เล่มที่ 12
แผนที่
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การรังวัดทำแผนที่ในประเทศไทย

            ในระยะนี้ ได้มีปัญหาเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดิน สู่ศาลบ่อยขึ้น ผลของการจัดระเบียบที่ดินที่หนักไปในแง่สำรวจ ตรวจเก็บภาษีอากรเกี่ยวกับที่ดิน โดยเจ้าหน้าที่ผู้เก็บภาษีอากรออกหนังสือสำคัญ ให้เจ้าของที่ดินยึดถือไว้นั้น ไม่อาจระงับข้อพิพาทโต้แย้งในปัญหาเรื่องกรรมสิทธิ์ได้ เพราะหนังสือสำคัญของเจ้าพนักงานภาษีอากร มีข้อความไม่กระจ่างว่า ผู้ใดมีสิทธิ์อยู่ในที่ดินเพียงใดอย่างใด ส่วนมากมักระบุเพียงว่า ได้ทำอาสิน (ผลประโยชน์รายได้อันเกิดจากต้นผลไม้) ปลูกไม้ผลพืชพันธุ์ อะไรอันควรเรียกเก็บอากรได้บ้าง จึงไม่เป็นหลักฐานพอ ที่จะใช้สืบผันสิทธิ์กันระหว่างคู่พิพาทได้ สมเด็จพระปิยมหาราชทรงประสบถึงความเดือดร้อนของราษฎร ในกรณีพิพาทเรื่องที่ดินดังกล่าว จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงเกษตรพาณิชยการ จัดดำเนินงานเรื่องสิทธิ ในที่ดินให้รัดกุมยิ่งขึ้น แต่การที่จะสร้างหลักฐานเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ให้เห็นได้ชัดแจ้ง ลงไว้ในโฉนด จะต้องมีการทำแผนที่ระวางรายละเอียดเรียกว่า การทำแผนที่โฉนด (cadastral survey) เมื่อโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์มาดำรงตำแหน่งเสนาบดี วันที่ ๒ กันยายน ร.ศ. ๑๑๘ (พ.ศ. ๒๔๔๒) การทำทะเบียนที่ดิน ให้เป็นหลักฐานเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ก็ได้เริ่มขึ้นอย่างจริงจัง และรีบด่วน ด้วยทรงพระราชดำริเห็นว่า ที่ดินมีราคาสูงยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อนเป็นอันมาก ย่อมเป็นเหตุให้ราษฎรมีคดีพิพาทกัน ด้วยเรื่องที่ดินชุกชุมขึ้น สมควรจัดระเบียบสิ่งสำคัญ อันเป็นหลักฐานสำหรับที่ดิน ให้มีสิ่งหมายเขตที่ดินนั้นๆ ให้มั่นคงยิ่งขึ้นตามกาลสมัย

            ในการทำแผนที่รังวัดที่ดินสำหรับออกหนังสือ สำคัญแสดงกรรมสิทธิ์แผนที่ที่ทันสมัย ได้โปรดเกล้าฯ ให้ออกประกาศ พระบรมราชโองการ ลงวันที่ ๓ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๒๐ (พ.ศ. ๒๔๔๔) ให้ พระยาประชาชีพบริบาล (ผึ่ง ชูโต) เป็นข้าหลวงเกษตร ให้อยู่ในบังคับบัญชาของเทศาภิบาลมณฑล กรุงเก่า ออกไปดำเนินการออกโฉนดที่ดิน โดย กำหนดท้องที่ทิศใต้ ตั้งแต่แยกบางไทรขึ้นไปตามฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทิศตะวันตก และตามฝั่งแม่น้ำแควอ่างทอง ทิศตะวันออกไปจนถึงคลองตะเคียน เป็นที่สุดฝ่ายเหนือ มีหน้าที่ทำการทั้งธุรการและตุลาการเช่นข้าหลวงพิเศษครั้งก่อน

            นายกิบลิน (ผู้ซึ่งได้เป็นเจ้ากรมแผนที่ต่อ จากพระวิภาคภูวดล) ได้รับแต่งตั้งจากเจ้ากรมให้ เป็นผู้ควบคุมงานด้านนี้ ทุกแผนกได้ใช้เวลามาก ในการค้นคิดรูปแบบที่จะให้ผลงานสำเร็จออกมา จนเป็นรูปโฉนดที่ใช้ในสมัยนั้น และนำระบบทะเบียนที่ดิน ของเซอร์ โรเบิร์ต ทอเรนส์ (Sir Robert Torens) มาใช้ประกอบการทำทะเบียน เป็นทางให้แก้ไข และขจัดความยุ่งยากในกิจการผลิต หนังสือสำคัญสำหรับแสดงกรรมสิทธิ์ได้อย่างมี หลักเกณฑ์ที่ดี

            การแผนที่ได้เริ่มทำแผนที่รังวัดที่ดินโดยด่วน สามารถให้ข้าหลวง และเจ้าพนักงานแแผนที่เริ่ม ทำการเดินสำรวจ ปักที่หมายเขตที่ดินเป็นครั้งแรก ในวันที่ ๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๔๔ แล้วมี ประกาศตั้งหอทะเบียนที่ดินเมืองกรุงเก่าขึ้น ที่ประภาคารราชประยูร ในพระราชวังบางปะอิน เป็นหอทะเบียนแห่งแรกในประเทศไทย และปลัดกรมแผนที่ได้รับแต่งตั้งเป็นนายทะเบียน

            วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๔๔ เป็นประวัติการณ์ที่ได้มีการประกอบพิธีพระราชทานโฉนด แก่ราษฎรผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน ด้วยพระหัตถ์ ในวันนั้นเป็นปฐมฤกษ์ ณ พระที่นั่งวโรภาสพิมาน พระราชวังบางปะอิน เป็นโฉนดสำหรับนาหลวง ๑ โฉนด และที่ดินของเอกชน ๓ โฉนด

            ตั้งแต่วันพระราชพิธีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานโฉนดที่พระราชวัง บางปะอิน งานแผนที่ของกรมแผนที่ส่วนใหญ่ เป็นงานทำแผนที่รายละเอียด ในการสร้างหนังสือสำคัญ (โฉนดที่ดิน) ได้มีการทำแผนที่เมือง อำเภอ และพื้นที่บริเวณบางแห่ง มีลักษณะเป็นแผนที่ภูมิประเทศ รังวัดด้วยโต๊ะราบ (plane table)

            อีก ๘ ปีต่อมาได้มีคำสั่งให้โอนสังกัดกรม แผนที่จากกระทรวงเกษตราธิการไปขึ้นกับกระทรวงกลาโหม

            ภายหลังกรมแผนที่ได้โอนไปสังกัดกระทรวง กลาโหม ๑ ปีเศษ ทางกระทรวงกลาโหมได้มีคำสั่ง ให้โอนพนักงานในกองแผนที่รายละเอียด ทั้งหมด ๖๘ นาย ไปให้กระทรวงเกษตราธิการ กองนี้ได้เปลี่ยนสภาพต่อมา เป็นกรมรังวัดที่ดิน มีเจ้ากรมเป็นหัวหน้ากรมคือ พระยาคำนวณคัคนานต์ เป็นเจ้ากรมคนแรก ท่านผู้นี้เคยเป็นปลัดกรม แผนที่ และเคยร่วมงานกับพระวิภาคภูวดล และ ในเวลาใกล้เคียงกัน (พ.ศ. ๒๔๔๔) ทางกระทรวง เกษตราธิการ ได้ตั้งกรมใหม่ให้ชื่อว่า กรมทะเบียนที่ดิน มีนายเกรแฮม (Greham) ที่ปรึกษา กระทรวงเกษตราธิการ รักษาการเป็นเจ้ากรม

            ภายใน พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้มีการยุบและรวม ๓ กรมในกระทรวงเกษตราธิการคือ กรมรังวัด ที่ดิน กรมทะเบียนที่ดิน และกรมราชโลหกิจ เข้าเป็นกรมเดียวกันให้ชื่อว่า กรมที่ดิน ในสังกัด กระทรวงมหาดไทย

            ต่อมามีการตั้งกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ ย้ายงานของกรมราชโลหกิจไปขึ้นกับกระทรวง อุตสาหกรรม ให้ชื่อว่า กรมทรัพยากรธรณี

            เมื่อกรมแผนที่ได้มาขึ้นกับกระทรวงกลาโหม อีก ทางราชการต้องการการสำรวจแผนที่ภูมิประเทศมาตรฐาน ให้ครอบคลุมพื้นที่ ของประเทศ ให้ได้เร็วเท่าที่จะจัดทำไปได้

            แผนที่ภูมิประเทศมาตรฐานกำหนดมาตราส่วนไว้ ๑:๕๐,๐๐๐ แตกต่างกันกับแผนที่รังวัด ที่ดิน ซึ่งมีมาตราส่วนใหญ่ ๑:๑,๐๐๐ ถึง ๑: ๔,๐๐๐ ตามลักษณะพื้นที่ภูมิประเทศโดยทั่วไป สำหรับไร่ นา สวน โดยปกติใช้มาตราส่วน ๑: ๔,๐๐๐

            ในการวางโครงหมุดหลักฐานชั้นที่ ๑ ซึ่ง ต้องทำก่อน ทางกรมแผนที่ได้ทำไปบ้างแล้ว แต่ ก็ยังต้องทำอีกมาก เมื่อกรมแผนที่กลับมาสังกัดกระทรวงกลาโหม พ.ศ. ๒๔๕๒ มีที่ได้ทำไปส่วน หนึ่งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๔ โดยเริ่มสายสามเหลี่ยมที่เชียงใหม่ ไปทางเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ พอทำไปจนเลยหลวงพระบางไม่มาก ก็ต้องหยุดชะงักลง เพราะเกิดคดีพิพาทกับฝรั่งเศส สาย สามเหลี่ยมนี้ได้มีการโยงยึดติดต่อกับสายสาม- เหลี่ยมของสถาบันการแผนที่อินเดีย ที่เหนือเชียงใหม่ ส่วนใหญ่ของสายสามเหลี่ยมนี้ตกไปอยู่ในดินแดนของอินโดจีนฝรั่งเศส

            งานทำแผนที่ของกรมแผนที่ คงดำเนินไป ตามที่ได้กล่าวไว้ในเรื่องภารกิจหลักของสถาบัน การทำแผนที่ การสำรวจเพื่อทำแผนที่ทางพื้นดิน ในเวลาต่อมาได้มีการสำรวจ โดยใช้รูปถ่ายทางอากาศ ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป