เล่มที่ 40 สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
นกเงือกไทย
เล่นเสียงเล่มที่ 40 สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ นกเงือกไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :


            นกเงือกในโลกมี ๕๔ ชนิด พบเฉพาะในทวีปแอฟริกาและเอเชีย ในประเทศไทยมี ๑๓ ชนิด คือ นกกก ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุด นกเงือกหัวแรด นกชนหิน นกเงือกหัวหงอก นกเงือกคอแดง นกเงือกปากย่น นกเงือกกรามช้าง นกเงือกกรามช้างปากเรียบ นกเงือกดำ นกเงือกปากดำ นกเงือกสีน้ำตาลคอขาว นกเงือกสีน้ำตาล และนกแก๊ก ซึ่งมีขนาดเล็กที่สุด ลักษณะเด่นของนกเงือก คือ มีโหนกที่มีขนาดใหญ่โค้งอยู่เหนือปาก มีขนตายาว ไม่มีขนคลุมใต้ปีก เมื่อกระพือปีกจึงทำให้เกิดเสียงดัง เพศเมียทำรัง เลี้ยงลูกอยู่ในโพรงไม้ ปิดปากโพรง เหลือเพียงช่องแคบๆ ให้เพศผู้ส่งอาหารผ่านเข้ามาได้เท่านั้น


            ฤดูทำรังเริ่มเดือนมกราคม-พฤษภาคม นกเงือกเพศเมียออกไข่ กกไข่ ฟักไข่ เลี้ยงลูกอยู่ในโพรงไม้ที่ไม่สามารถเจาะเองได้ เป็นเวลา ๓-๔ เดือน โดยเพศผู้ต้องหาอาหารเลี้ยงครอบครัว ดังนั้น เพศเมียและลูกนกจึงมีชีวิตขึ้นอยู่กับเพศผู้ นกเงือกกินผลไม้ เป็นอาหารหลัก และยังกินสัตว์เป็นอาหารด้วย เมื่อลูกนกโต พอที่จะออกจากโพรงรังได้ แม่นกจะกะเทาะปากโพรงออก และบินออกสู่โลกภายนอก ซึ่งเป็นช่วงเข้าสู่ฤดูรวมฝูง เริ่มในเดือนกรกฎาคม-ตุลาคม การรวมฝูงเป็นการช่วยกันหาแหล่งอาหาร การเฝ้าระวังศัตรู และการจับคู่ ฝูงนกเงือกมีทั้งขนาดใหญ่และเล็ก นกเงือกกรามช้างรวมฝูงหลายร้อยตัว ส่วนนกเงือกสีน้ำตาลคอขาวรวมฝูงไม่เกิน ๘๐ ตัว ศัตรูของนกเงือกคือ หมาไม้ และหมีขอ

            นกเงือกเป็นนักปลูกป่า เพราะสามารถกินผลไม้ได้หลายชนิดและหลายขนาด โดยเลือกเก็บเฉพาะผลสุกที่มีเมล็ดสมบูรณ์ และกักตุนไปได้คราวละหลายผล ขณะกำลังบินหรือเกาะพักตามต้นไม้จะขย้อนเมล็ดที่สมบูรณ์ออกทิ้ง นอกจากนี้ นกเงือกยังบินเป็นระยะทางไกล ทำให้เกิดการแพร่กระจายของเมล็ดพันธุ์ไม้ ซึ่งถือว่านกเงือกเป็นผู้เพาะกล้าไม้ และเป็นผู้ปลูกป่าให้ด้วย

            ปัจจุบันนอกจากมนุษย์จะเป็นสาเหตุหลักของการทำลายนกเงือกแล้ว นกเงือกยังขาดแคลนโพรงรัง เนื่องจาก นกเงือกไม่สามารถเจาะโพรงรังได้เอง และต้นไม้ที่เป็นต้นโพรงถูกพายุพัดต้นหัก ซึ่งเป็นการสูญเสียแบบถาวร หรือพื้นโพรงทรุดต้องแก้ปัญหาโดยการถมดิน หากปากโพรงปิดหรือแคบลงเพราะเนื้อไม้ส่วนเปลือกยังเจริญเติบโต จะต้องถากเปิดออก เมื่อโพรงรังสภาพดี มีอยู่น้อย ทำให้เกิดการแก่งแย่งโพรง นักวิจัยจึงต้องซ่อมแซมโพรงรัง และปรับปรุงโพรงไม้ธรรมชาติให้เหมาะสมที่จะเป็นโพรงรัง เพื่อเพิ่มโพรงรัง เป็นการเพิ่มโอกาสให้นกเงือกขยายพันธุ์ และเป็นการอนุรักษ์นกเงือกให้คงอยู่ต่อไป