ในวัยเด็ก เวลาเหลือเงินค่าขนม คุณพ่อคุณแม่ก็มักจะสอนให้เราออมเงิน โดยการเอาเศษสตางค์เหล่านั้นหยอดลงในกระปุก เมื่อเราต้องการซื้อของเล่น หรือต้องการรู้ว่าสะสมเงินไปได้เท่าไรแล้ว เราก็สามารถทุบกระปุกเอาเงินออกมานับได้
เมื่อโตขึ้น เราจะรู้ว่า คนทั่วๆ ไปมักไม่นำเงินที่ได้จากการทำงานมาเก็บไว้ที่บ้านทั้งหมด เพราะไม่ปลอดภัย แต่จะนำเงินไปฝากไว้ที่ธนาคาร เมื่อต้องการใช้เงิน ก็จะไปที่ธนาคารเพื่อถอนเงินออกมา หรือถ้าจะชำระค่าน้ำค่าไฟ ก็สามารถชำระที่ธนาคารได้เช่นกัน
ธนาคารเริ่มใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ เมื่อมีการจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีลูกค้าไว้ในคอมพิวเตอร์ แทนที่จะเก็บข้อมูลไว้แค่ในกระดาษ ธนาคารที่ต้องการบริการลูกค้าให้ได้รับความสะดวกยิ่งขึ้น ก็เริ่มติดตั้งเครื่องที่สามารถเชื่อมโยงกับคอมพิวเตอร์ของธนาคาร เพื่อให้คนถอนเงินเองได้ หรือสอบถามยอดเงินในบัญชีได้ เรียกกันว่า ตู้เอทีเอ็ม ปัจจุบันตู้เอทีเอ็มติดตั้งอยู่ตามที่ต่างๆ มากมายทั่วทั้งประเทศ ทำให้คนไม่ต้องเดินทางมาถึงสาขาของธนาคารที่ตนเองฝากเงินไว้ เพียงแต่มาที่ตู้เอทีเอ็มก็สามารถใช้บริการของธนาคารได้แล้ว
สื่ออิเล็กทรอนิกส์เริ่มมีบทบาทมากขึ้น ธนาคารจึงขยายบริการให้ลูกค้าโทรศัพท์สอบถามยอดเงินในบัญชี โอนเงินระหว่างบัญชี หรือจ่ายเงินด้วยตนเองได้ เพื่อให้บริการที่ดีและมีคุณภาพ ธนาคารก็ต้องจัดหาคนมารับโทรศัพท์ และติดตั้งระบบตอบคำถามทางโทรศัพท์อัตโนมัติ เพื่อให้บริการลูกค้าได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
ต่อมา เมื่อคอมพิวเตอร์เริ่มแพร่หลายเพราะราคาถูกลง และการสื่อสารระหว่างคอมพิวเตอร์หลายๆ เครื่องที่อยู่ต่างสถานที่กัน สามารถทำได้ โดยผ่านเครือข่ายที่เรียกกันว่า อินเทอร์เน็ต ธนาคารก็เริ่มให้บริการธนาคารผ่านอินเทอร์เน็ตด้วย โดยลูกค้าสามารถสอบถามยอดเงิน โอนเงิน ชำระค่าน้ำค่าไฟ ผ่านคอมพิวเตอร์ที่ตั้งอยู่ในบ้าน ที่ทำงาน หรือที่อื่นๆ ได้ ดังนั้น เราจึงสามารถใช้บริการของธนาคารได้โดยไม่ต้องออกจากบ้าน และไม่ต้องมีปัญหาเรื่องการติดต่อกับธนาคารทางโทรศัพท์ แล้วสายไม่ว่าง
เนื่องจากจำนวนลูกค้าของธนาคารนับวันจะเพิ่มขึ้น จากหลายแสนคนเป็นหลายล้านคน การจะให้พนักงานธนาคารให้บริการลูกค้า ที่มีเป็นล้านๆ คน ได้อย่างรวดเร็วทันใจนั้น ย่อมทำได้ยาก ดังนั้น การพัฒนาบริการธนาคารผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ดังที่กล่าวมา จึงเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อให้ลูกค้าของธนาคารได้รับความสะดวกสบายทุกสถานที่ และทุกเวลา