เล่มที่ 12
แผนที่
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
            ภารกิจหลักของสถาบันการทำแผนที่ก็คือ การสำรวจ เพื่อทำแผนที่พื้นดินภายในประเทศ การสำรวจนี้ ได้มีวิวัฒนาการมาเป็นลำดับ ตามความเจริญก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์ทางด้านนี้ ภารกิจหลักดังกล่าวนี้เอง ได้เชื่อมโยงกับวิทยาศาสตร์โลกบางสาขา ที่เกี่ยวพันโดยใกล้ชิดกับการสำรวจ เพื่อทำแผนที่ เช่น การสำรวจ เพื่อหาขนาดและสภาวะกายภาพบางประการของโลก ที่มีชื่อว่า งาน จีออเดซี (geodesy) และธรณีฟิสิกส์ (geophysics)

แผนภาพแสดงการโยงหมุดหลักฐานระวางงานวงรอบชั้นที่ ๑กับงานสามเหลี่ยม ชั้นที่ ๑ ที่จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๔-๗๕ และ พ.ศ. ๒๔๘๐-๘๑

            การทำแผนที่ต้องให้ได้ลักษณะสำคัญ ความ ถูกต้องสมจริงของตำแหน่งที่ตั้งของรายละเอียด ต่างๆ ซึ่งเรียกว่า ตำบลที่ (position) และของที่มีระดับสูง (elevation) ของรายละเอียดนั้นๆ จาก พื้นระดับมูลฐาน ซึ่งจะต้องแสดงในแผนที่ให้ตรง ตามที่เป็นจริงบนผิวโลก จึงต้องมีการดำเนินงานสำรวจรังวัด เพื่อให้ได้ตำบลที่ที่ถูกต้องของจุดบางจุด บนผิวโลก เรียกว่า หมุดหลักฐานบังคับทางแนวราบ (horizontal control) และจุดที่มีระดับสูงถูกต้อง เรียกว่า หมุดหลักฐานบังคับทางแนวดิ่ง (vertical control) ซึ่งจะใช้เป็นกรอบบังคับให้จุดต่างๆ ใน บริเวณใกล้เคียงมีความถูกต้องตามไปด้วย

            การวางหมุดหลักฐานทางแนวราบให้มีจำนวน มากพอ และมีกระจายอยู่ทั่วประเทศ เพื่อใช้เป็นกรอบบังคับความถูกต้องของตำบลที่ ของจุดต่างๆ ในแผนที่นั้น ทำได้โดยเลือกจุดในภูมิประเทศที่ จะใช้เป็นที่วางหมุดหลักฐานก่อน แล้วทำการรังวัด เพื่อเชื่อมโยงจุดเหล่านั้น ให้เป็นรูปสามเหลี่ยม ในบริเวณพื้นที่ที่เป็นภูเขา จะเลือกยอดเขาที่สูงเด่น เป็นจุดที่จะใช้เป็นที่วางหมุดหลักฐาน แล้วรังวัดเชื่อมโยงจุดเหล่านั้น ให้เป็นรูปสามเหลี่ยม เรียกว่า งานสามเหลี่ยม (triangulation) รูปสามเหลี่ยมนี้จะวางต่อเนื่องกันไปหลายๆ รูปจนทั่วบริเวณที่ต้องการ เรียกว่า โครงข่ายการสามเหลี่ยม (triangulation net) และเพื่อให้นำกฎเกณฑ์ทางคณิตศาสตร์ มาใช้ในการคำนวณได้ ในการทำงานสามเหลี่ยม จึงต้องมีการกำหนดเส้นฐาน (base line) ขึ้น ได้แก่ แนวตรงที่วัดความยาวไว้ด้วยวิธีการอันละเอียด และประณีต เพื่อใช้เป็นฐานในการคำนวณ หรือสอบเทียบความยาวของด้านต่างๆ ของรูปสามเหลี่ยมแต่ละรูปในโครงข่าย ส่วนในบริเวณที่เป็นพื้นราบ จะเลือกจุดสำหรับวางหมุดหลักฐาน ให้ลัดเลาะไปตามตำแหน่งต่างๆ ทั่วบริเวณ แล้วรังวัด เชื่อมโยงจุดเหล่านั้น ด้วยเส้นตรงต่อเนื่องกัน ไป เพื่อนำผลการรังวัดไปคำนวณหาตำบลที่ต่อไป เรียกว่า งานวงรอบ (traverse)