เล่มที่ 6 สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
ระยะทาง
เล่นเสียงเล่มที่ 6 สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ ระยะทาง
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

            ในสมัยโบราณเรากล่าวถึงความใกล้ ความไกลของสิ่งของต่างๆ ว่า เป็นระยะทาง การวัดระยะทาง มักเทียบกับความยาวของส่วนต่างๆ ของร่างกายของเรา เช่น นิ้ว ศอก เรากำหนดให้ 12 นิ้ว เป็น 1 คืบ 2 คืบเป็น 1 ศอก 4 ศอกเป็น 1 วา (ความยาว 1 วา คือ ความยาวที่วัดได้ เมื่อเหยียดแขนทั้งสองข้างออกไป) สำหรับระยะทางใกล้ๆ บางทีเราก็ใช้ก้าวของเรา เพื่อบอกระยะทาง เช่น ต้นไม้สองต้นอยู่ห่างกัน สามสิบก้าว บ้านเราห่างจากบ้านลุงสี่สิบก้าว เป็นต้น ถ้าตั้งบ้านเรือนอยู่ริมน้ำ ก็อาจบอกระยะทางโดยใช้ระยะห่างของคุ้งน้ำเป็นเครื่องกำหนด เช่น บ้านเรากับบ้านเพื่อนของเราอยู่ห่างกันสองคุ้งน้ำ คนไทยมักนิยมบอกระยะทางไกลๆ สัมพันธ์กับเวลา เช่น หมู่บ้านสองแห่งอยู่ห่างกัน สองชั่วเวลาเดินทางไป (และเคี้ยวหมากไปด้วย) หมากจืดสนิทพอดี หรือ ชั่วเวลาหม้อข้าวเดือด เมืองสองเมืองอยู่ห่างกันชั่วระยะเวลาเดินทา สามวัน บางทีก็ใช้เสียงร้องของสัตว์เป็นเครื่องกำหนดระยะทาง เช่น ไกลเท่ากับเสียงช้างร้อง เป็นต้น


            หน่วยความยาวที่กว่าวา คือ เส้นและโยชน์ 20 วาเป็น 1 เส้น และ 400 เส้นเป็น 1 โยชน์ เนื่องด้วยร่างกายของมนุษย์มีขนาดแตกต่างกัน การใช้หน่วยความยาวเทียบกับส่วนของร่างกายของตน จึงทำให้เกิดความขัดแย้งกัน เพื่อขจัดความขัดแย้งนี้ มนุษย์ได้สร้างหน่วยความยาวไว้เป็นมาตรฐานสากล ซึ่งจะวัดความยาวที่ใดๆ ก็จะได้ความยาวเท่ากันเสมอ หน่วยสากลนี้มีสองแบบ คือ แบบอังกฤษ และแบบฝรั่งเศส แบบอังกฤษ มีนิ้ว ฟุต หลา และไมล์ คือ
  • 12 นิ้ว เป็น 1 ฟุต
  • 3 ฟุต เป็น 1 หลา
  • 1,760 หลา เป็น 1 ไมล์
   
        ส่วนแบบฝรั่งเศส มีหน่วยความยาวเป็นเมตร 1,000 เมตรเป็น 1 กิโลเมตร ถ้าแบ่ง 1 เมตรออกเป็น 100 ส่วนเท่าๆ กัน แต่ละส่วนจะยาว 1 เซนติเมตร และถ้าแบ่ง 1 เซนติเมตรออกเป็น 10 ส่วนเท่าๆ กัน แต่ละส่วนจะยาว 1 มิลลิเมตร นั่นคือ 1,000 มิลลิเมตร เป็น 1 เมตร 
            เมื่อเทียบมาตราความยาวระหว่างไทยกับฝรั่งเศส จะได้ 1 เมตร เท่ากับ 2 ศอก หรือ 1 กิโลเมตรเท่ากับ 25 เส้น และถ้าเทียบมาตรไทยกับอังกฤษจะได้ 1 ไมล์ เท่ากับ 40 เส้น


มาตราวัดระยะของไทยที่ยังใช้อยู่ในปัจจุบัน คือ กระเบียด และหุน

            4 กระเบียด เท่ากับ 1 นิ้ว
            8 หุน เท่ากับ 1 นิ้ว