ทุกวันนี้หากเราต้องการเดินทางไปต่างประเทศ และภายในประเทศ ให้ถึงที่หมายเร็วที่สุด ก็ต้องเดินทางทางอากาศ หรือขึ้นเครื่องบินไป ผู้เดินทาง หรือเรียกกันว่า ผู้โดยสาร จะต้องไปขึ้นเครื่องบินที่ท่าอากาศยาน ซึ่งคนทั่วไปมักเรียกว่า สนามบิน
ท่าอากาศยานแบ่งเป็นหลายประเภท แต่ที่รู้จักกันทั่วไปมี ๒ ประเภทคือ ท่าอากาศยานระหว่างประเทศ และท่าอากาศยานภายในประเทศ ในปัจจุบันประเทศไทย มีท่าอากาศยานระหว่างประเทศ และภายในประเทศ ที่ใช้ในกิจการพาณิชย์ ๒๘ แห่ง เป็นท่าอากาศยานระหว่างประเทศ ๗ แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานกรุงเทพ ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานหาดใหญ่ ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานอุบลราชธานี ท่าอากาศยานเชียงราย และสนามบินอู่ตะเภา นอกจากนั้นเป็นท่าอากาศยานภายในประเทศ ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดต่างๆ ได้แก่ ท่าอากาศยานพิษณุโลก ท่าอากาศยานอุดรธานี ท่าอากาศยานลำปาง ท่าอากาศยานขอนแก่น ท่าอากาศยานแพร่ ท่าอากาศยานน่าน ท่าอากาศยานหัวหิน ท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช ท่าอากาศยานปัตตานี ท่าอากาศยานตรัง ท่าอากาศยานแม่ฮ่องสอน ท่าอากาศยานนครราชสีมา ท่าอากาศยานแม่สอด ท่าอากาศยานตาก ท่าอากาศยานสกลนคร ท่าอากาศยานเลย ท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานี ท่าอากาศยานนราธิวาส ท่าอากาศยานนครพนม ท่าอากาศยานระนอง และท่าอากาศยานบุรีรัมย์
ท่าอากาศยานจะต้องประกอบไปด้วยส่วนสำคัญ ๓ ส่วน คือ
ส่วนแรกต้องมีทางวิ่ง ซึ่งก็คือ ถนนให้เครื่องบินวิ่งขึ้นและลง แต่มีความแข็งแรงทนทานกว่าถนนทั่วๆ ไป เพราะทางวิ่งต้องรองรับเครื่องบิน ที่มีน้ำหนักมากกว่ารถหลายเท่า ความยาวของทางวิ่งที่ท่าอากาศยานแต่ละแห่งอาจไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับขนาดของท่าอากาศยานแต่ละแห่ง โดยจะมีความยาวเริ่มตั้งแต่น้อยกว่า ๘๐๐ เมตร จนถึงยาวมากกว่า ๑,๘๐๐ เมตร ซึ่งที่ท่าอากาศยานกรุงเทพ หรือสนามบินดอนเมือง มีทางวิ่งยาวมากกว่า ๓,๐๐๐ เมตร สำหรับจำนวนของทางวิ่งนั้น ท่าอากาศยานขนาดเล็ก โดยทั่วไปมีทางวิ่งหนึ่งทางวิ่ง ส่วนท่าอากาศยานขนาดใหญ่ อาจมีทางวิ่งหลายทางวิ่ง เพื่อให้เครื่องบินวิ่งขึ้นและลงได้มากกว่า ๑ เครื่อง ในเวลาเดียวกัน
ส่วนสำคัญ ส่วนที่สอง คือ หอบังคับการบิน มีรูปร่างเป็นอาคารสูง ส่วนบนสุดเป็นห้อง มีกระจกล้อมรอบ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่ทำงานในหอบังคับการบินมองเห็นรอบๆ ท่าอากาศยานได้อย่างชัดเจน หอบังคับการบินมีรูปร่างหลายแบบอาจเป็นสี่เหลี่ยม หกเหลี่ยม หรือแปดเปลี่ยมก็ได้ ภายในหอบังคับการบินมีเครื่องมือทันสมัย เช่น เรดาร์ เพื่อควบคุมเครื่องบิน ทั้งเวลาเคลื่อนที่บนพื้นดิน และเมื่อบินอยู่ในอากาศ มีวิทยุติดต่อสื่อสาร เพื่อติดต่อกับนักบิน มีเครื่องวัดทิศทางลม มีเจ้าหน้าที่ทำงาน ในหอบังคับการบิน ซึ่งทำหน้าที่จัดการจราจรให้เครื่องบินเปรียบได้กับตำรวจจราจร
ส่วนที่สาม คือ อาคารผู้โดยสาร และอาคารคลังสินค้า ซึ่งเป็นสถานที่ให้ผู้โดยสาร และสินค้า พักรอก่อนขึ้นเครื่องบิน อาคารผู้โดยสารมีรูปร่างหลายแบบ ส่วนสำคัญที่อยู่ในอาคารผู้โดยสารคือ บริเวณตรวจบัตรโดยสาร บริเวณห้องพักรอ หรือเรียกว่า ห้องผู้โดยสาร บริเวณที่ตรวจค้นร่างกายผู้โดยสาร เพื่อป้องกันการนำอาวุธขึ้นเครื่องบิน (และถ้าเป็นอาคาร สำหรับผู้โดยสาร ที่จะเดินทางไปต่างประเทศ จะต้องมีบริเวณตรวจหนังสือเดินทาง และบริเวณของศุลกากรด้วย) นอกจากนั้น ในอาคารผู้โดยสารจะมีธุรกิจประเภทต่างๆ ที่จะให้บริการผู้โดยสาร เช่น ร้านขายของที่ระลึก ร้านอาหาร ร้านเสริมสวย ร้านขายหนังสือ ธนาคาร รถรับส่ง เป็นต้น อาคารผู้โดยสารของท่าอากาศยานขนาดใหญ่ เช่น ท่าอากาศยานกรุงเทพ มีผู้โดยสารเข้า ออก และผ่าน เป็นจำนวนมากถึงประมาณ ๒๕ ล้านคน ในปี พ.ศ. ๒๕๓๙
สำหรับอาคารคลังสินค้า เป็นสถานที่ให้สินค้าพักรอก่อนขึ้นเครื่องบิน มีลักษณะเป็นอาคาร ที่มีภายในเป็นพื้นที่โล่ง เพื่อให้วางสินค้าได้เป็นจำนวนมาก และจะมีเครื่องมือต่างๆ ที่เกี่ยวกับการขนส่งสินค้า เช่น เครื่องชั่งน้ำหนักสินค้า รถยกสินค้า ชั้นวางสินค้า เป็นต้น นอกจากนั้น ภายในอาคารคลังสินค้า จะมีเจ้าหน้าที่ทำงานอยู่เป็นจำนวนมาก อาทิ เจ้าหน้าที่ศุลกากร เจ้าหน้าที่สายการบิน และเจ้าหน้าที่บริษัทรับส่งสินค้า