เล่มที่ 19 สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
ศิลปะการนับเบื้องต้น
เล่นเสียงเล่มที่ 19 สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ ศิลปะการนับเบื้องต้น
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
            นานมาแล้วคนอาศัยอยู่ใน ถ้ำ เพราะเขายังไม่มีความรู้ และเครื่องมือ ในการสร้างบ้าน สิ่งแรกที่เขาพยายามคิดค้นคือ จะทำให้เกิดแสงไฟได้อย่างไรในเวลาค่ำคืน ต่อมาเขาก็สามารถคิดได้สำเร็จจากแสงไฟที่เขาทำขึ้น พอถึงเวลาค่ำ ผู้หญิงก็จะเย็บเสื้อผ้าจากขนสัตว์ที่ผู้ชายไปล่าสัตว์มาได้ ผู้ชายก็จะเขียนภาพที่ฝาผนังถ้ำ แม้ว่าเขาจะเขียนภาพที่มีหอก ๕ เล่ม ปักอยู่ที่ตัวสัตว์ป่า แต่เขาก็ไม่รู้จักจำนวนห้านั้น มีทางเดียวเท่านั้นที่เขาจะแสดงจำนวนของสิ่งต่างๆ ได้ โดยใช้ความสัมพันธ์ "หนึ่ง ต่อ หนึ่ง" เขาใช้เครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์หนึ่งอย่างแทนหนึ่งสิ่ง
             ถ้าเขาเห็นสัตว์จำนวนสามตัวในป่า และต้องการนับสิ่งที่เขาได้เห็น เขาก็จะทำรอยขีดบนพื้นดิน หรือวางหินเป็นกองจำนวนสามก้อน เพราะเขาไม่มีคำว่า "จำนวน"
            เมื่อเขานำสัตว์ไปเลี้ยงในแต่ละวัน เขาจะเอาหินกองไว้เท่ากับจำนวนสัตว์ เมื่อถึงเวลาเย็น สัตว์กลับเข้าคอก เขาจะหยิบหินออกทีละก้อนต่อสัตว์หนึ่งตัว ถ้ามีก้อนหินเหลือหนึ่งก้อน เขาก็รู้ว่า สัตว์หายไปหนึ่งตัว
            ต่อมาเขาก็ตระหนักว่า อาจจะใช้ส่วนของร่างกายแทนการทำรอยขีดบนดิน หรือแทนกองหิน โดยเขาใช้นิ้วมือ ซึ่งจะทำให้เขานับได้ถึงจำนวนสิบ แต่เมื่อเขามีสิ่งของเกินสิบเขาก็นับไม่ได้ เขาจึงใช้นิ้วเท้าเพิ่มเข้าไปอีกสิบ
            แต่ถ้าสิ่งของนั้นเกินจำนวนยี่สิบ เขาก็ไม่สามารถหาอะไรแทนได้ เพราะจำนวนนิ้วมือ นิ้วเท้า ก็ไม่เพียงพอ เขาจึงใช้เครือไม้ทำปม แทนจำนวนของสิ่งที่ต้องการนับ และต่อมาก็ใช้เชือก ซึ่งเขาก็ยังไม่สามารถนับจำนวนมากๆ ได้ วิธีการนับได้พัฒนามาเป็นเวลานาน จนกระทั่งชาติต่างๆ สามารถใช้สัญลักษณ์แทนจำนวน ปัญหาเรื่องการนับจึงหมดสิ้นไป