ปีแล้ว ถ้าเราเปรียบเทียบลักษณะการเขียนตัวอักษรของภาษาไทย สมัยสุโขทัยกับสมัยปัจจุบัน จะเห็นว่า ต่างกันมาก เพราะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ทั้งวิธีการเขียน และลักษณะตัวอักษร ในสมัยสุโขทัย การเขียน หรือ "การจารึก" ที่เหลืออยู่ให้เราเห็นได้นั้น ทำลงบนแผ่นหิน ลักษณะตัวอักษรจึงเป็นคนละแบบกับปัจจุบัน ต่อมาในสมัยอยุธยามีการเรียนการสอนภาษาไทย และปรากฏว่า มีกระดาษใช้แล้ว มีตำราสอนภาษาไทยชื่อ จินดามณี จึงมี "การเขียน" ด้วยมือลงบนกระดาษที่ทำด้วยมือ จึงทำให้ตัวอักษรต่างไปจากที่จารึกบนแผ่นศิลา เพราะเขียนด้วยดินสอ หรือปากกา ต่อมาก็ใช้ตัวพิมพ์ พิมพ์ด้วยเครื่อง ตัวหนังสือในสมัยปัจจุบันนี้มีลักษณะใกล้เคียงกับตัวเขียนสมัยอยุธยา แต่ก็ไม่เหมือนเสียทีเดียว |
ภาษาพูดในปัจจุบัน ก็แตกต่างจากภาษาพูดในสมัยสุโขทัย เสียง "ฃ" และ "ฅ" ที่เคยมีใช้ในสมัยสุโขทัยในปัจจุบันนี้ไม่มีแล้ว เราจึงเลิกใช้ตัวเขียน ๒ ตัวนี้ แต่ตัวเขียนอื่นๆ ทั้งพยัญชนะ สระ และเครื่องหมายวรรณยุกต์ยังใช้เขียนบันทึกเรื่องราวต่างๆ ได้ดี แม้ตัวอักษรจะมีลักษณะเปลี่ยนไปมากตามกาลเวลา และตามเครื่องมือที่ใช้เขียนในแต่ละยุคก็ตาม |
ตัวอักษรไทย ซึ่งเราใช้เขียนในปัจจุบัน นับเป็นมรดกสังคม ที่เรารับทอดมาจากสังคมไทย สมัยสุโขทัย พ่อขุนรามคำแหง ได้ทรงประดิษฐ์อักษรไทยไว้ให้คนไทยได้มีอักษรไว้ใช้เป็นของตัวเอง และคนไทยก็ได้ใช้สืบทอดกันมาเป็นเวลากว่า ๗๐๐ ปีแล้ว อักษรไทยนับเป็นมรดกสังคม ที่มีความสำคัญ และมีคุณค่าอย่างยิ่ง สำหรับคนไทย คนไทย และสังคมไทยในยุคปัจจุบัน แตกต่างไปจากคนไทย และสังคมไทยในยุคสุโขทัยมาก และสิ่งที่สามารถชี้บอกได้ว่า เรายังคงความเป็นคนไทยอยู่ ก็คือ การใช้ภาษาไทย ทั้งภาษาพูด และภาษาเขียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวอักษรที่ใช้เขียน |