เล่มที่ 11
ระบบการสั่งงานคอมพิวเตอร์
เล่นเสียงเล่มที่ 11 ระบบการสั่งงานคอมพิวเตอร์
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
            ถ้าเรามีเครื่องคอมพิวเตอร์ แต่ไม่มีชุดคำสั่ง หรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์เครื่องนั้นย่อมจะช่วยเราทำงาน หรือเล่นเกมกับเราไม่ได้ ดังนั้น ชุดคำสั่งคอมพิวเตอร์จึงมีความสำคัญมากเท่าๆ กับเครื่องคอมพิวเตอร์ เพราะทั้งสองต้องอาศัยซึ่งกันและกันตลอดเวลา ในขณะที่เราเล่นเกม หรือขณะที่คอมพิวเตอร์ทำงานประเภทอื่นๆ ด้วย

            การป้อนชุดคำสั่งคอมพิวเตอร์ อาจจะทำได้หลายวิธี แต่วิธีที่ง่ายและเด็กๆ จะเห็นได้เสมอก็คือ การป้อนชุดคำสั่งสำเร็จรูป ที่มีผู้พัฒนาจัดทำขึ้น และบันทึกไว้เรียบร้อยแล้ว ในแถบตลับเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ แถบตลับที่ใช้บันทึกชุดคำสั่งคอมพิวเตอร์ เรียกว่า "แถบแม่เหล็ก" แผ่นแม่เหล็กที่ใช้บันทึกชุดคำสั่งคอมพิวเตอร์เรียกว่า "จานแม่เหล็ก"

            เมื่อ
เด็กๆ ต้องการจะเล่นเกมใด ก็นำเอาชุดคำสั่งที่บันทึกไว้ในแถบหรือจานแม่เหล็กป้อนเข้าเครื่อง เกมที่ต้องการเล่นจะปรากฏ และแสดงให้เห็นได้บนจอโทรทัศน์ที่ต่อเข้ากับเครื่องคอมพิวเตอร์ จากนั้นเด็กๆ ก็สามารถกดปุ่ม หรือโยกคันโยกไปมา เพื่อเล่นเกมตามความต้องการนั้นได้

            เมื่อเล่นเกมนั้นจบหรือระหว่างที่เล่นเกมใดเกมหนึ่งอยู่ ก็สามารถกดปุ่ม เพื่อเปลี่ยนชุดคำสั่งใหม่ เราจะเปลี่ยนชุดคำสั่งกี่ครั้ง หรือเปลี่ยนกลับไปกลับมาก็ได้ เช่นเดียวกับการเปลี่ยนแถบตลับเพลง หรือการเปลี่ยนแผ่นเสียงนั่นเอง ซึ่งหมายความว่า เครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องเดียว สามารถใช้เล่นเกมต่างๆ หลายชนิดได้ โดยการเปลี่ยนชุดคำสั่งคอมพิวเตอร์

            เครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่ นอกจากใช้เล่นเกมแล้ว ยังสามารถป้อนชุดคำสั่งให้ทำงานอื่นได้ด้วย เช่น การคำนวณบวก ลบ คูณ และหาร การพิมพ์รายชื่อนักเรียนพร้อมคะแนนที่สอบ เป็นต้น

            เนื่องจากคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ และมีส่วนความจำด้วย จึงสามารถป้อนชุดคำสั่งเข้าไปเก็บในส่วนความจำ เพื่อกำหนดให้คอมพิวเตอร์ทำงาน ปัจจุบันนี้ การเขียนชุดคำสั่งคอมพิวเตอร์ยังต้องอาศัยกฎเกณฑ์ในการเขียนภาษาต่างๆ ซึ่งมีอยู่มาก แต่ที่นิยม ใช้กันได้แก่ ภาษาเบสิก ภาษาโคบอล และภาษาฟอร์แทรน เป็นต้น ถ้าเราจะใช้ภาษาใดกับเครื่องใด เราต้องทราบว่า เครื่องนั้นรับภาษาอะไรได้บ้าง จึงจะใช้ภาษาดังกล่าวกับเครื่องนั้นได้
เด็ก ๆ กำลังเล่นเกมคอมพิวเตอร์
เด็กๆ กำลังเล่นเกมคอมพิวเตอร์
            ถ้าผู้ใช้ต้องการจะเขียนชุดคำสั่งคอมพิวเตอร์ด้วยตัวเอง ก็จะต้องเรียนรู้ภาษาคอมพิวเตอร์ก่อน จึงจะเขียนชุดคำสั่งที่ถูกต้อง ให้คอมพิวเตอร์ทำงานได้ เมื่อเขียนชุดคำสั่งเสร็จแล้ว เราจะต้องป้อนชุดคำสั่งเข้าเครื่อง โดยอาศัยสื่อกลางบางชนิด เช่น แถบหรือจาน แม่เหล็ก เป็นต้น  

            ความจริงชุดคำสั่งเล่นเกม และชุดคำสั่งสั่งงานดังกล่าวนั้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งของระบบการสั่งงานคอมพิวเตอร์เท่านั้น การที่คอมพิวเตอร์จะทำงานได้ยังต้องอาศัยชุดคำสั่งอื่นๆ ที่มีอยู่แล้วในเครื่องประกอบกันทั้งระบบ เราจึงมักจะเรียกชุดคำสั่งคอมพิวเตอร์ว่า "ระบบการสั่งงานคอมพิวเตอร์" ซึ่งประกอบด้วยชุดคำสั่งประเภทใหญ่ๆ ดังนี้

๑. ชุดคำสั่งควบคุม
๒. ตัวแปลชุดคำสั่ง
๓. ชุดคำสั่งใช้งาน

            ชุดคำสั่งควบคุม และตัวแปลชุดคำสั่งนั้น ส่วนใหญ่บริษัท หรือโรงงานที่สร้างเครื่องคอมพิวเตอร์จะเป็นผู้จัดทำไว้เรียบร้อยแล้ว และขายหรือให้เช่าพร้อมกับเครื่องคอมพิวเตอร์ ส่วนชุดคำสั่งใช้งานนั้น ผู้ใช้อาจจะพัฒนา และเขียนชุดคำสั่งใช้งานขึ้นเอง หรืออาจซื้อชุดคำสั่งสำเร็จรูปก็ได้ เช่น ชุดคำสั่งเล่นเกม ชุดคำสั่งประมวลคำ และชุดคำสั่งด้านธุรกิจต่างๆ เป็นต้น