เล่มที่ 40 สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
การใช้เลเซอร์ในทางการแพทย์
เล่นเสียงเล่มที่ 40 สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ การใช้เลเซอร์ในทางการแพทย์
สามารถแชร์ได้ผ่าน :


            คนเราแทบทุกคนเคยเจ็บป่วยเป็นโรคต่างๆ คนจำนวนมาก เมื่อไม่สบายก็ไปพบแพทย์ หรือผู้ที่มีหน้าที่บำบัดรักษา แพทย์จะซักถามอาการ และตรวจร่างกายด้วยวิธีต่างๆ เช่น ถ้าเป็นไข้ ก็ให้วัดอุณหภูมิของร่างกายด้วยเทอร์โมมิเตอร์วัดไข้ วัดความดันโลหิต ให้อ้าปาก เพื่อดูว่า คออักเสบหรือไม่ หรือถ้าไอมากๆ ก็ต้องเอกซเรย์ปอด ตรวจการเห็น การได้ยิน ส่วนมากแล้วจะตรวจหลายอย่างประกอบกัน จากนั้นก็พิจารณาให้การบำบัดรักษา

 


            วิธีรักษาก็มีหลายแบบ เช่น ให้ยา อาจเป็นยารับประทาน ยาทา ยาพ่น ยาฉีด ให้ทำกายภาพบำบัด เช่น การประคบความร้อนบริเวณที่ปวด บางโรคอาจต้องผ่าตัด เช่น ไส้ติ่งอักเสบ เนื้องอก อาจให้ใส่แว่นตา เมื่อสายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง

            ในการผ่าตัดนั้น แต่ก่อนใช้มีดผ่าตัด ปัจจุบันมีการใช้เลเซอร์ในการผ่าตัดบางชนิด เพราะทำให้เสียเลือดน้อย ลดการเจ็บปวด และอาการบวมอักเสบหลังผ่าตัด แผลจากการใช้เลเซอร์เล็กกว่าการผ่าตัดด้วยมีด การผ่าตัดอวัยวะภายในบางอย่าง เช่น ไส้ติ่ง นิ่วในถุงน้ำดี ถ้าใช้มีดผ่าตัด จะต้องผ่าหน้าท้อง แต่ถ้าใช้เลเซอร์จะส่งแสงเลเซอร์ไปตามเส้นใยแก้วนำแสง ที่ติดกับกล้อง ส่องภายใน เข้าไปรักษาได้ โดยไม่ต้องผ่าหน้าท้อง 


            นอกจากนี้ ผู้ที่สายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง ถ้าไม่ชอบใส่แว่นหรือเลนส์สัมผัส อาจแก้สายตาผิดปกติได้ด้วยเลเซอร์ "เลเซอร์" เป็นคำทับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า LASER เป็นการทำให้เกิดแสงเลเซอร์โดยใช้เครื่องกำเนิดแสงเลเซอร์ ส่วนประกอบสำคัญของเครื่องดังกล่าวคือ ตัวกลางเลเซอร์ ซึ่งมีหลายชนิด แพทย์จะเลือกใช้ให้เหมาะสมกับการบำบัดรักษา เช่น ใช้เลเซอร์คาร์บอนไดออกไซด์สลายเซลล์มะเร็ง ใช้เลเซอร์ทับทิมในการลบปานแดง