เล่มที่ 32 สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
ตาลปัตร พัดยศ และสมณศักดิ์
เล่นเสียงเล่มที่ 32 สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ ตาลปัตร พัดยศ และสมณศักดิ์
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

            เด็กๆ เคยสังเกตหรือไม่ว่า เวลาที่พระสงฆ์ทำพิธีสวดมนต์ระหว่างการประกอบพิธีทางศาสนา ไม่ว่าพิธีนั้นจะเป็นพิธีทำบุญ พิธีเฉลิมฉลองในโอกาสต่างๆ หรือแม้แต่ในพิธีสวดศพ หรือเผาศพ ในบางช่วงของการสวดมนต์ พระสงฆ์จะยกสิ่งที่คล้ายพัด ที่มีด้ามยาว ซึ่งอาจจะวางอยู่ที่พื้นด้านหน้าของแต่ละรูป หรืออาจตั้งเสียบอยู่ที่แท่นวาง ขึ้นมาใช้บังหน้าไว้ แต่บางช่วงการสวด ก็จะไม่ยกมาบังหน้า เด็กๆ สงสัยบ้างไหมว่า สิ่งที่คล้ายพัดด้ามยาวที่พระสงฆ์ใช้คืออะไร มีที่มาอย่างไร และเหตุใดพระสงฆ์จึงนำมาใช้ในการประกอบพิธีทางศาสนา โอกาสและการใช้เป็นอย่างไร

            สิ่งที่มีลักษณะคล้ายพัดด้ามยาวที่พระสงฆ์ใช้บังหน้าในขณะสวดมนต์ประกอบพิธีทางศาสนานั้น เรียกว่า ตาลปัตร แปลว่า พัดใบตาล มีที่มาจากใบตาล ซึ่งเป็นต้นไม้ประเภทเดียวกับต้นมะพร้าว แต่มีใบใหญ่และกว้างกว่าใบมะพร้าว ชาวบ้านนำใบตาลนี้ มาตัดแต่งเป็นพัด และใช้โบกลมหรือบังแดด เป็นของใช้ปกติของชาวบ้านในประเทศอินเดีย และลังกา มาตั้งแต่ก่อนสมัยพระพุทธเจ้าแล้ว ต่อมา พระสงฆ์ได้นำพัดใบตาลนี้มาใช้ โดยถือไปด้วยเมื่อเวลาแสดงธรรม เมื่อชาวบ้านเห็นพระใช้พัดใบตาล ซึ่งเป็นของที่ไม่คงทนและไม่สวยงาม จึงคิดหาสิ่งอื่นที่คงทนและสวยงาม เช่น ผ้าไหม ผ้าแพร ไม้ไผ่สาน งาสาน สุดแต่กำลังศรัทธาของแต่ละคน แล้วประดิษฐ์ตกแต่งให้มีความวิจิตรงดงามมากขึ้น พัดใบตาลจึงเปลี่ยนแปลงไป จนมีลักษณะอย่างที่พระสงฆ์ใช้ในปัจจุบันนี้



            ส่วนเหตุที่พระสงฆ์ใช้ตาลปัตร บังหน้าเวลาสวดทำพิธีนั้น มีอธิบายไว้ในคัมภีร์ทางศาสนาว่า เพื่อไม่ให้ผู้มาฟังธรรมเห็นอากัปกิริยาของพระสงฆ์ที่อาจจะไม่ได้ระมัดระวังขณะที่สวด และเพื่อไม่ให้พระสงฆ์มองผู้มาฟังธรรม เนื่องจากจะทำให้ไม่มีสมาธิได้ ธรรมเนียมปฏิบัตินี้ พระสงฆ์ได้ถือปฏิบัติสืบต่อกันมาแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน

            การใช้ตาลปัตร ของพระสงฆ์ในการประกอบพิธีที่เป็นพิธีมงคลต่างๆ พระสงฆ์จะใช้ตาลปัตร เฉพาะเมื่อตอนให้ศีล (คือ ตอนเริ่มพิธี) และตอนอนุโมทนา (ให้พร) แก่ผู้มาฟังธรรมหรือเจ้าภาพของงานเท่านั้น ในการสวดตามปกติจะไม่ใช้ตาลปัตร แต่หากเป็นงานศพ พระสงฆ์จะใช้ตาลปัตร ในขณะสวดพระอภิธรรมด้วย

            นอกจากตาลปัตร ที่พระสงฆ์ทั่วๆไปใช้แล้ว ยังมีตาลปัตร พิเศษที่มีลักษณะแตกต่างจากตาลปัตร ทั่วไป ซึ่งมีความวิจิตรงดงาม เพราะมีการประดิษฐ์ตกแต่งเป็นพิเศษ และมีลักษณะเฉพาะ ตาลปัตร ชนิดนี้ เรียกว่า พัดยศ

พัดยศ เป็นของที่พระเจ้าแผ่นดินโปรดให้สร้างขึ้นสำหรับพระราชทานแก่พระสงฆ์พร้อมกับการตั้งสมณศักดิ์ (ตำแหน่งชั้นยศของพระ) และพัดยศจะใช้เฉพาะงานพระราชพิธีของพระเจ้าแผ่นดิน เช่น ในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา หรือพิธีที่เนื่องในพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งส่วนราชการจัดขึ้น เช่น งานเชิญผ้าพระกฐินพระราชทานไปทอดถวาย ณ พระอารามต่างๆ และเฉพาะพระสงฆ์ ที่ได้รับพระราชทานพัดยศเท่านั้นที่จะใช้พัดยศได้

            สำหรับการแต่งตั้งพระสงฆ์ให้มีสมณศักดิ์ ก็เป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาแต่โบราณแล้ว พระเจ้าแผ่นดินจะทรงพิจารณาจากพระสงฆ์ ที่ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด มีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฎก (พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า) และทำคุณประโยชน์ทางด้านพุทธศาสนจักร สมณศักดิ์ ชั้นสูงสุดของพระสงฆ์ คือ สมเด็จพระสังฆราช และมีสมณศักดิ์ ชั้นรองๆ ลงมา เช่น สมเด็จพระราชาคณะ และพระราชาคณะ ซึ่งยังแบ่งเป็นชั้นต่างๆ ย่อยลงไปอีก