เล่มที่ 26 สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
การใช้สื่อประสมส่งเสริมการศึกษา
เล่นเสียงเล่มที่ 26 สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ การใช้สื่อประสมส่งเสริมการศึกษา
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

            การที่เราจะเรียนรู้อะไร หากเราทั้งได้อ่าน ได้ยิน ได้ดู และได้สัมผัส เราก็จะยิ่งเข้าใจได้มากขึ้นกว่าที่มีคนมาเล่าให้ฟังเพียงอย่างเดียว สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็นไม่เท่ามือคลำ


            การนำคอมพิวเตอร์มาใช้ โดยนำเสนอทั้งข้อเขียน ภาพนิ่ง เสียงดนตรี ภาพเคลื่อนไหว เป็นการนำสื่อมาใช้ผสมกันเรียกกันว่า สื่อประสม หรือมัลติมีเดีย แม้ว่าภาพยนตร์จะมีทุกสิ่งเหล่านี้มารวมกัน แต่คอมพิวเตอร์มีความสามารถที่เหนือกว่า เพราะคอมพิวเตอร์เปิดโอกาสให้คนโต้ตอบกันได้ ถามคำถามได้ และยังออกข้อสอบ เพื่อวัดความรู้ความเข้าใจของเรื่องที่นำเสนอได้อีกด้วย


            ด้วยเหตุนี้ เราจึงนำคอมพิวเตอร์มาใช้ประกอบการศึกษาได้ดี แต่การนำสื่อมาประสมกัน ก็ไม่ได้หมายความว่า จะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ได้เสมอไป เพราะเนื้อหาเรื่องราวความรู้ที่ทำในรูปแบบมัลติมีเดีย จะทำให้น่าเบื่อก็ได้ หรือจะทำให้เพลิดเพลินน่าสนใจก็ได้ เหมือนภาพยนตร์ที่มีทั้งเรื่องที่สนุก และไม่สนุก ดังนั้น วิธีการนำเสนอ และคุณภาพของข้อมูลที่นำเสนอ ก็จะเป็นตัวชี้ว่า สื่อประสมชุดนั้น จะดีเพียงใด


            สื่อประสมบางประเภทมีเนื้อหาสาระ แต่ถ้านำเสนอเสมือนว่า เป็นการนำหนังสือมาให้อ่านจากจอทีละหน้าๆ ก็จะทำให้น่าเบื่อมาก หากนำเสนอ เพื่อให้ค้นหาข้อมูลอ้างอิง ก็จะเหมาะสมกว่า สื่อประสมบางประเภทเน้นการฝึกฝน ฝึกหัดทำ เช่น สอนการคำนวณ สอนภาษาอังกฤษ ฯลฯ แต่ประเภทที่สอนแล้วสนุกที่สุด ได้แก่ ประเภทที่จำลองสถานการณ์ เช่น จำลองสภาพการขับเครื่องบิน การขับรถ การทดลองทางเคมี ซึ่งมีลักษณะกึ่งแบบเรียนกึ่งเกม ผู้เล่นจะได้เริ่มเรียนรู้ และได้รับความสนุกเพลิดเพลินไปพร้อมๆ กัน


            เนื้อหาเรื่องราวที่ทำในรูปแบบมัลติมีเดียนั้น มักบรรจุอยู่ในอุปกรณ์เก็บข้อมูลที่มีลักษณะเป็นแผ่นกลมๆ ที่เรียกว่า แผ่นซีดีรอม โดยใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือเปิดอ่านข้อมูลนั้น การเผยแพร่สื่อประสมอีกวิธีหนึ่งคือ การนำเสนอผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ หรือที่เรียกกันว่า อินเทอร์เน็ต ซึ่งข้อมูลจะถูกเก็บอยู่ที่เดียว แต่คนที่อยู่ต่างสถานที่กัน สามารถเปิดดูข้อมูล ผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้ตลอด ๒๔ ชั่วโมง ในต้น พ.ศ. ๒๕๔๔ โรงเรียนในประเทศไทยประมาณ ๒,๐๐๐ แห่ง มีคอมพิวเตอร์เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตนี้แล้ว จึงทำให้การนำสื่อประสมมาใช้ช่วยให้นักเรียนมีความรอบรู้มากขึ้น และครูพัฒนาการเรียนการสอนได้แพร่หลายขึ้น


            อย่างไรก็ตาม จะมีอุปสรรคอยู่บ้างในเรื่องค่าใช้จ่าย และเวลาที่ใช้ในการสร้างสื่อประสม เพราะกว่าจะสร้างได้สักเรื่อง ต้องใช้เวลามาก ครูมักไม่มีเวลาที่จะลงมือสร้างสื่อการสอนนี้ด้วยตนเอง แม้จะมีผู้พัฒนาไว้แล้ว แต่ถ้าจะให้ใช้ได้ผล ก็ควรเสนอวิธีการนำสื่อประสมดังกล่าวมาใช้ในห้องเรียนจริงๆ เพื่อให้ครูได้เรียนรู้ก่อน