เล่มที่ 32 สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
เส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศ
เล่นเสียงเล่มที่ 32 สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศ
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

'

            เด็กๆ เคยสังเกตหรือไม่ว่า บนที่ดินซึ่งแสดงกรรมสิทธิ์ของแต่ละบ้านนั้น มีหมุดหลักเขตที่ดิน ซึ่งทำด้วยซีเมนต์ หล่อเป็นแท่งกลมเล็กๆ ปักโผล่เหนือพื้นดินขึ้นมาเล็กน้อย เป็นเครื่องหมายบอกให้รู้ว่า อาณาเขตที่ดินของแต่ละบ้านไปสิ้นสุดลง ณ ที่ใด นอกจากหมุดหลักเขตที่ดินแล้ว ยังมีเอกสารที่เรียกว่า โฉนดที่ดิน ซึ่งออกให้โดยทางราชการ แสดงที่ตั้งและแผนผัง ของที่ดิน รวมทั้งชื่อผู้เป็นเจ้าของที่ดินผืนนั้นๆ ด้วย



            ประเทศก็เช่นเดียวกับบ้าน ย่อมต้องมีหลักฐานบอกว่า อาณาเขตของแต่ละประเทศไปสิ้นสุดลง ณ ที่ใด และแบ่งเขตแดนกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างไร หลักฐานที่ว่านี้รวมถึง เอกสารสัญญาระหว่างประเทศ แผนที่แสดงอาณาเขต และหลักเขตแดนที่ปักไว้บนพื้นดินตามจุดต่างๆ

            ในกรณีที่เป็นอาณาเขตบนพื้นดิน ส่วนมากการแบ่งดินแดนกันอาศัยลักษณะภูมิประเทศที่เห็นได้เด่นชัดเป็นแนวแบ่ง เช่น ทิวเขา แม่น้ำ ทะเลสาบ นอกจากจะเห็นได้ชัดเจนแล้ว ลักษณะภูมิประเทศเช่นนี้ ในสมัยก่อน ยังเป็นอุปสรรคต่อการเดินทางไปมาของผู้คนด้วย โดยต้องเดินทางข้ามภูเขา หรือข้ามแม่น้ำ ซึ่งไม่สะดวกเหมือนกับการเดินทางบนพื้นดินราบ เส้นแบ่งเขตแดนที่อาศัยลักษณะภูมิประเทศเป็นแนวแบ่งนี้เรียกว่า เส้นแบ่งเขตแดนตามธรรมชาติ ส่วนเส้นแบ่งเขตแดนที่ไม่ได้อาศัยลักษณะภูมิประเทศเป็นแนวแบ่ง เรียกว่า เส้นแบ่งเขตแดนที่สร้างขึ้น โดยอาจสร้างเป็นรั้วกั้น หรือปักหลักเขตแดนไว้บนพื้นดินเป็นแนวเส้นตรงห่างจากกันเป็นระยะๆ


            ประเทศไทยมีเส้นแบ่งเขตแดนกับประเทศเพื่อนบ้านรวม ๔ ประเทศ คือ พม่า ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย เส้นแบ่งเขตแดนส่วนใหญ่เป็นเส้นแบ่งเขตแดนตามธรรมชาติ คือ ใช้ทิวเขาและแม่น้ำเป็นแนวแบ่ง มีเพียงบางตอน ที่เป็นเส้นแบ่งเขตแดนแบบเป็นเส้นตรงเชื่อมระหว่างจุดต่างๆ

            นอกจากจะมีดินแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านทางบกแล้ว ประเทศไทยยังมีอาณาเขตติดต่อกับฝั่งทะเล ทั้งทางด้านอ่าวไทย และทางด้านทะเลอันดามัน มีจังหวัดที่อยู่ติดต่อกับฝั่งทะเล รวมทั้งหมด ๒๓ จังหวัด ส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออก และภาคใต้ ในสมัยก่อน ดินแดนของประเทศต่างๆ ที่มีฝั่งทะเลถือว่า สิ้นสุดลงที่ชายฝั่งยกเว้นมีเกาะตั้งอยู่ใกล้ชายฝั่ง ก็ให้ถือเป็นดินแดน ของประเทศนั้นๆ ด้วย ส่วนน่านน้ำในทะเลทั้งหมดถือเป็นของส่วนรวม ไม่เป็นของประเทศหนึ่งประเทศใดโดยเฉพาะ ต่อมา ได้มีการทำความตกลงระหว่างประเทศ เรียกว่า กฎหมายทะเล ซึ่งอนุญาตให้ประเทศที่มีอาณาเขตติดต่อกับฝั่งทะเล มีสิทธิควบคุมดูแลการใช้ประโยชน์ จากบางส่วนของทะเลได้ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ดังนั้น เส้นแบ่งเขตแดนของประเทศไทย ในปัจจุบัน จึงมีทั้งที่อยู่บนบก และที่อยู่ในทะเลด้วย