เล่มที่ 15
การเลี้ยงผึ้งโพรงไทย
เล่นเสียงเล่มที่ 15 การเลี้ยงผึ้งโพรงไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ประวัติการเลี้ยงผึ้งโพรงในประเทศไทย

            การเลี้ยงผึ้งโพรงในประเทศไทย เชื่อว่า มีมานานนับร้อยปีแล้ว ในระยะแรกๆ คนเลี้ยงผึ้งใช้โพรงไม้ หรือวัสดุที่เป็นโพรง ให้ผึ้งเข้าไปทำรังอยู่ ต่อมาจึงมีการพัฒนาใช้หีบไม้ในการเลี้ยงผึ้งโพรง


            ปัจจุบันมีการเลี้ยงผึ้งโพรงมากที่สุดที่เกาะสมุย และภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งส่วนมากนิยมเลี้ยง แบบให้ผึ้งเข้าไปทำรังอยู่ในหีบไม้ตามธรรมชาติ ไม่มีคอนให้ผึ้งเกาะ และเคลื่อนย้ายไม่ได้ แต่การศึกษาของหน่วยวิจัยชีววิทยาของผึ้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า สามารถนำผึ้งโพรงมาเลี้ยงในรังมาตรฐาน แบบเดียวกับผึ้งโพรงฝรั่ง โดยใช้แผ่นรังเทียม ให้ผึ้งสร้างรวงรังเกาะอยู่กับคอนไม้ ทำให้เคลื่อนย้าย และสลัดเอาน้ำผึ้งออกจากรวงรังได้ง่าย สามารถเพิ่มจำนวนประชากรผึ้งได้เป็นจำนวนมากอย่างรวดเร็ว การใช้เทคนิคการเพาะผึ้งนางพญา และเปลี่ยนนางพญาใหม่ทุกๆ ๖ เดือน ช่วยลดอัตราการแยกและหนีรังได้ด้วย

ผึ้งโพรงอาศัยในโพรงต้นมะพร้าว

            มีบันทึกใน พ.ศ. ๒๔๘๓ เกี่ยวกับการเลี้ยงผึ้งโพรงฝรั่งครั้งแรก โดยศาสตราจารย์ศุภชัย วานิชวัฒนา ขณะเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่ามีการนำผึ้งพันธุ์จากต่างประเทศเข้ามาครั้งแรก เพื่อการศึกษาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมาที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ใน พ.ศ. ๒๔๙๖ ศาสตราจารย์ หลวงสมานวนกิจ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้สั่งผึ้งจากออสเตรเลียเข้ามา แต่ในระยะแรกๆ การเลี้ยงผึ้งโพรงฝรั่งไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากปัญหาศัตรูผึ้ง และผู้เลี้ยงขาดความรู้พื้นฐานทางด้านชีววิทยา และการจัดการผึ้งที่เหมาะสม ดังนั้นการเลี้ยงผึ้งในระดับอุตสาหกรรมจึงไม่เกิดขึ้น จนกระทั่งเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๕๒๐ บริษัทเอกชนได้สั่งผึ้งโพรงฝรั่งมาจากต่างประเทศ เพื่อขยายพันธุ์ผึ้ง และผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากผึ้ง จนสามารถส่งออกไปขายต่างประเทศได้

ชนิดของผึ้งเลี้ยง

ผึ้งที่เลี้ยงในประเทศไทยมีอยู่ ๒ ชนิด คือ ผึ้งโพรงไทย และผึ้งโพรงฝรั่ง

รังผึ้งโพรงตามธรรมชาติ

ผึ้งโพรงไทย

            เป็นผึ้งพื้นเมืองของประเทศไทย ซึ่งเลี้ยงโดยเกษตรกรในชนบททั่วไป พบมากในแถบจังหวัดภาคใต้ เช่น ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี ที่เกาะสมุย นิยมเลี้ยงผึ้งโพรงมากที่สุด ส่วนใหญ่ใช้วิธีสร้างหีบเลี้ยงง่ายๆ คอยดักหรือย้ายรังผึ้งจากโพรงไม้ในธรรมชาติลงในหีบเลี้ยง และคอยเวลาเก็บน้ำผึ้งในฤดูดอกไม้บาน ดังนั้นการเลี้ยงผึ้งโพรงไทยจึงเริ่มเลี้ยงได้ง่าย และลงทุนน้อยกว่าผึ้งโพรงฝรั่ง เหมาะสำหรับการเลี้ยงเป็นอาชีพเสริมในระดับครอบครัว หรือเป็นงานอดิเรก ผึ้งโพรงไทยสามารถผลิตน้ำผึ้งได้ประมาณ ๕-๒๐ กิโลกรัมต่อรังต่อปี

รังผึ้งโพรงไทย

            ผึ้งโพรงไทยเป็นผึ้งที่มีขนาดลำตัวยาว ๑๑-๑๒ มิลลิเมตร มีขนาดลำตัวใหญ่กว่าผึ้งมิ้ม แต่เล็กกว่าผึ้งโพรงฝรั่ง มีพฤติกรรมสร้างรังตามโพรงไม้ ภายในหลังคาบ้าน และบริเวณที่มิดชิด ภายในเป็นโพรง มีรูเข้าออกเป็นช่องเล็กๆ สร้างรวงรังซ้อนกันหลายชั้น เก็บน้ำผึ้งได้เป็นจำนวนมาก มีนิสัยไม่ดุร้าย สามารถนำมาเลี้ยงได้ แต่ผึ้งโพรงมีพฤติกรรมแยกรังบ่อยครั้ง ถ้าขาดแคลนอาหาร และมีศัตรูรบกวน มักจะทิ้งรังไปเลย อย่างไรก็ตามพบว่า มีวิธีการควบคุมการแยกรัง และทิ้งรังของผึ้งโพรงไทยได้

ผึ้งโพรงฝรั่งแสดงพฤติกรรมการกระพือปีกที่แตกต่างจากผึ้งโพรงไทย คือหันหน้าเข้ารังทั้งหมด

ผึ้งโพรงฝรั่ง

            เป็นผึ้งที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ปัจจุบันนิยมเลี้ยงกันมากในจังหวัดภาคเหนือคือ พิษณุโลก อุตรดิตถ์ แพร่ น่าน ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ และเชียงราย ผึ้งโพรงฝรั่งมีประชากรผึ้งงานในรังมากกว่าผึ้งโพรงไทยคือ ผึ้งโพรงฝรั่งมีประมาณ ๔๐,๐๐๐ - ๕๐,๐๐๐ ตัวต่อรัง แต่ผึ้งโพรงไทยมีประมาณ ๒๐,๐๐๐ - ๓๐,๐๐๐ ตัวเท่านั้น ดังนั้นผึ้งโพรงฝรั่งจึงสามารถหาน้ำผึ้ง และสะสมน้ำผึ้งได้มากกว่าผึ้งโพรงไทย จึงเป็นที่นิยมเลี้ยง เพื่อการค้าในระดับอุตสาหกรรม ปัจจุบันมีการเลี้ยงผึ้งโพรงฝรั่งกันมากกว่า ๕๐,๐๐๐ รัง ผู้เลี้ยงผึ้งแบ่ง ออกเป็น ๓ กลุ่ม คือ

            ๑) เลี้ยงเป็นงานอดิเรกและอาชีพเสริม ๑-๕๐ รัง
            ๒) เลี้ยงเป็นการค้าในระดับครอบครัว ๕๐-๒๐๐ รัง
            ๓) เลี้ยงในระดับอุตสาหกรรมการเกษตร ๒๐๐-๒,๐๐๐ รัง ผึ้งโพรงฝรั่ง สามารถผลิตน้ำผึ้งได้มากถึง ๒๐-๑๐๐ กิโลกรัมต่อรังต่อปี