เล่มที่ 11
การพัฒนาอักษรไทยในเครื่องคอมพิวเตอร์
เล่นเสียงเล่มที่ 11 การพัฒนาอักษรไทยในเครื่องคอมพิวเตอร์
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
            เมื่อเราใช้คอมพิวเตอร์ในการเก็บข้อมูลต่างๆ เช่น ข้อมูลของคนไข้ในโรงพยาบาล ข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้า และพนักงานในวงการธุรกิจ เป็นต้น ปัญหาที่เกิดขึ้น นอกจาก ความจำเป็นต้องแปลข้อมูลจากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษแล้ว ยังมีความยุ่งยากในการเขียนชื่อในภาษาไทย เป็นภาษาอังกฤษอีกด้วย เช่น ชื่อ สมชาย และสมชัย อาจใช้ SOMCHAI เหมือนกัน ทำให้ไม่เห็นความแตกต่าง และไม่สามารถเขียนกลับเป็นภาษาไทยได้ถูกต้อง นอกจากนี้ จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ เราอาจใช้คอมพิวเตอร์จัดพิมพ์ จดหมาย และเอกสารต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางได้ แต่จดหมาย และเอกสารเหล่านี้ หากใช้ภาษาอังกฤษ จะมีข้อจำกัด ใช้ได้เฉพาะในหมู่คนที่รู้ภาษาอังกฤษ และไม่สามารถใช้ในราชการได้ ดังนั้นนักคอมพิวเตอร์ไทย จึงเห็นความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาอักษรไทยขึ้นในเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยการพัฒนาระบบการสั่งงาน ตลอดจน ปรับปรุงส่วนประกอบของคอมพิวเตอร์ที่จำเป็น ทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์สามารถรับข้อมูลที่ป้อนเข้าทางแป้นพิมพ์เป็นอักษรไทย และสามารถแสดงผลเป็นภาษาไทยได้ ทั้งทางจอภาพ และเครื่องพิมพ์

การแปรอักษรบนอัฒจันทร์ เทียบได้กับการเกิดภาพจากจุดเล็กๆบนจอคอมพิวเตอร์

            การแสดงผลเป็นภาษาไทยนี้ อาศัยหลักการทำนองเดียวกัน กับการแปรอักษรในสนามกีฬา การแปรอักษร เกิดจากกองเชียร์บนอัฒจันทร์ ชูแผ่นป้ายสีต่างๆ ขึ้นพร้อมกันตามที่นัดหมายไว้ เนื่องจาก อัฒจันทร์มีขนาดใหญ่ หากเทียบกับแผ่นป้าย ซึ่งเป็นเพียงหน่วยเล็กๆ เมื่อชูแผ่นป้ายขึ้นพร้อมกัน ก็ทำให้เกิดภาพหรืออักษรที่ต้องการได้ ถ้าเราลองย่ออัฒจันทร์ให้เล็กลงเท่าแผ่นกระดาษ แผ่นป้ายที่แต่ละคนชูขึ้นก็จะเป็นเสมือนจุดเล็กๆ ภาพหรือตัวอักษรที่เกิดขึ้น จะเป็นภาพหรือตัวอักษร ที่เกิดจากการเรียงกันของจุดต่างๆ การเกิดภาพ หรือตัวอักษร บนจอภาพคอมพิวเตอร์ ก็ประกอบไปด้วยจุดเล็กๆ มาเรียงกันเช่นกัน จุดเหล่านี้เกิดจากการกระทบของอิเล็กตรอนบนจอภาพ โดยการควบคุมของคอมพิวเตอร์ จำนวนจุดที่แสดงบนจอภาพนี้ จะมีมากถึงหลายร้อยแถว และแต่ละแถวมีหลายร้อยจุด ความชัดเจนของภาพที่เกิดขึ้นอยู่กับจำนวนจุดว่า มีมากน้อยเพียงใด

            อุปสรรคที่สำคัญอย่างหนึ่ง ในการพัฒนาอักษรไทยในคอมพิวเตอร์ ได้แก่ โครงสร้างของคำในภาษาไทย ซึ่งประกอบด้วยสระที่อาจจะอยู่ข้างหน้า ข้างหลัง ข้างบน และข้างล่างของพยัญชนะ ทั้งยังมีวรรณยุกต์ ทำให้ต้องใช้ ๔ บรรทัดไปพร้อมๆ กัน ทั้งในการอ่าน และการเขียน อย่างไรก็ตาม การพัฒนาอักษรไทยนี้ นับว่า ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี เป็นเหตุให้การนำคอมพิวเตอร์มาใช้ในประเทศไทย เป็นไปอย่างกว้างขวาง และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นเป็นอันมาก