เล่มที่ 32 สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
หุ่นกระบอกไทย
เล่นเสียงเล่มที่ 32 สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ หุ่นกระบอกไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

 ๏ หุ่นเอ๋ยหุ่นกระบอก                   เจ้าเข้าออกเวทีสีสดใส

    เอกลักษณ์หุ่นเด่นเป็นของไทย         รวมศิลป์ไว้หลายแขนงแต่งให้ชม

    ทั้งปั้นเขียนเพียรสร้างอย่างไพจิตร    อีกอาภรณ์ช่างประดิษฐ์ประดับสม

    นาฏกรรมรำฟ้อนอ่อนอารมณ์           น่านิยมวรรณกรรมนำเล่นเอย

ผู้ประพันธ์ : ศาสตราจารย์ฐะปะนีย์  นาครทรรพ

            หุ่นกระบอก ของไทยมีลักษณะน่ารักน่าเอ็นดูคล้ายตุ๊กตาที่มีความสูงประมาณ ๕๐ เซนติเมตร แต่สามารถเคลื่อนไหวร่ายรำ แสดงอาการต่างๆ ได้เหมือนมนุษย์ โดยมีผู้เชิดหุ่นกระบอกเป็นผู้ควบคุมบังคับอากัปกิริยาต่างๆ ของหุ่น ให้เป็นไปตามที่ผู้เชิดหุ่นต้องการ หุ่นกระบอกของไทยแต่งกายและสวมเครื่องประดับคล้ายตัวละคร ในการแสดงของไทยแบบโบราณ ซึ่งงดงามประณีต และมีความเป็นเอกลักษณ์อย่างยิ่ง

            ก่อนที่หุ่นกระบอกของไทยจะเริ่มมีขึ้นในกรุงเทพฯ เราเคยมีการแสดงหุ่นชนิดอื่นเป็นมหรสพมานาน ตั้งแต่เมื่อกรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองหลวง การแสดงหุ่นที่มีในสมัยแรกเริ่ม คือ การแสดงหุ่นหลวง หรือบางครั้งมีผู้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า หุ่นใหญ่ หุ่นหลวงหรือหุ่นใหญ่มีขนาดใหญ่กว่าหุ่นกระบอก คือ มีความสูงถึงประมาณ ๑ เมตร และมีอุปกรณ์กลไกภายในตัวหุ่น ซับซ้อนกว่าหุ่นกระบอก ดังนั้น วิธีเชิดแสดงหุ่นหลวงจึงยากกว่าการเชิดแสดงหุ่นกระบอก อย่างไรก็ตาม หุ่นหลวงได้ใช้เล่นแสดงเป็นการมหรสพอย่างต่อเนื่อง มาตั้งแต่สมัยอยุธยาจนกระทั่งถึงสมัยรัตนโกสินทร์

            หุ่นกระบอกของไทยได้เข้ามาสู่สังคมชาวกรุงเทพฯ และเริ่มเป็นที่รู้จักแพร่หลาย จนกลายเป็นการเล่นมหรสพ ที่ได้รับความนิยมอย่างยิ่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

            ประวัติความเป็นมาของหุ่นกระบอกไทยเริ่มต้นขึ้นเมื่อครั้งเด็กชายเล็กๆ คนหนึ่ง ได้มีโอกาสติดตามบิดา ผู้เป็นเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ ไปราชการยังหัวเมืองฝ่ายเหนือ ครั้นไปถึงจังหวัดอุตรดิตถ์ เด็กชายผู้นี้ได้มีโอกาสชมการเชิดหุ่นกระบอก จึงเกิดความสนใจและอยากได้หุ่นกระบอกอย่างมาก เนื่องจาก หุ่นกระบอกมีขนาดไล่เลี่ยกับตุ๊กตา มีลักษณะสวยงามน่ารัก และสามารถเชิดให้แสดงกิริยาอาการต่างๆ ได้ หุ่นกระบอกจึงเป็นสิ่งที่ดูแล้วเพลินตาเพลินใจ เป็นที่ถูกใจเด็กชายอย่างยิ่ง ในที่สุดเด็กชายคนนี้ก็ได้หุ่นกระบอกมาตัวหนึ่ง และได้นำกลับมายังกรุงเทพฯ ด้วย

            เจ้าของหุ่นกระบอก คนเดิม เป็นชายยากจนชื่อ เหน่ง เป็นชาวจังหวัดสุโขทัย อาศัยอยู่ตามวัด นายเหน่งเห็นหุ่นจีนไหหลำ จึงเอาแบบอย่างมาคิดดัดแปลงประดิษฐฺ์เป็นหุ่นไทยขึ้น และคิดกระบวนร้องเพลงประกอบตามแบบอย่างของหุ่นจีนไหหลำ นายเหน่งนำหุ่นกระบอกออกเชิดแสดง เพื่อหาเลี้ยงชีพ ต่อมามีคนชอบมากขึ้น หุ่นกระบอกของนายเหน่งจึงเป็นที่รู้จักกัน ในหัวเมืองฝ่ายเหนือ ในเวลานั้น นายเหน่งได้มอบหุ่นตัวหนึ่งให้แก่เด็กชายผู้ที่ได้มาเยือน ในระหว่างเดินทางกลับจากหัวเมืองเหนือมายังกรุงเทพฯ เด็กชายผู้เป็นเจ้าของหุ่นกระบอกคนใหม่กับพี่เลี้ยง ได้หัดเล่นเชิดหุ่นกระบอกที่เพิ่งได้มานั้นอย่างสนุกสนานตลอดทาง เป็นที่น่าเสียใจยิ่งที่เมื่อกลับมาถึงกรุงเทพฯ ได้ไม่นาน เด็กชายเจ้าของหุ่นกระบอกได้เสียชีวิตลง พี่เลี้ยงของเด็กชายผู้นี้ชื่อ หม่อมราชวงศ์เถาะ ซึ่งชื่นชม และติดใจ ในความงดงามน่ารักของหุ่นกระบอกด้วยเช่นกัน เกิดความคิดที่จะจัดการแสดงหุ่นกระบอกต่อสาธารณชน โดยตั้งเป็นคณะหุ่นกระบอกขึ้น เพื่อนำออกแสดงเป็นมหรสพ สร้างความบันเทิงให้ประชาชนทั่วไปได้ชม หม่อมราชวงศ์เถาะจึงเป็นผู้คิดริเริ่มก่อตั้ง และเป็นเจ้าของคณะหุ่นกระบอกคณะแรกในประเทศไทย ผู้คนในสมัยนั้น เรียกหุ่นกระบอกไทยคณะนี้ว่า หุ่นคุณเถาะ

            หลังจากนั้น หุ่นกระบอกก็ได้รับความนิยมแพร่หลายมากยิ่งขึ้น จนมีคณะหุ่นกระบอกเกิดขึ้นอีกมากมายหลายคณะ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหัวเมืองรอบๆ เมืองหลวง ในรัชกาลที่ ๕ จึงถือได้ว่า เป็นยุคทองของการแสดงหุ่นกระบอกของไทย