ถ้าเราจะตั้งคำถามลูกหลานที่บ้านหรือเด็กที่โรงเรียนว่า “ไปตลาดกันไหม” หรือ “หนูอยากได้อะไรที่ตลาด” คำตอบที่ได้รับ ย่อมเป็นไปในแนวเดียวกันว่า “หนูอยากซื้อขนม อยากซื้อของเล่น”
ถ้าถามต่อไปว่า “หนูชอบตลาดแบบไหน” เด็กทั่วไปมักจะตอบคล้ายๆ กันว่า “หนูชอบตลาดใกล้บ้าน เพราะไม่ต้องเดินไกล” หรือ “หนูชอบตลาดนัด เพราะมีของหลายอย่าง ทั้งของกินและของเล่น” หรือ “หนูชอบตลาดใหญ่ๆ เพราะมีทั้งขนม ของเล่น และดินสอสี”
แต่ถ้าเป็นเด็กในเมืองใหญ่ๆ ที่มีแหล่งการค้าขายหลากหลายอาจตอบว่า “หนูชอบซูเปอร์มาร์เกต เพราะมีของครบทุกอย่าง แล้วยังมีสวนสนุกให้เล่นอีกด้วย”
สำหรับวัยรุ่นในเมืองใหญ่ ที่มีความเจริญทางเทคโนโลยีสูง ก็มักจะตอบว่า “พวกเราชอบตลาด ที่มีสินค้าจำพวกเครื่องใช้ไฟฟ้า และคอมพิวเตอร์”
ในความเข้าใจของคนทั่วไปเกี่ยวกับตลาด ไม่ว่าจะเป็นยุคใด สมัยใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ล้วนแต่มีความเข้าใจในแนวเดียวกันว่า ตลาดเป็นที่รวมของผู้คนทั้งในชุมชน และต่างชุมชน ที่มุ่งมาสถานที่เดียวกัน และในเวลาเดียวกัน เพื่อแสวงหาอาหาร และเครื่องใช้สอยในการดำรงชีวิต เพราะว่า ตลาดก่อกำเนิดจากชุมชน ที่มีขนาดเล็กบ้างใหญ่บ้าง แต่ละคนมีสิ่งของคนละอย่างสองอย่าง เมื่อต้องการสิ่งอื่นที่ตนไม่มี ก็จะนำสิ่งของมาแลกเปลี่ยนกัน อาจเป็นการแลกเปลี่ยนระหว่างอาหารกับเครื่องใช้สอย หรือระหว่างสัตว์พาหนะกับเครื่องใช้สอย ครั้นเมื่อชุมชน หรือถิ่นฐานนั้นๆ เจริญขึ้น จนถึงขั้นมีเงินตราใช้ เช่น เงินพดด้วง ก็จะมีการประเมินค่าสิ่งของที่จะแลกกับค่าของเงินตรานั้นๆ จึงทำให้เกิดคำว่า “ซื้อ - ขาย” กันขึ้นแทนการแลกเปลี่ยนสิ่งของ
เราคงเคยได้ยินเพลงที่ชาวบ้านมักจะร้องกันในงานรื่นเริง มีเนื้อร้องที่สะท้อนให้เห็นสภาพสังคม และการแลกเปลี่ยนสิ่งของกันของคนในสังคมไทยว่า
“ใครมีมะกรูดมาแลกมะนาว ใครมีลูกสาวมาแลกลูกเขย…”
ฉะนั้น จึงสรุปได้ว่า ตลาดคือ สถานที่ หรือแหล่งรวมผู้คนทั้งหลาย ให้มาพบปะกัน เพื่อซื้อหาอาหารการกิน และเครื่องใช้สอยต่างๆ ถึงแม้ว่าสถานที่ตั้ง และรูปแบบของตลาด จะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นตลาดไทย ตลาดจีน ตลาดมอญ หรือตลาดฝรั่งก็ตาม แต่ตลาดก็จะยังคงมีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของชุมชน ในทุกสังคมตลอดไป