เล่มที่ 5 สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
พันธุ์ไม้ป่า
เล่นเสียงเล่มที่ 5 สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ พันธุ์ไม้ป่า
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

            ในป่ามีต้นไม้มากมายหลายชนิด หลายพันธุ์ ต้นไม้ใหญ่ที่ขึ้นอยู่ในป่ามีทั้งเนื้อแข็ง และเนื้ออ่อน ซึ่งพอจะแบ่งออกเป็นพวกๆ ได้ ๓ พวก

            พวกไม้ยืนต้น ลำต้นสูงตรงตั้งแต่ ๓ เมตรขึ้นไป ได้แก่ ต้นยาง ตะเคียน จำปา และอโศก พวกไม้พุ่ม ลำต้นตรงแต่ค่อนข้างต่ำ และมีกิ่งก้านแตกแขนงมาก ได้แก่ โมกทุ่ง แก้ว กาหลง ลำเจียก ไผ่ชนิดต่างๆ กาฝาก เป็นพืช ซึ่งอาศัยเกาะกินอาหาร ตามต้นไม้ใหญ่ และเกาะอาศัยอยู่เฉยๆ ได้แก่ พวกไทร เป็นต้น พวกไม้เถา ลำต้นจะเลื้อยพาด หรือเกี่ยวพันไปตามต้นไม้ใหญ่ ได้แก่ หมามุ่ย สายหยุด หิรัญญิการ์ อรพิม รสสุคนธุ์ สะบ้า ฯลฯ

            นอกจากต้นไม้ใหญ่ยังมีต้นหญ้า ซึ่งเป็นไม้ล้มลุก และเป็นพันธุ์ไม้กลุ่มที่มีลำต้นกลวง มีข้อและปล้องสลับกันอยู่เป็นระยะๆ เช่น หญ้าพง หญ้าปล้อง หญ้าคา และหญ้าคาย พืชบางชนิดลำต้นอ่อนอุ้มน้ำมีอายุสั้นเพียงปีเดียว พอออกดอกออกผลแล้ว ก็เฉาแห้งตายไป เช่น ผักกะสัง ผักคราดบอน และเทียนป่า เป็นต้น บางชนิดมีอายุ 2-3 ปี เช่น โสนครามป่า หิ่งหาย และชุมเห็ด บางชนิดที่มีอายุยืนจะมีหัวหรือเหง้าอยู่ใต้ดิน เช่น พลับพลึง สามสิบ มันป่า ผักกูด ที่อาศัยเกาะตามต้นไม้ ได้แก่ พวกกล้วยไม้ ส่วนพวกที่มีลำต้นเกี่ยวพันไปตามต้นไม้อื่น เรียกว่า เครือเถา หรือเถาวัลย์ ได้แก่ ตำลึง จิงจ้อ ผักบุ้ง อ้อยแสนสวน และเถาเอ็นอ่อน  พืชที่ลอยตัวตามผิวน้ำ ได้แก่ จอก แหน ผักกระเฉด ที่จมอยู่ในน้ำแต่ส่งใบขึ้นเหนือน้ำ ได้แก่ สาหร่ายข้าวเหนียว สาหร่ายพุงชะโด และบัวสายติ่ง บางชนิดมีต้น ราก หรือเหง้าอยู่ใต้น้ำ ส่งใบและดอกขึ้นเหนือน้ำ ได้แก่ บัว เผื่อน เป็นต้น


            ในป่ายังมีพืชที่มีลักษณะแปลกๆ และสวยงามอีกมาก เช่น พวกกล้วยไม้ดิน และเห็ด ซึ่งชอบขึ้นอยู่ตามซากต้นไม้และหญ้า ที่ผุเปื่อย ที่เกาะแย่งอาหารกินตามกิ่งก้านต้นไม้อื่น ก็มีฝอยทอง ตามรากพืชชนิดอื่น เช่น ชมพูนุท ดอกดิน กระโถนฤาษี และขนุนดิน  พืชบางชนิดมีที่ดักจับแมลง มีน้ำยางเหนียวตามใบ และมีน้ำย่อยก้นถุง สำหรับย่อยแมลงที่ตกลงไป เช่น สาหร่ายข้าวเหนียว หญ้าน้ำค้าง หม้อแกงลิง หรือเขนงนายพราน เป็นต้น