เล่มที่ 3 สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
การทำไม้
เล่นเสียงเล่มที่ 3 สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ การทำไม้
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

            ประเทศไทยมีป่าไม้มาก ประมาณหนึ่งในสามของเนื้อที่ประเทศเป็นป่าไม้ ต้นไม้ชอบขึ้นบนภูเขา ป่าไม้ส่วนใหญ่จึงอยู่ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคใต้ ซึ่งพื้นที่เป็นภูเขา ส่วนภาคกลางเป็นที่ราบ เหมาะแก่การกสิกรรม ซึ่งได้แก่ การปลูกข้าว อ้อย ฝ้าย ถั่ว ฯลฯ จึงไม่ค่อยมีป่าไม้

            ป่าไม้ของเรา มีต้นไม้ขึ้นอยู่มากมายหลายร้อยชนิด ทั้งใหญ่และเล็ก ต้นไม้บางชนิด เราเอาลำต้นมาเลื่อยเป็นแผ่นๆ ใช้ทำบ้าน ทำเรือ ทำตู้ และโต๊ะ หรือฝานเป็นแผ่นบางๆ ทำไม้อัด เช่น ไม้สัก ไม้ยาง ไม้ประดู่ ฯลฯ บางชนิดเขาเอามาบดเป็นชิ้นเล็กๆ ใช้ทำเยื่อกระดาษ เช่น ไม้สนเขา และไม้ไผ่ ต้นไม้ต่างๆ นี้  นอกจากจะนำมาใช้ประโยชน์ในประเทศแล้ว บางชนิดยังส่งออกไปขายต่างประเทศด้วย

            ประเทศไทยมีต้นไม้ชนิดหนึ่ง เป็นที่รู้จักกันทั่วโลกอย่างแพร่หลาย คือ "ต้นสัก" เหตุที่มีชื่อเสียง เพราะมีเนื้อไม้สีเหลือง มีลวดลายสวยงาม น้ำหนัก เบา แข็งแรง ทนทาน และปลวกไม่กิน ราคาของไม้สักจึงสูงกว่าไม้ชนิดอื่นๆ ต้นสักที่ใหญ่ที่สุดในโลกอยู่ในเมืองไทยเรานี้เอง คือ อยู่ในอำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ มีขนาดวัดรอบที่โคนตรงระดับสูง ๑๓๐ เซนติเมตร ได้ ๙๓๐ เซนติเมตร (วัดเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๗) และมีความสูงจากพื้นดินถึงปลายยอด ๔๕ เมตร

            การตัดต้นไม้ เพื่อนำไปขาย ผู้ตัดจะต้องได้รับอนุญาตจากรัฐบาลเสียก่อน ในแต่ละปีรัฐบาลจะกำหนดจำนวนต้น และบริเวณขอบเขตที่จะตัดไม้ได้ หากผู้ใดตัดเกินจากที่รัฐบาลกำหนดไว้ จะมีความผิดทางกฎหมาย

            ไม้แต่ละต้นที่อยู่ในป่า เมื่อจะนำออกมาใช้ปลูกบ้าน หรือทำประโยชน์อย่างอื่น จะต้องใช้เลื่อย หรือขวาน โค่นให้ล้มลง แล้วตัดส่วนที่มีกิ่งก้าน ซึ่งใช้การไม่ได้ออก เหลือแต่ส่วนของต้นไม้ เรียกว่า "ท่อนซุง" แล้วใช้ช้าง รถยนต์ หรือรถแทรกเตอร์ ลากซุงนั้นออกมารวมไว้เป็นแห่งๆ ต่อจากนั้น จึงนำไม้ซุงมาผูกเป็นแพล่องไปตามลำแม่น้ำ หรือนำขึ้นบรรทุกรถยนต์ รถไฟ ไปยังโรงเลื่อย เพื่อเลื่อยเป็นแผ่นกระดาน ใช้ปลูกบ้าน และทำของใช้อื่นๆ

            การทำงานเริ่มตั้งแต่โค่นล้มต้นไม้ ตัดทอนเป็นท่อนซุง แล้วชักลากด้วยช้าง หรือรถแทรกเตอร์ รวมทั้งนำซุงบรรทุกรถยนต์ หรือล่องแพไปจนถึงโรงเลื่อย หรือถึงเรือเดินทะเล เพื่อส่งไปจำหน่ายต่างประเทศ เราเรียกรวมๆ กันว่า "การทำไม้" เท่าที่กล่าวมาแล้วนั้นจะเห็นได้ว่า ต้นไม้แต่ละต้น กว่าจะนำมาเลื่อยเป็นแผ่นกระดานได้ต้องใช้เวลาพอสมควร

            ผู้ที่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลให้ตัดไม้ไปขายได้นี้ เรียกว่า "ผู้รับสัมปทานป่าไม้" มีข้อตกลงร่วมกันกับรัฐบาลว่า เมื่อตัดไม้ไปแล้ว จะต้องปลูกใหม่ทดแทนไม้ที่ตัดไป ต้นไม้ที่ปลูกทดแทนนี้ เขาจะปลูกเป็นสวน เรียกว่า "สวนป่า"