เด็กไทยมี "มรดก" ทางวัฒนธรรมที่ปู่ย่าตาทวดของเรามอบไว้ให้อย่างหนึ่ง คือ นิทานพื้นบ้านหรือนิทานท้องถิ่น ที่ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าให้ลูกหลานฟังสืบทอดกันมานับร้อยปี นิทานพื้นบ้านมีหลายประเภท บางประเภทก็เป็นตำนานอธิบายปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เช่น จันทรคราส สุริยคราส บางประเภทก็เป็นนิทานประจำถิ่น เช่น ที่จังหวัดนครปฐม มีนิทานเรื่อง พระยากง-พระยาพาน ซึ่งเชื่อกันว่า เป็นตำนานเกี่ยวกับพระปฐมเจดีย์

เรามีนิทานประจำถิ่นสนุกๆ หลายเรื่อง เด็กๆ ที่เคยไปเที่ยวจังหวัดตราด จันทบุรี ชลบุรี เพชรบุรี คงเคยเห็นเกาะทะลุ เกาะสาก เขาแม่รำพึง แหลมงอบ ฯลฯ สภาพภูมิศาสตร์ที่แปลกตาเหล่านี้ มีประวัติความเป็นมา โดยเล่าเป็นนิทานเรื่องตาม่องล่าย
นิทานบางประเภทเป็นเรื่องผีที่เด็กรู้จักกันดี เช่น นางนาคพระโขนง บางประเภทเป็นนิทานมหัศจรรย์ที่มีของวิเศษ หรือสิ่งมหัศจรรย์ ที่มนุษย์ฝันอยากมี อยากได้ อยากเป็น เช่น แก้วสารพัดนึก รองเท้าที่ใส่แล้วเหาะได้ การแปลงตัวได้ การเหาะเหินเดินอากาศได้ นิทานมหัศจรรย์ของไทยมักเรียกว่า นิทานจักรๆ วงศ์ๆ เรื่องที่เด็กๆ รู้จักกันดี ก็มีอยู่หลายเรื่อง เช่น สังข์ทอง ปลาบู่ทอง พระรถเมรี
พระสุธน-มโนห์รา
นอกจากนั้น ยังมีนิทานตลก เช่น ศรีธนญชัย นิทานอธิบายสาเหตุ เช่น ทำไมหมากับแมวจึงไม่ถูกกัน ทำไมควายจึงไม่มีฟันบน
และยังมีนิทานเรื่องสัตว์ ที่อธิบายนิสัยสัตว์ต่างๆ อีก
เด็กๆ น่าจะลองให้ผู้ใหญ่เล่าให้ฟัง หรือหาอ่านจากหนังสือนิทานในห้องสมุดก็ได้