
ก่อนที่เราจะมีหนังสือและสมุดสำหรับใช้อ่านและเขียนเช่นในปัจจุบัน คนไทยมีหนังสือโบราณ ๒ ประเภท คือ หนังสือใบลาน และหนังสือสมุดไทย

หนังสือใบลาน เป็นหนังสือที่บันทึกตัวหนังสือลงในใบของต้นลาน ซึ่งเป็นต้นไม้ป่า มีใบยาวขนาด ๕๐ - ๗๕ เซนติเมตร เมื่อเตรียมใบลานตามกรรมวิธีพร้อมแล้ว ก็เขียนข้อความโดยใช้เหล็กปลายแหลมเขียนให้เป็นรอยลึก ลงในใบลาน หน้าหนึ่งๆ ประมาณ ๕ บรรทัด เมื่อเขียนเสร็จแล้ว จะใช้ลูกประคบชุบเขม่าไฟลูบไล้ไปทั่ว เพื่อให้สีดำ ฝังลงไปบนร่องตัวอักษร จากนั้น เจาะรูร้อยหูมัดรวมกันเป็นผูก แล้วห่อด้วยผ้าที่มีคุณภาพดี เช่น ผ้าไหม ผ้าปูม ผ้าตาด เพื่อป้องกันไม่ให้สกปรก หรือชำรุดได้ง่าย นอกห่อผ้าจะมีฉลากบอกชื่อเรื่องเสียบไว้ เนื้อหาส่วนใหญ่ของหนังสือใบลาน เป็นเรื่องทางศาสนา เช่น พระธรรมคำสอน ของพระพุทธเจ้า ทำให้มีความสำคัญต้องเก็บรักษาไว้อย่างดี ในที่อันควร และดูแลรักษาเป็นพิเศษ

หนังสือสมุดไทย เป็นหนังสือที่บันทึกข้อความลงในกระดาษ เขียนด้วยดินสอหินสีขาว หรือใช้ปากกา หรือพู่กันชุบหมึกสีต่างๆ แล้วเขียน หนังสือสมุดไทยใช้กระดาษแผ่นเดียวยาวติดต่อกัน พับกลับไปกลับมาเป็นเล่มหนาหรือบางตามความต้องการ ของผู้เขียน หน้าหนึ่งเขียนได้ประมาณ ๓ - ๔ บรรทัด มี ๒ สี คือ สีดำ เรียกว่า หนังสือสมุดไทยดำ สีขาว เรียกว่า หนังสือสมุดไทยขาว สมุดดังกล่าวนี้ส่วนมากทำจากเปลือกข่อย จึงเรียกอีกอย่างว่า สมุดข่อย ส่วนภาคเหนือ นิยมทำจากเปลือกต้นสา จึงเรียกว่า สมุดกระดาษสา

หนังสือโบราณ ทั้ง ๒ ประเภทนี้ แสดงให้เห็นว่า คนไทยโบราณมีความรู้ความสามารถในการจัดทำหนังสือบันทึกเรื่องราวต่างๆ ในอดีตไว้ ไม่ให้สูญหาย นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อว่า การสร้างหนังสือธรรมะ ตำราความรู้ และวรรณคดี แล้วนำไปถวายวัด จะได้รับผลานิสงส์ ทำให้ได้รับความสุข ความเจริญ และสมปรารถนาในสิ่งที่ตั้งจิตอธิษฐานไว้ จึงมีการสร้างหนังสือใบลาน และหนังสือสมุดไทยจำนวนมาก จนเมื่อมีการนำสมุดฝรั่งอย่างที่ใช้กันในปัจจุบัน เข้ามาพร้อมกับการพิมพ์ การทำหนังสือใบลาน และหนังสือสมุดไทย จึงหมดความนิยมลง ปัจจุบันจะศึกษาหรือดูหนังสือโบราณเหล่านี้ ได้ที่หอสมุดแห่งชาติ และตามวัดบางแห่ง