เล่มที่ 34 สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
พายุและฝนในประเทศไทย
เล่นเสียงเล่มที่ 34 สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ พายุและฝนในประเทศไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

            พายุและฝนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ และเกิดขึ้นบ่อยครั้งในประเทศไทย เมื่อเกิดขึ้นครั้งใดก็มักทำความเสียหาย ให้แก่บ้านเรือน ทรัพย์สิน ตลอดจนชีวิตของผู้คน เราจึงควรมีความรู้เกี่ยวกับสาเหตุของการเกิดพายุและฝน และรู้จักวิธีป้องกันอันตราย ที่อาจเกิดจากภัยธรรมชาติดังกล่าว                                          

            เรื่องราวที่ควรทราบเกี่ยวกับพายุและฝนในประเทศไทย อาจแบ่งออกได้เป็น ๓ หัวข้อใหญ่ๆ คือ พายุฝนฟ้าคะนอง พายุฤดูร้อน และพายุหมุนเขตร้อน


            พายุฝนฟ้าคะนอง หมายถึง การที่มีพายุซึ่งทำให้เกิดฝนตกหนัก และมักมีฟ้าแลบ ฟ้าร้อง และฟ้าผ่ารวมอยู่ด้วย สาเหตุที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง เนื่องจากพื้นดินได้รับความร้อนจากแสงอาทิตย์มากในตอนกลางวัน อากาศเหนือพื้นดินจึงลอยตัวสูงขึ้นไป ทำให้ไอน้ำในอากาศกลั่นตัวเป็นหยดน้ำ กลายเป็นเมฆลอยอยู่ในท้องฟ้า หากการลอยตัวของอากาศมีความสูงมาก เมฆที่เกิดขึ้นก็จะมีขนาดใหญ่ และมีความสูงมากเช่นกัน เมฆชนิดนี้ ทำให้เกิดฝนตกหนัก อาจเพียงชั่วระยะเวลาสั้นๆ หรือยาวนานหลายชั่วโมงก็ได้

            ในกรณีที่มีฝนตก มักเกิดพายุ ฟ้าแลบ ฟ้าร้อง และฟ้าผ่าติดตามมา การเกิดฟ้าแลบ ฟ้าร้อง และฟ้าผ่า เป็นการเคลื่อนที่ของกระแสไฟฟ้าภายในเมฆ โดยกระแสไฟฟ้าอาจเคลื่อนที่จากเมฆก้อนหนึ่งไปยังเมฆอีกก้อนหนึ่ง หรืออาจเคลื่อนที่จากเมฆลงสู่พื้นดินก็ได้ การเคลื่อนที่ของกระแสไฟฟ้าเช่นนี้ หากทำให้เกิดเป็นแสงสว่างแวบขึ้นในท้องฟ้า เรียกว่า ฟ้าแลบ หากเกิดเสียงดังครืนๆ เรียกว่า ฟ้าร้อง และหากเป็นการเคลื่อนที่ของกระแสไฟฟ้าลงสู่พื้นดิน เรียกว่า ฟ้าผ่า ตามปกติเรามักได้เห็นฟ้าแลบก่อน แล้วจึงได้ยินเสียงฟ้าร้องติดตามมา ทั้งนี้ เนื่องจากแสงเคลื่อนที่ได้เร็วกว่าเสียง


            ส่วน พายุฤดูร้อน เป็นพายุฝนฟ้าคะนองที่มักเกิดขึ้นในตอนต้นและตอนปลายฤดูร้อน เมื่ออากาศที่มีความเย็นจากทิศเหนือ พัดมาพบกับอากาศร้อนทางทิศใต้ การปะทะกันของอากาศที่มีอุณหภูมิแตกต่างกันเช่นนี้ก่อให้เกิดพายุ ซึ่งบางครั้งมีฝนตกหนักติดตามมาด้วย แต่บางทีก็มีลมแรงเพียงอย่างเดียวที่เรียกว่า ลมกระโชก

            พายุหมุนเขตร้อน หมายถึง พายุที่หมุนเป็นวงรอบตัวเองด้วยความเร็วมากน้อยแตกต่างกัน และเกิดขึ้นในเขตร้อน ส่วนใหญ่เกิดขึ้นเหนือทะเล และมหาสมุทร ซึ่งอากาศมีความชื้นมากและมีอุณหภูมิค่อนข้างสูง



            พายุหมุนเขตร้อนมีชื่อเรียกต่างๆ กัน สุดแล้วแต่ว่า มีความเร็วในการหมุนรอบจุดศูนย์กลางมากน้อยเท่าใด หากมีความเร็วไม่มาก เรียกว่า พายุดีเปรสชัน หากมีความเร็วมากขึ้นเรียกว่า พายุเขตร้อน และหากมีความเร็วสูงสุดก็เรียกว่า พายุไซโคลน พายุไต้ฝุ่น และพายุเฮอร์ริเคน คำว่า “พายุไซโคลน” ใช้เรียกพายุหมุนที่มีกำลังแรงมาก ในบริเวณมหาสมุทรอินเดีย ส่วน “พายุไต้ฝุ่น” หมายถึง พายุหมุนที่มีกำลังแรงมาก ในบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก และ "พายุเฮอร์ริเคน" หมายถึง พายุหมุนที่มีกำลังแรงมากในบริเวณมหาสมุทรแอตแลนติก

            เนื่องจากประเทศไทยตั้งอยู่ใกล้มหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก ดังนั้น เราจึงได้รับอันตรายจากพายุไซโคลน และพายุไต้ฝุ่นบ่อยๆ เมื่อใดที่มีพายุไซโคลนและพายุไต้ฝุ่นเคลื่อนที่ผ่านเข้ามาในประเทศ ก็จะทำให้มีพายุรุนแรง และมีฝนตกหนัก จนทำให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิต และทรัพย์สินได้มาก ถึงแม้พายุหมุนเขตร้อนที่เกิดขึ้นจะไม่รุนแรง ขนาดเป็นพายุไซโคลนหรือพายุไต้ฝุ่น แต่ถ้ามีพายุดีเปรสชัน หรือพายุเขตร้อน เคลื่อนที่ผ่านเข้ามาในประเทศไทย ก็อาจทำความเสียหายได้เช่นกัน

            สิ่งที่ต้องระวังเมื่อเกิดพายุและฝน คือ ต้องไม่อยู่กลางแจ้ง หรือใต้ต้นไม้ใหญ่กลางแจ้ง เพราะอาจเกิดฟ้าผ่าลงมาที่ตัวเราได้ หากกำลังขับรถอยู่ควรขับด้วยความระมัดระวัง เพราะถนนอาจลื่น และสะพานอาจชำรุดจากการพัดพาของกระแสน้ำ ในกรณีของบ้านเรือนราษฎร หากตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัย เช่น ตามลาดเขาชัน หรือในบริเวณที่ราบลุ่ม ควรระมัดระวังการเกิดน้ำป่าไหลหลาก ดินถล่ม และน้ำท่วมอย่างฉับพลัน สิ่งที่สำคัญควรฟังข่าวจากวิทยุกระจายเสียง และวิทยุโทรทัศน์ ที่อาจมีการแจ้งเตือนภัยของกรมอุตุนิยมวิทยาว่า จะมีพายุ หรือฝนตกหนักในบริเวณใดของประเทศ เพื่อจะได้เตรียมตัวป้องกันภัยได้ทัน