เล่มที่ 15
ปัญหาสิ่งแวดล้อมระดับสากล
เล่นเสียงเล่มที่ 15 ปัญหาสิ่งแวดล้อมระดับสากล
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
            สิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวเรา ที่มีปริมาณมากมายมหาศาลสุดที่จะนับได้ ได้แก่ ดิน น้ำ อากาศ พืช สัตว์ คน และสารต่างๆ ซึ่งมีมากมายหลายชนิด ที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตประจำวันของมนุษย์ นอกจากนั้นยังมีสิ่งที่มนุษย์มองไม่เห็น แต่ก็สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ ได้แก่ พลังงานต่างๆ เช่น พลังงานความร้อน แสง เสียง และแม่เหล็กไฟฟ้า เป็นต้น
ภาชนะจำพวกโฟม เมื่อใช้ครั้งเดียวก็ต้องทิ้ง ทำให้ต้องใช้พลังงานในการผลิตใหม่
ภาชนะจำพวกโฟม เมื่อใช้ครั้งเดียวก็ต้องทิ้ง ทำให้ต้องใช้พลังงานในการผลิตใหม่
            เมื่อกล่าวถึงสิ่งแวดล้อมเสียหรือเป็นพิษ หมายความว่า สภาพของสิ่งแวดล้อมเกิดการเปลี่ยนแปลงไป จนเกิดผลกระทบต่อการดำรงชีพของมนุษย์ ในปัจจุบันเรามักจะได้ยินที่กล่าวกันว่า ดินเสีย น้ำเสีย อากาศเป็นพิษ และแสงเสียงเป็นพิษ ถ้าลองพิจารณา และวิเคราะห์หาสาเหตุแล้ว จะพบว่า สาเหตุต่างๆ นั้น ส่วนใหญ่เกิดจากการกระทำของมนุษย์นั้นเอง เป็นต้นว่า

            ๑. มนุษย์ตัดไม้ทำลายป่ากันมากขึ้น

            ๒. มนุษย์เผาเชื้อเพลิงตามบ้านเรือน และตามโรงงานอุตสาหกรรมมากขึ้น

            ๓. มนุษย์ผลิตสารสังเคราะห์บางอย่างที่ไม่สลายตัว และสลายตัวยากมากขึ้น เช่น พลาสติก โฟม จึงทำให้เกิดขยะเหล่านี้มากขึ้น ส่วนสารบางอย่างที่เป็นก๊าซ เช่น ฟรีออน ซึ่งใช้ช่วยในการฉีดสเปรย์ และใช้ในเครื่องทำความเย็น ก็จะมีปริมาณเพิ่มขึ้นในอากาศ ฟุ้งกระจายทั่วไป ซึ่งจะไปทำลายโอโซนในบรรยากาศที่ห่อหุ้มโลกไว้ และมีผลกระทบทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น
การเผาไหม้ของเชื้อเพลิงจากยานพาหนะต่าง ๆ จะทำให้ออกไซด์ของไนโตรเจนและคาร์บอนเพิ่มขึ้นในอากาศ
การเผาไหม้ของเชื้อเพลิงจากยานพาหนะต่างๆ จะทำให้ออกไซด์ของไนโตรเจนและคาร์บอนเพิ่มขึ้นในอากาศ
            ๔. มนุษย์สร้างผลิตภัณฑ์ต่างๆ ขึ้นใช้แทนวัตถุดิบที่ได้จากธรรมชาติ เช่น ใช้ไฟเบอร์กลาสแทนไม้ ใช้ฟรีออนแทนแอมโมเนียเหลวในตู้เย็น และใช้ผลซักฟอกแทนสบู่ เป็นต้น เมื่อใช้แล้ว มีสิ่งตกค้างเป็นมลพิษอยู่ในอากาศ ในน้ำ และในดิน ทำให้เกิดผลเสียหายต่อพืช สัตว์ และมนุษย์ด้วยกันเองในที่สุด
            ๕. มนุษย์สร้างอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าบางชนิด ให้มีความร้อน แสง เสียง ที่ทำให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์ได้มากขึ้น

            ๖. มนุษย์สร้างยานพาหนะที่ใช้ในการเดินทาง เช่น จักรยานยนต์ รถยนต์ และยานอวกาศ เพื่อออกไปสำรวจอวกาศนอกโลกมากขึ้น ก๊าซที่เหลือจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง ได้แก่ ออกไซด์ของไนโตรเจน และคาร์บอน จะมีปริมาณเพิ่มขึ้นในอากาศ
สารมลพิษ

            หมายถึง สารต่างๆ ที่มีอยู่ในดิน ในน้ำ และในอากาศ มีปริมาณมากกว่าปกติ ทำให้เกิดผลกระทบ ต่อการดำรงชีพของมนุษย์ พืช และ สัตว์ ถ้าแยกประเภทสารมลพิษออกตามสถานะ จะมีอยู่ ๓ กลุ่ม คือ
สิ่งปฏิกูลจากโรงงานอุตสาหกรรม ก่อให้เกิดน้ำเสียในแม่น้ำลำคลอง ทำให้พืชและสัตว์น้ำบางชนิดตายหรือสูญพันธุ์ได้
ดูรายละเอียดเพิ่มเติม
            ๑. สารมลพิษที่อยู่ในสถานะก๊าซ เช่น ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ คาร์บอนไดออกไซด์ของธาตุกำมะถัน ไนโตรเจน และคลอรีน เป็นต้น

            ๒. สารมลพิษที่อยู่ในสถานะของเหลว เช่น ละอองน้ำกรดต่างๆ ของธาตุกำมะถัน ไนโตรเจนที่ละลายอยู่ในน้ำฝน หรือละลายอยู่ในน้ำใต้ดิน หรืออยู่ในน้ำเสียจากน้ำทิ้งตามบ้านเรือน และจากโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ เมื่อไหลลงสู่แม่น้ำลำคลอง ก็จะทำให้น้ำเสีย ทำให้พืชและสัตว์น้ำบางขนิดตายและสูญพันธุ์

            ๓. สารมลพิษที่อยู่ในสถานะของแข็ง เช่น เขม่า ควัน สารสังเคราะห์บางอย่างที่ใช้แล้ว สลายตัวยาก เช่น ถุงพลาสติก โฟม และไฟเบอร์ เป็นต้น ทำให้มีขยะปะปนอยู่ในน้ำ และในดินอยู่ทั่วไป
การตัดไม้ทำลายป่า ทำให้เกิดปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อมตามมาในภายหลัง
การตัดไม้ทำลายป่า ทำให้เกิดปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อมตามมาในภายหลัง
สภาวะที่เป็นพิษและที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์

            ๑. อากาศที่หายใจไม่บริสุทธิ์ มีเขม่า ควัน ปะปนมา ตลอดจนมีกลิ่นเหม็น และมีก๊าซที่เป็นอันตรายต่อระบบหายใจของมนุษย์

            ๒. น้ำท่วมไร่นา บ้านเรือน ถนน เสียหายโดยฉับพลัน

            ๓. น้ำแข็งที่ขั้วโลกละลายมากขึ้น ทำให้น้ำทะเลมีระดับสูง และไหลเข้ามาปนกับน้ำจืด ในแม่น้ำลำคลองมากขึ้น ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อบ้านเรือน และพืชที่ปลูกไว้ริมน้ำ

            ๔. ฝนเป็นกรด ทำลายพืชพันธุ์ธัญญาหาร ทำลายดิน ทำให้ปลูกพืชไม่งอกงาม

            ๕. โลกจะร้อนขึ้น

            ๖. ฤดูกาลจะปรวนแปร

            ๗. ชั้นโอโซนถูกทำลาย และไม่ช่วยกรองรังสีอันตราย ทำให้ตาเป็นต้อ และผิวหนังเป็นมะเร็ง

การเกิดมลพิษในสิ่งแวดล้อม

            ๑. มลพิษที่เป็นก๊าซของเหลว และของแข็งนั้น จะเกิดขึ้นจากธรรมชาติ จากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง จากการตัดไม้ทำลายป่า และจากการปนเปื้อนแทรกซึมของสารสังเคราะห์บางชนิด ที่มนุษย์เราผลิตใช้กันมากขึ้น

            ๒. มลพิษที่เป็นพลังงาน เช่น พลังงานความร้อน ที่ทำให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น เนื่องมาจากการตัดไม้ทำลายป่า การทำลายโอโซนในบรรยากาศที่ห่อหุ้มโลกไว้ การสร้างยานพาหนะ ที่มีการเผาไหม้สูง หรือมีการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ เป็นต้น ส่วนมลพิษที่เป็นพลังงานชนิดอื่น เช่น แสง เสียง และแม่เหล็กไฟฟ้านั้น ก็เกิดจากการที่มนุษย์ผลิตสินค้า และผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ไปทำลายประสาทหู ตา และประสาทสัมผัสอื่นของมนุษย์มากขึ้น
ถ้าใช้ใบตองห่ออาหาร เป็นการควบคุมและป้องกันภาวะมลพิษเพราะไม่ต้องใช้พลังงานในการผลิต
ถ้าใช้ใบตองห่ออาหาร เป็นการควบคุมและป้องกันภาวะมลพิษเพราะไม่ต้องใช้พลังงานในการผลิต
การควบคุมและการป้องกันแก้ไขปัญหามลพิษ

            เมื่อทราบสาเหตุ และการเกิดมลพิษในสิ่งแวดล้อมแล้ว เราก็จะสามารถแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ ถ้าทุกคนทุกฝ่ายให้ความร่วมมือกัน เช่น

            ๑. ช่วยกันปลูกต้นไม้ให้มากขึ้น ไม่ตัดไม้ทำลายป่าโดยไม่จำเป็น

            ๒. ดูแลรถยนต์ไม่ให้มีควันดำ และหมั่นปรับเครื่องยนต์เสมอ

            ๓. ประหยัดพลังงานไฟฟ้า เพราะมีส่วนช่วยลดเขม่าควัน ก๊าซไอเสียต่างๆ ตลอดจนกรด จึงช่วยป้องกัน และลดฝนกรด ตลอดจนลดก๊าซ ซึ่งทำให้โลกร้อนขึ้น

            ๔. เลือกใช้ของอย่างประหยัด โดยคิดถึงประโยชน์ระยะยาว หากใช้ได้ซ้ำแล้ว ซ้ำอีก ย่อมดีกว่าใช้แล้วทิ้งทุกครั้ง เข่น ขวดแก้วใช้ได้ครั้งแล้วครั้งเล่า แต่กระป๋องใช้ได้ครั้งเดียว จึงต้องใช้พลังงานผลิตอยู่ร่ำไป

            ๕. ใช้วัสดุธรรมชาติ เช่น ใบตอง ดีกว่าวัสดุสังเคราะห์ ซึ่งได้แก่ ถุงพลาสติก กล่องโฟมเก็บรักษาความร้อน หรือความเย็น

            นอกจากนี้อาจจะมีวิธีอื่นๆ อีก ที่สามารถแก้ไข ควบคุม และป้องกันภาวะมลพิษ และสารมลพิษได้ หากเราทราบสาเหตุ ตัวต้นเหตุ และการเกิดที่แน่นอน และชัดเจน