เล่มที่ 12
แผนที่
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การทำแผนที่ตามพระราชดำริ

            พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริให้กรมแผนที่ทหาร จัดทำแผนที่ชนิดต่างๆ เพื่อที่จะได้ทรงนำไปใช้ ในการพิจารณาแหล่งน้ำธรรมชาติ หรือจัดพัฒนาที่ดินให้แก่ราษฎร สำหรับประโยชน์สุขแก่ราษฎร ของพระองค์ท่าน กรมแผนที่ทหารได้เริ่มจัดทำแผนที่ตามพระราชประสงค์ เริ่มจากโครงการจัดพัฒนาที่ดินฯ ตามพระราชประสงค์ "หุบกะพง" ตำบลเขาใหญ่ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เป็นแผนที่มาตราส่วน ๑:๑๐,๐๐๐ เส้นชั้นความสูง ๒ เมตร เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๕ และได้เพิ่มรายละเอียดใหม่เดือน กรกฎาคม ๒๕๒๕ โครงการจัดพัฒนาที่ดิน ตามพระราชประสงค์ "หนองพลับ" ตำบลหนองพลับ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มาตราส่วน ๑:๔,๐๐๐, ๑:๑๐,๐๐๐ เส้นชั้นความสูง ๐.๐๕ เมตร และ ๒ เมตร ตามลำดับ โดยใช้รูปถ่ายมาตราส่วน ๑:๕,๐๐๐, ๑:๑๐,๐๐๐ และ ๑:๒๕,๐๐๐ เมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๑๕ เดือนกรกฎาคม ๒๕๑๖ และเดือนพฤศจิกายน ๒๕๑๙ ทั้งสองบริเวณได้มีการสำรวจทางภูมิประเทศ เพื่อหาค่าจุดบังคับรูปถ่ายทางอากาศ แล้วจึงเขียนแผนที่ จากเครื่องมือเขียนแผนที่จากรูปถ่ายทางอากาศ นำมาประกอบระวางลงหมึกเป็นลายเส้นสีดำ บนแผ่นพลาสติกใส สำหรับตัวเลข ตัวหนังสือ ใช้ช่างเขียนผู้มีความสามารถเขียนด้วยมือทั้งสิ้น เมื่อเสร็จเป็นต้นร่างใสแล้ว จึงพิมพ์เป็นพิมพ์เขียว นำไปใช้ในราชการ โดยหน่วยงานของกระทรวงพัฒนาการในสมัยนั้นเป็นผู้ใช้

            ต่อมาเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ ได้มี การจัดทำแผนที่บริเวณพระตำหนักจิตรลดาขึ้นใน มาตราส่วน ๑:๑,๕๐๐ จัดทำโดยวิธีการทำแผนที่จากรูปถ่ายทางอากาศ ใช้รูปถ่ายมาตราส่วน ๑:๖,๐๐๐ หลังจากเขียนแล้ว ได้ส่งเจ้าหน้าที่กองทำแผนที่ ไปสำรวจเพิ่มเติมรายละเอียด ที่ยังไม่ปรากฏบนแผ่นต้นร่างให้สมบูรณ์ขึ้นอีก

            โครงการสหกรณ์ห้วยสัตว์ใหญ่ เป็นอีก โครงการหนึ่งที่กรมแผนที่ทหาร รับสนองพระราชประสงค์จัดทำขึ้นในบริเวณห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ด้วยความ มุ่งหมายที่จะจัดสรรที่ดินให้แก่ราษฎรเช่นเดียวกัน แผนที่บริเวณนี้จัดทำขึ้น เช่นเดียวกับโครงการจัดพัฒนาที่ดินตามพระราชประสงค์ "หนองพลับ" ตำบลหนองพลับ และโครงการ "หุบกะพง" จัดพัฒนาที่ดินฯ ตามพระราชประสงค์ เป็นแผนที่ภูมิประเทศมาตราส่วน ๑:๑๐,๐๐ เส้นชั้นความ สูง ๒ เมตร ใช้รูปถ่ายทางอากาศ มาตราส่วน ๑:๒๐,๐๐๐


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงศึกษา และใช้แผนที่ ประกอบพระราชดำริ ในการพัฒนาที่ดินและแหล่งน้ำ สำหรับราษฎร

            สำนักพระราชวังมีความประสงค์ให้กรม แผนที่ทหาร จัดทำแผนผังพระตำหนักต่างๆ ใน พ.ศ. ๒๕๒๒ ในมาตราส่วน ๑:๑,๕๐๐ ใช้รูปถ่าย ทางอากาศ มาตราส่วน ๑:๖,๐๐๐ เมื่อดำเนินการ ทำต้นร่างเสร็จแล้ว กองพิมพ์ กรมแผนที่ทหาร ได้พิมพ์เป็นสีขาวดำ เพื่อมอบให้แก่สำนักพระราชวังได้แจกจ่ายแก่ผู้รับผิดชอบในการรักษาความ ปลอดภัยต่อไป แผนผังพระตำหนักที่จัดทำใน พ.ศ. ๒๕๒๒ นี้ มีรวม ๖ พระตำหนักคือ

            ๑. พระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร
            ๒. พระที่นั่งอัมพรสถาน กรุงเทพมหานคร
            ๓. พระราชวังบางปะอิน อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
            ๔. พระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
            ๕. พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ อำเภอ เมือง จังหวัดนราธิวาส
            ๖. พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ อำเภอ เมือง จังหวัดสกลนคร

            ส่วนพระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ ขณะนี้ กรมแผนที่ทหารได้จัดทำขึ้นใหม่ตามพระราชประสงค์ เป็นมาตราส่วน ๑:๑,๐๐๐ เฉพาะตัว พระตำหนัก และมาตราส่วน ๑:๒๕,๐๐๐ จากตัวพระตำหนัก คลุมตัวเมืองเชียงใหม่ทั้งหมด และจัดพิมพ์เป็นสี เหมือนแผนที่มูลฐาน ของกรมแผนที่ทหาร

            การทำแผนที่อีกบริเวณหนึ่ง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์ ให้จัดทำขึ้นคือ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา การดำเนินการจัดทำแผนที่บริเวณนี้ เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๒ เป็นบริเวณเล็กๆ ที่ครอบคลุมพื้นที่ตาม พระราชประสงค์ ต่อมาได้ขยายแผนที่ออกไปอีก

            ในการจัดทำแผนที่บริเวณนี้ไม่ได้มีการสำรวจ หาจุดบังคับรูปถ่าย แต่ได้ใช้การโยงยึดจากแผนที่ ภูมิประเทศ ๑:๕๐,๐๐๐ ซึ่งเป็นแผนที่หลัก ใช้ รูปถ่ายมาตราส่วน ๑:๔๐,๐๐๐ เขียนแผนที่มาตราส่วน ๑:๒๕,๐๐๐ นำไปทำพิมพ์เขียวทูลเกล้าฯ ถวาย เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นำ แผนที่นี้ไปใช้ทรงพบว่า มีความต่างทางความสูง อยู่ ๕ เมตร จากการที่พระองค์ท่านได้เปรียบเทียบกับแผนที่ ที่กรมชลประทานจัดทำขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากในการดำเนินการทำแผนที่บริเวณนี้ ได้ใช้ค่าความสูงจากการอ่านเส้นชั้นความสูงบน แผนที่หลัก ซึ่งความคลาดเคลื่อนทางความสูง ของแผนที่หลักอยู่ในเกณฑ์ คือ ๕ เมตร ใน พ.ศ. ๒๕๒๕ พระองค์ท่านมีพระราชประสงค์ที่ จะได้แผนที่บริเวณนี้เป็นมาตราส่วน ๑:๑,๐๐๐ และ ๑:๕,๐๐๐ เส้นชั้นความสูง ๑ เมตร


แผนที่แสดงที่ตั้งศูนย์ศิลปาชีพพิเศษ บางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

            การจัดทำแผนที่ใหม่นี้ กรมแผนที่ทหารได้ ทำการบินถ่ายรูปใหม่ มาตราส่วน ๑:๑๐,๐๐๐ มีการสำรวจหาค่าพิกัดทางแนวราบ และแนวดิ่ง เพื่อใช้เป็นจุดบังคับรูปถ่าย เฉพาะจุดบังคับทาง แนวราบจัดทำเฉพาะแห่ง แต่จุดบังคับทางแนวดิ่ง ทำทุกรูป สำหรับจุดบังคับทางแนวราบ ได้จัดทำเพิ่มเติมให้กับรูปในสำนักงาน เมื่อได้ดำเนินการเขียนต้นร่างแผนที่เสร็จแล้ว จึงพิมพ์ทูลเกล้าฯ ถวาย ในการทำแผนที่บริเวณนี้ครั้งใหม่นั้น ทางหมวด รังวัดจากรูปถ่ายแผนกประกอบแผนที่ ได้ตรวจสอบจุดกำหนดสูง ที่พระองค์ท่านทรงพบว่า ผิดอยู่ ๕ เมตร นั้น ผลก็คือ ความสูงถูกต้องตามที่ทรงพระกรุณาทักท้วง การจัดทำแผนที่ประเภทเดียวกันนี้ ได้จัดทำหลายบริเวณด้วยกัน เช่น โครงการศูนย์ศิลปาชีพพิเศษ ตำบลราชคราม อำเภอ บางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มาตราส่วน ๑:๑๐,๐๐๐ เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๒๔ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๓ และอำเภอดอยสะเก็ด จังหวัด เชียงใหม่ เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๗

            แผนที่บริเวณต่างๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น เป็นแผนที่โครงการที่จัดทำขึ้นใหม่เป็นบริเวณๆ ไป เนื่องจาก แผนที่หลักของกรมแผนที่ทหาร ที่มีอยู่ทั่วประเทศนั้น ส่วนมากจัดทำมานานแล้ว ข้อมูลที่ปรากฏบนแผนที่จึงไม่ทันสมัย ทั้งนี้ เป็นเพราะกรมแผนที่ทหารมีกำลังพลและงบประมาณจำกัด ไม่สามารถจะทำการแก้ไขแผนที่ เพื่อให้ทันสมัยอยู่เสมอทั่วประเทศได้พร้อมๆ กัน เมื่อใดที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์จะใช้แผนที่บริเวณใด กรมแผนที่ทหารจะดำเนินการบินถ่ายรูปใหม่หรือใช้รูปถ่ายที่ทันสมัยที่สุดเท่าที่มีอยู่ เขียนเพิ่มเติมรายละเอียดขึ้นใหม่ เช่น การจัดทำแผนที่บริเวณที่จะสร้างวัดญาณสังวราราม อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๕ กรมแผนที่ทหารได้จัดทำเป็นแผนที่มาตราส่วน ๑: ๒๕,๐๐๐ เพิ่มเติมรายละเอียดใหม่จากรูปถ่ายเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๔ แล้วนำไปทำพิมพ์เขียวทูลเกล้าฯ ถวาย การจัดทำแผนที่ด้วยวิธีเดียวกันนี้ยังได้จัด ทำขึ้นในอีกหลายบริเวณ เช่น ห้วยสามพันนาม อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มาตราส่วน ๑:๑๒,๕๐๐ เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๕ และบริเวณอำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน มาตราส่วน ๑:๒๕,๐๐๐ เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๕

            กรมแผนที่ทหารได้ตระหนักดีถึงเรื่องนี้ จึงได้ดำเนินการจัดการแก้ไขเพิ่มเติมรายละเอียด ในแผนที่บริเวณอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง และอำเภอส่องดาว อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ด้วย การเพิ่มเติมรายละเอียด เช่น ถนน และหมู่บ้าน ซึ่งเป็นรายละเอียดที่พระองค์ทรงใช้อยู่เสมอ เป็น ความสำคัญเร่งด่วนอย่างยิ่ง เพื่อให้พระองค์ท่านได้ทรงใช้ ดังที่เราทุกคนได้ประจักษ์กันแล้วว่า พระองค์ทรงเป็นผู้ใช้แผนที่ที่ดี และทรงใช้แผนที่มากกว่าเจ้าหน้าที่ หรือผู้เกี่ยวข้องทั้งหลาย เมื่อทรงพบข้อผิดพลาด หรือข้อมูลเพิ่มเติม ก็จะทรงแจ้งให้นายทหารแผนที่ผู้ติดตามเสด็จฯ ทราบทุกครั้ง เพื่อกรมแผนที่ทหารจะได้มีข้อมูลไว้แก้ไขแผนที่ต่อไป


แผนที่ลุ่มน้ำโก-ลก อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส

            นอกจากการจัดทำแผนที่ดังที่ได้กล่าวมา แล้วนั้น กรมแผนที่ทหาร ยังได้จัดทำแผนที่ขึ้น ตามพระราชกระแสรับสั่ง ที่มีต่อเจ้ากรมแผนที่ทหาร เช่น การจัดทำแผนที่โครงการ ๑:๒๕,๐๐๐ บริเวณลุ่มน้ำโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ใน พ.ศ. ๒๕๒๖ ซึ่งเป็นแผนที่มูลฐานของกรมแผนที่ทหาร เพื่อทรงนำไปใช้พิจารณาแหล่งน้ำ ที่เป็นพรุต่างๆ โครงการทำแผนที่บริเวณนี้มีทั้งหมด ๑๑ ระวาง มาตราส่วน ๑:๒๕,๐๐๐ เส้นชั้น ความสูง ๑๐ เมตร เมื่อจัดทำแผนที่บริเวณนี้เสร็จแล้ว ก็ได้นำไปแก้ไขแผนที่บริเวณเดียวกัน แต่เป็นมาตราส่วน ๑:๕๐,๐๐๐ ให้ถูกต้องทันสมัยด้วย ใน พ.ศ. ๒๕๒๖ นี้ นอกจากจะดำเนินการจัดทำแผนที่ลุ่มน้ำโก-ลกแล้ว ยังได้ดำเนินการจัดทำแผนที่บริเวณลุ่มน้ำทวย อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร และแผนที่บริเวณเขื่อนน้ำอูน จังหวัดสกลนคร อีกด้วย
            สำหรับโครงการทำแผนที่ตามพระราชดำรินั้น ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่มิได้นำมากล่าว ซึ่งกรมแผนที่ทหารสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระเมตตาต่อกรมแผนที่ทหารเสมอมา แม้ว่าพระองค์ท่านจะทรงพบข้อผิดพลาดต่างๆ ที่ปรากฏในแผนที่ ก็มิได้ทรงตำหนิ เพราะทรงเห็นว่า การทำแผนที่นั้น กว่าจะสำเร็จได้แต่ละระวาง ต้องกระทำกันหลายขั้นตอน ย่อมมีความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ ทรงทราบดี และทรงเห็นใจที่ได้ทำงานจนสุดความสามารถให้ได้แผนที่ที่ดี และถูกต้องทันสมัยที่สุด กรมแผนที่ทหารจึงรู้สึกซาบซึ้ง และมีความปลาบปลื้มใจทุกครั้งที่ได้เห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราได้ทรงใช้แผนที่ เพื่อประโยชน์ของราษฎรทั้งหลาย จึงขอคัดกระแสพระดำรัสตอนหนึ่ง ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานสัมภาษณ์ในรายการวิทยุของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เผยแพร่ในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๒๙ ซึ่งได้นำมาลงในวารสารแผนที่ ฉบับที่ ๒ ปีที่ ๒๗ (ตุลาคม-ธันวาคม ๒๕๒๗) เป็นบทความนำ ดังนี้

พระเจ้าอยู่หัวกับแผนที่

            "...ท่านอาจจะถือแผนที่อยู่แผ่นหนึ่ง แผนที่ แผ่นหนึ่งของท่านนี้ค่อนข้างกว้างกว่าใครๆ ท่านเอาแผนที่มาปะเข้าด้วยกันอย่างพิถีพิถัน ถือเป็นงานที่ใครจะมาแตะต้องช่วยเหลือไม่ได้เลยทีเดียว...

            เวลาที่ท่านจะเสด็จฯ ไหน ท่านจะต้องเตรียมแผนที่ละเอียด เริ่มตั้งแต่ตัดหัวแผนที่ออก และเศษที่ตัดออกนั้นจะทิ้งไม่ได้เลย ท่านจะต้องตัด แล้วเอากาวมาแปะติดกัน สำนักงานของท่านคือ ห้องกว้างๆ ไม่มีเก้าอี้ เพราะจะต้องนั่งอยู่กับพื้น เอากาวติดแผนที่เข้าด้วยกัน แล้วเอาหัวกระดาษต่างๆ ค่อยตัด แล้วแปะเรียงกันเป็นหัวกระดาษ และหัวแผนที่ใหม่ เพื่อจะได้ทราบว่า แผนที่นั้น เป็นแผนที่ใหม่แผ่นใหญ่ของท่าน ทำจากแผนที่จากไหนบ้าง เพราะเวลาเสด็จฯ ไปก็ต้องไปถามชาวบ้านว่า สถานที่นั้นอยู่ที่ไหน แล้วทางทิศเหนือมีอะไร ทางทิศใต้มีอะไร ท่านถามหลายๆ คน เช็คกันไปมา ระหว่างที่ถามนั้น ก็จะดูจากแผนที่ว่า แผนที่อันนั้นถูกต้องดีหรือไม่ น้ำไหลจากไหนไปที่ไหน...


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นผู้ใช้แผนที่ที่ดีและทรงใช้แผนที่มากกว่าผู้เกี่ยวข้อง

            บางครั้งแผนที่ไม่ถูกต้อง ท่านก็จะตรวจสอบได้ เพราะมีเจ้าหน้าที่จากกรมแผนที่ที่ตามเสด็จด้วย ก็เรียกมาชี้ดูว่า ตรงนี้จะต้องแก้ไข ในการเสด็จพระราชดำเนินนั้น ถ้าไปในทางรถธรรมดา ท่านก็จะมีแผนที่ที่ท่านใช้อยู่เป็นประจำเป็นแผนที่ ๑:๕๐,๐๐๐ แต่ในบางท้องที่ ท่านก็โปรดเกล้าฯ ให้ทำแผนที่ ๑:๒๕,๐๐๐ ซึ่งบางครั้งปรากฏว่า แผนที่ ๕๐,๐๐๐ ถูกต้องกว่า ที่ไปดูหมู่บ้าน ซึ่งติดไว้ข้างถนนบ้าง หลัก กม.บ้าง ท่านก็เอาชื่อหมู่บ้านเหล่านั้น หลัก กม.เหล่านั้น ใส่ลงในแผนที่ด้วย...

            เวลาเดินทางต้องมีเข็มทิศ เครื่องวัดระดับความสูงอยู่ในรถนั่นด้วย ก็พอเช็คแผนที่ได้พอคร่าวๆ พอไปถึงที่ ก็ถามได้ แต่เรื่องของระดับนั้น พิถีพิถันเป็นพิเศษ เนื่องจากหลักของท่าน ท่านจะทำงานด้านน้ำหรือชลประทาน ก็ต้องทราบว่า น้ำเริ่มต้นจากที่ไหน จะไหลไปจากที่ไหนสู่ไหน...


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงนำแผนที่ติดพระองค์ทุกครั้ง ในการเสด็จฯ ไปในถิ่นทุรกันดาร
ทั้งนี้ เพื่อทรงใช้แผนที่ประกอบพระราชวินิจฉัย ในการพัฒนาที่ดินและแหล่งน้ำ สำหรับราษฎร
แม้ในการเสด็จฯ นั้น จะทรงเหนื่อยยากเพียงใด ก็มิได้ทรงย่อท้อ

            บางครั้งชาวบ้านที่กราบบังคมทูลแกคงคุยไม่ถูกต้องก็มี ถูกต้องก็มี ก็ต้องใช้ความรู้หลายๆ ด้าน เพื่อที่จะพิจารณาดูว่า คนไหนให้ข้อมูลถูก คนไหนให้ข้อมูลผิด แล้วก็สถานที่นั้นเป็นที่ไหน มีคนไหนกราบทูลว่าอย่างไร ก็จะทรงเก็บอยู่ในแผนที่นั้น เวลาเสด็จฯ ไปที่เดิมอีก ส่วนมากจะเป็นปีต่อไป ท่านก็ใช้แผนที่อันเดิมนั้น ในการที่จะตรวจสอบ ทำให้ท่านหวงแหนแผนที่ท่านมาก แผนที่อันเดิมนั้น ก็ต้องเก็บไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แผนที่ทางภาคใต้นั้น โดนฝนมาก และภาคใต้นั้น เวลาเสด็จฯ ออกไปนั้น ฝนตก ทำให้แผนที่ค่อนข้างจะเปื่อยยุ่ย และต้องถือด้วยความระมัดระวัง...


            พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงนำแผนที่ติดพระองค์ทุกครั้ง ในการเสด็จฯไปในถิ่นทุรกันดาร ทั้งนี้ เพื่อทรงใช้แผนที่ประกอบพระราชวินิจฉัย ในการพัฒนาที่ดินและแหล่งน้ำ สำหรับราษฎร แม้ในการเสด็จฯ นั้น จะทรงเหนื่อยยากเพียงใด ก็มิได้ทรงย่อท้อ

            เวลาท่านสอน ท่านสอนแม้กระทั่งการพับแผนที่ว่า ในเวลาเรานั่งในรถนี้ ที่มันก็แคบ กางแขน กางขาออกไปมากไม่ได้ ก็เวลาเตรียมตัวเดินทางนี่ ต้องพับแผนที่ให้ถูกทางว่า ไปตอนแรกไปถึงไหน พอไปถึงอีกทีหนึ่ง จะต้องคลี่ให้ได้ทันท่วงที และคลี่ด้านไหน และก็ต่อไปไห้ถึงด้านไหน ถ้าแผนที่นั้นเน่าเต็มทน คือว่า โดนฝนโดนอะไรหลายปีหลายฤดูกาล เราจะต้องย้ายข้อมูลจากแผ่นหนึ่ง ไปเป็นแผ่นใหม่ ซึ่งท่านก็ต้องทำเองเหมือนกัน แล้วก็เวลาตอนหลัง พวกเราที่ตามเสด็จ ก็ได้รับพระราชทานแจกแผนที่ ซึ่งท่านทำขึ้น ท่านใช้เองด้วย หรือว่าการที่ท่านเอามาแจกนี้หลายครั้งท่านก็ไม่เอาแผนที่ตัวจริง ท่านจะถ่ายสำเนาแผนที่นั้นแจก แล้วก็ที่ท่านใช้ ท่านก็ยังระบายสีเอง...

            พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงนำแผนที่ติดพระองค์ทุกครั้ง ในการเสด็จฯไปในถิ่นทุรกันดาร ทั้งนี้ เพื่อทรงใช้แผนที่ประกอบพระราชวินิจฉัย ในการพัฒนาที่ดินและแหล่งน้ำ สำหรับราษฎร แม้ในการเสด็จฯ นั้น จะทรงเหนื่อยยากเพียงใด ก็มิได้ทรงย่อท้อ



            ท่านจะขีดเส้นส่วนที่คิดว่าเป็นที่สมควรที่จะทำเขื่อน หรือทำฝาย ในตรงไหน ในแปลนตรงนั้น แล้วจะระบายสีฟ้าเป็นน้ำ เป็นเขื่อน หรือถนนอะไรก็เอาสีแดงระบาย วาดเป็นเส้นไป ท่านก็ดูอย่างใกล้ชิด เพราะว่า การทำเขื่อนแต่ละแห่ง หมายถึงว่า ต้องจ่ายงบประมาณลงไปเป็นจำนวนมาก การจะเลือกทำที่ไหนนั้น ก็จะเลือกไม่ให้เกิดความเดือดร้อนแก่ราษฎรเป็นจำนวนมาก จะต้องหลีกเลี่ยงบริเวณที่เป็นที่ตั้งบ้านเรือน และยังจะต้องคำนึงถึงงบประมาณความประหยัดด้วย เพราะฉะนั้นอย่างถ้าใครเสนอโครงการมา ท่านก็จะต้องทอดพระเนตรก่อนว่า กั้นน้ำตรงนี้ น้ำจะเลี้ยงไร่นาถึงแค่ไหน และจะได้ผลผลิตคุ้ม และเหมาะสมเพียงพอ หรือว่าเป็นเหตุผลพอไหมที่จะจ่ายเงินของราษฎรเป็นจำนวนสูงเท่านั้น เพราะฉะนั้นท่านจึงต้องดูแผนที่ และถ้าใครมากราบบังคมทูลว่า ขอพระราชทานเขื่อน ฝาย ในที่ไหน จะต้องทรงถามคนที่กราบบังคมทูลว่า อยู่ที่ไหน การเดินทางไปเป็นอย่างไร ทิศเหนือจรดอะไร ทิศใต้จรดอะไร บริเวณ หรือลักษณะเป็นอย่างไร แล้วก็ทรงกำหนดเองในแผนที่..."


แผนที่พระราชทาน ตัวอย่างแผนที่ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้

            ดังนั้น กรมแผนที่ทหารจึงตั้งใจที่จะจัดทำแผนที่ให้ดีที่สุด และถูกต้องที่สุด เพื่อสนองพระราชประสงค์ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นภัทรมหาราชาของชาวไทยทุกคน