เราเห็นอะไร เมื่อมองดูตนเองในกระจกเงา
เรามองเห็นรูปร่าง หน้าตา และส่วนต่างๆ ของร่างกายของเรา
บางครั้งเรายิ้มแย้มแจ่มใส หน้าตาเบิกบาน
บางครั้งหน้าของเราบึ้งตึง ท่าทางอึดอัด ฮึดฮัด
บางเวลาเรามีความรู้สึกนึกคิดแตกต่างกันไป
เราเรียกการรับรู้อารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดนี้ว่า "จิตใจ"
คนเราประกอบด้วยร่างกาย และจิตใจ
คนที่มีความสมบูรณ์ ต้องมีสุขภาพดีทั้งทางร่างกาย และจิตใจ
วิชาที่ว่าด้วย สุขภาพของจิตใจเรียกว่า "จิตเวชศาสตร์"
เด็กแรกเกิดเป็นทารกที่อ่อนแอ ช่วยตัวเองไม่ได้
ถ้าผู้ใหญ่เลี้ยงดูด้วยความรัก และเอาใจใส่อย่างแท้จริง เด็กจะเติบโตขึ้นอย่างมีจิตใจดี เชื่อถือไว้วางใจผู้อื่น และอารมณ์ดี
พอพ้นขวบปีแรกจนถึงอายุ ๓ ปี เราเรียกเด็กวัยนี้ว่าเป็น เด็กเล็ก เด็กควบคุมตนเองได้บ้าง เด็กมีความอยากรู้ อยากเห็น มีความสนใจคน และสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวมากขึ้น
เด็กเรียนรู้มากขึ้น เมื่ออายุ ๓-๕ ปี มีความคล่องตัว ชอบเพ้อฝัน
ถ้าผู้ใหญ่เลี้ยงดูอย่างบังคับเข้มงวดเกินไป เด็กจะขาดความมั่นใจในตนเอง และวิตกกังวล ถ้าผู้ใหญ่ตามใจมากเกินไป เด็กก็จะไม่รู้จักบังคับตนเอง
เมื่อเด็กอายุ ๖-๑๒ ปี ได้เรียนกับเพื่อน จึงรักหมู่คณะ ชอบออกกำลัง กาย รู้จักแพ้ รู้จักชนะ ชอบเล่นกับเพื่อนเพศเดียวกัน ผู้ใหญ่จึงต้องสนับสนุนให้ทำอะไรได้สำเร็จ เพื่อให้เติบโตเป็นคนไม่มีปมด้อย
เด็กเติบโตเริ่มเข้าวัยรุ่น เมื่ออายุ ๑๓-๑๗ ปี ร่างกาย และจิตใจมีความ เปลี่ยนแปลงรวดเร็วทั้งชายหญิง เริ่มมีความสนใจเพศตรงกันข้าม ชอบคิด ฝัน อารมณ์รุนแรง
ตลอดเวลาที่เด็กเติบโตขึ้นจนเป็นผู้ใหญ่ ถ้าได้รับการอบรมเลี้ยงดูด้วยความรัก ความเอาใจใส่ และความเข้าใจ เด็กจะฝึกหัดปรับตัวให้สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมได้ดี สามารถควบคุมจิตใจให้รู้จักอดทน อภัย พอใจ และกล้าเผชิญปัญหาของชีวิต
บางคนโชคร้าย ร่างกายเติบโตเป็นผู้ใหญ่ แต่จิตใจเป็นเด็ก บางคนปรับตัวไม่ได้ จิตใจพิการ ท่าทางแปลกประหลาด วิตกหวาดกลัว บางคนก้าวร้าว บางคนเหงาซึม ซึ่งอาจเป็นโรคประสาท คนที่มีความบกพร่องทางจิตใจ และทางอารมณ์ อาจจะมีความผิดปกติทางร่างกายด้วย
ผู้มีสุขภาพดี จึงต้องมีจิตใจสดใสในร่างกายที่แข็งแรง