เล่มที่ 13
ตุ๊กตาไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ตุ๊กตาฝีมือหรือตุ๊กตาที่มีคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรม

            ตุ๊กตาประเภทนี้ ส่วนมากจะไม่ใช้เล่น แต่จะวางไว้ให้เด็กชมและจับต้องได้อย่างระมัดระวัง ประโยชน์ของตุ๊กตาชนิดนี้อยู่ที่ การให้เด็กได้อยู่ใกล้ และชมความงามอันประณีต เด็กๆ จะค่อยๆ ซึมซับความละเอียดอ่อนของศิลปะ ทำให้เกิดอารมณ์อ่อนโยน รู้จักถนอมของที่มีค่า เชื่อกันว่า คนชอบศิลปะอย่างแท้จริงนั้น จะไม่ทำชั่ว และทำผิด ผู้ผลิตตุ๊กตาประเภทนี้ถือว่า เป็นศิลปิน มีแบบอย่างของตนโดยเฉพาะ หาตัวแทนยาก สมควรที่จะรู้จักทั้งตัวศิลปิน และผลงาน

๑. ตุ๊กตาชาววัง

            ชื่อของตุ๊กตาชนิดนี้ บ่งว่า เป็นตุ๊กตาที่ทำกันในวัง เป็นตุ๊กตาที่ทำเล่นกันเฉพาะเจ้านายในพระบรมมหาราชวังสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประวัติ และกระแสหนึ่งเล่าว่า เจ้าจอมมารดา ม.ร.ว.ย้อย ดิศรางกูร ได้ปั้นตุ๊กตาชาววังถวาย พระราชธิดาคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้า อรพินเพ็ญภาค เมื่อเจ้านายองค์น้อยทอดพระเนตรตุ๊กตา ก็ทรงโปรด เจ้าจอมมารดาย้อยจึงปั้นขายที่ตำหนักของท่านเอง
ตุ๊กตาชาววังขนาดต่าง ๆ
ตุ๊กตาชาววังขนาดต่างๆ
            ศิลปินผู้ปั้นตุ๊กตาชาววังคนสุดท้าย คือ นางแฉ่ง สาครวาสี สกุลเดิม สุวรรณโน มีพี่สาวคนหนึ่งเป็นข้าหลวงของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรพินเพ็ญภาค นางแฉ่ง สาครวาสี บ้านเดิมอยู่ที่ตึกดิน ถนนดินสอ มารดามีอาชีพปั้นตุ๊กตาแก้บนส่งจำหน่าย โดยใช้ดินเหนียว ในคลองตึกดินอันเป็นคลองแยกมาจากคลองหลอด
ตุ๊กตาชาววังขนาดต่าง ๆ
ตุ๊กตาชาววังขนาดต่างๆ
            พี่สาวนางแฉ่งหัดปั้นตุ๊กตาอยู่ กับเจ้าจอมมารดาย้อยประมาณ ๑ ปี ก็ลาออก จากวัง กลับมาอยู่บ้าน มาสอนน้องสาวอีก ๒ คน ให้ปั้นตุ๊กตาชาววัง การจำหน่ายตุ๊กตาชาววัง ที่งานภูเขาทอง ทำให้ผู้คนรู้จักตุ๊กตาชาววังอย่างกว้างขวาง จนปั้นจำหน่ายไม่ค่อยจะทัน
นางแฉ่ง สาครวาสี ศิลปิน ผู้ปั้นตุ๊กตาชาววัง
นางแฉ่ง สาครวาสี
ศิลปินผู้ปั้นตุ๊กตาชาววัง
            ตุ๊กตาชาววังมี ๓ ขนาด คือ ขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ที่นิยมกัน มากคือ ขนาดเล็ก ซึ่งสูงประมาณ ๒ เซนติเมตร ขนาดใหญ่จะสูงประมาณ ๔ เซนติเมตร ปั้นเป็น ผู้ใหญ่ วัยรุ่น และเด็กกำลังนั่งและคลาน ท่านั่งเอน นอนคว่ำ ตะแคง คุกเข่า ประมาณอย่างละ ๘ ท่า ส่วนเด็กเล็กนั้น มีที่ไว้ผมแกละ ผมจุก และผมเปีย ส่วนผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงนั้น มีลักษณะพิเศษคือ แต่งกายอย่างชาวเหนือ ที่เป็นเช่นนี้ อาจจะเป็นเพราะว่า พระวรชายาเจ้าดารารัศมี ยังคงประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวัง
            นอกจากตุ๊กตาเดี่ยวแล้ว ยังมีตุ๊กตาชุดตามเรื่องในวรรณคดี มีทั้งรามเกียรติ์ ละครนอก และละครใน การปั้นตุ๊กตาจะปั้นขาก่อน แล้วจึงขึ้นตัว ส่วนตัวนั้นมีพิมพ์กดเอาไว้ เสร็จแล้วนำดินไปผึ่งให้แห้ง ต้องระวังไม่ให้ถูกแดดจัด เพราะถ้าถูกแดดจัด ดินจะร้าว เสร็จแล้วจึงนำไปเผาในเตาถ่าน ที่ใช้หุงต้มอาหารในครัว เชื้อเพลิงคือ แกลบ เผาแล้วสุมไว้ตลอดคืน เพื่อให้ตุ๊กตาเย็นสนิท ต่อไปจึงนำตุ๊กตานั้นมาลงสีผิว โดยใช้ฝุ่นผัดหน้าที่เรียกว่า ฝุ่นจีน มาละลายน้ำจนข้น แล้วจึงแต่งหน้า ทาปาก เขียนเสี้อผ้า ใช้สีตามความนิยมของชาววัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เสื้อผ้าของผู้ใหญ่ ผู้หญิงจะต้องนุ่งห่มสีตัดกันตามวัน

วันอาทิตย์ นุ่งแดงห่มเขียว หรือจะกลับกันก็ได้
วันจันทร์ นุ่งม่วงหรือน้ำเงิน ห่มเหลือง
วันอังคาร นุ่งชมพูห่มน้ำเงิน หรือกลับกัน
วันพุธ นุ่งน้ำเงินห่มสไบเขียว
วันพฤหัสบดี นุ่งน้ำเงินห่มแสด หรือกลับกัน
วันศุกร์ นุ่งน้ำเงินห่มชมพูหรือ บานเย็นคล้ายวันอังคาร
วันเสาร์ ห่มสีม่วงนุ่งสีเหล็ก หรือเทาแก่

            ตุ๊กตาชาววังของนางแฉ่ง สาครวาสี รูปร่างสะโอดสะอง คอระหง ทรงผมตัด หรือเกล้ามวย ท่าทางฝ่ายหญิงอ่อนช้อย ฝ่ายชายสง่า และขึงขัง ส่วนเด็กนั้นรื่นเริงน่าเอ็นด ูเหมือนธรรมชาติมาก ท่าทางต่างๆ กันตามเพศและอายุ มักเป็นอิริยาบถประจำวัน ของคนนั่งพื้น ไม่ใช้เก้าอี้ ผิวเนียน เพราะใช้ฝุ่นดี มีนิ้วมือนิ้วเท้าทุกตัว

            สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน เป็นองค์ประธาน ในพิธีเปิดงานนิทรรศการ ตุ๊กตาบางกอกดอลล์ ครั้งที่ ๔ เมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๓๐ ณ ศูนย์การค้าเพนนินซูลาพลาซ่า

            หลังจากพี่สาว และน้องสาวถึงแก่กรรม นางแฉ่งจึงเป็นผู้ปั้นตุ๊กตาชาววังแต่เพียงผู้เดียว และเป็นคนสุดท้าย นางแฉ่งถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๗ รวมอายุได้ ๘๗ ปี ท่านเลิกทำตุ๊กตาชาววังหลายปี ก่อนถึงแก่กรรม แต่ได้มอบวิชาการปั้นตุ๊กตาชาววัง ให้แก่อาจารย์มหาวิทยาลัยศิลปากร ๒ ท่าน เพื่อนำไปเผยแพร่ ที่โครงการศิลปาชีพของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ณ ตำบลบางเสด็จ หมู่บ้านวัดท่าสุทธาวาส อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง

            การทำตุ๊กตาชาววังของชาวบ้าน วัดท่าสุทธาวาสนี้ ยังผลให้ชาวบ้านมีฐานะดีขึ้นโดยทั่วกัน แต่การประดิษฐ์ตุ๊กตาเป็นจำนวนมาก เพื่อให้ทันกับความต้องการของตลาด ทำให้มีความประณีตไม่เท่าผลงานของนางแฉ่ง สาครวาสี

๒. ตุ๊กตาบางกอกดอลล์

            ตุ๊กตา ประเภทนี้จัดเข้าอยู่ในประเภทตุ๊กตาผ้า ปัจจุบัน มีผู้ประดิษฐ์ตุ๊กตาผ้ายัดนุ่นขึ้นมามาก แต่ตุ๊กตาผ้าที่ทำขึ้นอย่างประณีต ได้มาตรฐานสากลนั้น เป็นตุ๊กตาที่ประดิษฐ์ขึ้น โดยคุณหญิงทองก้อน จันทวิมล เป็นตุ๊กตาที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก

ตุ๊กตาแสดงการลงนาม ในสัญญาทางไมตรีฉบับแรก ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๗๖ โดยนายเอ็ดมันด์โรเบิรตส์ (ซ้าย) กับเจ้าพระยาพระคลัง (ดิส บุนนาค) (ขวา)

            คุณหญิงทองก้อน จันทวิมล ศิลปินคนแรกที่ประดิษฐ์ตุ๊กตาไทยทำด้วยผ้า สำเร็จการศึกษาอักษรศาสตร์บัณฑิต และประโยคครูมัธยม จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเข้ารับราชการในโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา หลังจากสมรสกับนายอภัย จันทวิมล แล้วก็ลาออกจากราชการ คุณหญิงทองก้อนมีความสนใจในงานประดิษฐ์หลายประเภท เช่น งานประดิษฐ์ดอกไม้ เทียน งานจัดดอกไม้พาน การตัดเย็บเสื้อผ้า และเป็นผู้ค้นคว้าศึกษาตัวละครในวรรณคดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์
การประกอบชิ้นส่วนตุ๊กตาของร้านบางกอกดอลล์
การประกอบชิ้นส่วนตุ๊กตาของร้านบางกอกดอลล์
            เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๘ คุณหญิง ทองก้อนได้มีโอกาสเข้าเรียนและฝึกหัดการประดิษฐ์ตุ๊กตาในหลักสูตรพิเศษ ๕ วัน ของโรงเรียนโอซาวาดอลล์ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ คุณหญิงได้อ่านบทความเรื่อง "ตุ๊กตาฟิลิปปินส์" ของ แพทย์หญิงอเลลี ควีรีโน ในนิตยสารฟรีเวิร์ลด์ แล้วเกิดความบันดาลใจว่า ตนเองก็ควรจะทำตุ๊กตาได้ จึงนำชิ้นส่วน ของตุ๊กตาญี่ปุ่น มาประดิษฐ์เป็นตุ๊กตาหญิงไทยโบราณขึ้น ในปีเดียวกันนั้นคุณหญิงทองก้อน จันทวิมล ได้ประดิษฐ์ตุ๊กตาละครรำสูง ๑๖ นิ้ว ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จ พระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ในนามของสมาคมศิษย์วังหลังวัฒนา ในฐานะนักเรียนเก่าของโรงเรียน ปรากฏว่าเป็นที่พอพระราชหฤทัยยิ่งนัก

ตุ๊กตานางรจนาตุ๊กตานางรจนา ในบทละครนอก เรื่องสังข์ทอง ตอนนางรจนาเสี่ยงพวงมาลัย

            หลักของการประดิษฐ์ตุ๊กตาของคุณหญิงนั้นมีอยู่ว่า ตุ๊กตาจะต้องมีส่วนสัด เป็นคนไทยแท้ๆ สวมเครื่องแต่งกายแบบไทย ที่สวยงามเหมาะสม การศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการผลิตตุ๊กตาจากหนังสือ และจากศิลปินหลายท่าน ได้ช่วยให้คุณหญิงประสบความสำเร็จ ในการประดิษฐ์ตุ๊กตา เช่น ศาสตราจารย์ ศิลป พีระศรี ได้ให้คำแนะนำในด้านส่วนสัด ของตุ๊กตา พระยาเทวาธิราช ให้คำแนะนำในด้านวัฒนธรรมไทย หลวงวิศาลศิลปกรรม ให้คำแนะนำในด้านการออกแบบลายผ้า สร้างแบบหัวโขน และเครื่องประดับ รวมทั้งให้ความรู้เกี่ยวกับลายไทยด้วย ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนีย์ ให้คำแนะนำ ในด้านนาฏศิลป์ นายมนตรี ตราโมท ให้คำแนะนำในด้านเพลงไทย นายเรวัต เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา ให้คำแนะนำ ในด้านการเขียนหัวโขน นายชิต เหรียญประชา ให้คำแนะนำในด้านการทำแม่พิมพ์ต่างๆ และนายประชุม มานะ ให้คำแนะนำ ในการเขียนหน้าตุ๊กตา ซึ่งช่วยทำให้หน้าตุ๊กตามีลักษณะเป็นคนไทย

ตุ๊กตาเจ้าเงาะตุ๊กตาเจ้าเงาะ ในบทละครนอก เรื่องสังข์ทอง ตอนนางรจนาเสี่ยงพวงมาลัย

            ผลงานการประดิษฐ์ตุ๊กตาอันประณีตของคุณหญิงทองก้อน ทำให้มีผู้เชิญคุณหญิง จัดนิทรรศการตุ๊กตาทั้งในและนอกประเทศบ่อยๆ และสม่ำเสมอ นิทรรศการที่สำคัญคือ นิทรรศการเพื่อส่งเสริมสัมพันธภาพไทย-อเมริกัน ณ โรงแรมสยามอินเตอร์คอนติเนนตัล ในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ เป็นตุ๊กตาชุดเด่นแสดงการลงนามในสัญญาทางไมตรีฉบับแรก เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๗๖ โดยนายเอ็ดมันด์ โรเบิรตส์ กับ เจ้าพระยาพระคลัง (ดิส บุนนาค)

            เกียรติครั้งล่าสุดที่คุณหญิงได้รับก็คือ การที่ตุ๊กตาบางกอกดอลล์ของคุณหญิง ได้รับรางวัลชนะเลิศ ในการประกวดตุ๊กตาพื้นเมืองนานาชาติ ครั้งที่ ๓ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๒๑ ณ เมือง คราคอฟ ประเทศโปแลนด์ มีชาติต่างๆ ส่งตุ๊กตาเข้าแข่งขันรวม ๑๘ ชาติ บางกอกดอลล์ได้รับหางนกยูงทองอันงดงามเป็นรางวัลชนะเลิศ ในครั้งนี้รูปแบบของตุ๊กตาผ้า ของคุณหญิง ทองก้อน จันทวิมล นั้นมีหลากหลาย ซึ่งจัดได้ เป็น ๔ แบบด้วยกันคือ

๑. ตุ๊กตาโขนละคร

            ตุ๊กตาแบบนี้ อาจเป็นตุ๊กตาเดี่ยว หรือจัดเป็นฉากเป็นตอน ส่วนมากจะเป็นตัวละครเรื่องรามเกียรติ์ แต่งตัว และแสดงท่ารำ เหมือนตัวโขน บางทีก็เป็นตุ๊กตาคู่ตัวกษัตริย์ของทางมนุษย์และยักษ์รบกัน มีท่ารบประกอบด้วยตัวตุ๊กตา ๒-๔ ตัว หากเป็นนิทรรศการ เช่น การยาตราทัพประจันหน้า หรือตอนไมยราพสะกดทัพ ตัวละคร อาจมีถึง ๒๐๐ ตัวขึ้นไป ตุ๊กตาแม่บทเล็กมี ๑๘ ตัว แต่ละตัวแสดงท่ารำตามแม่บท ถ้ามาจากละครรำ จะมีตัวพระตัวนางของแต่ละเรื่อง เช่น เจ้าเงาะ และรจนา ตอนเสี่ยงพวงมาลัย ตุ๊กตาพราหมณ์รำฉุยฉาย ฯลฯ แต่งตัวเหมือนแสดง บนเวที
ตุ๊กตาแสดงการยาตราทัพประจันหน้า ในบทละครในเรื่องรามเกียรติ์
ตุ๊กตาแสดงการยาตราทัพประจันหน้า ในบทละครในเรื่องรามเกียรติ์
๒. ตุ๊กตาชาวเขาเผ่าต่างๆ

มีเผ่าอีก้อ แม้ว เย้า มูเซอร์ ลีซอ และยาง แต่ละตัวแต่งกายถูกต้องตามแบบแผนของแต่ละเผ่า รวมทั้งสีและเครื่องประดับ
ตุ๊กตาชาวเขา
ตุ๊กตาชาวเขา
๓. ตุ๊กตาชาวไทยสมัยต่างๆ

            เป็นตุ๊กตาคู่ชายหญิง แต่งกายตามสมัยนั้นๆ เช่น สมัยกรุงสุโขทัย สมัยกรุงศรีอยุธยา และสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ใน พ.ศ. ๒๔๗๕
๔. ตุ๊กตาชาวนา ชาวบ้าน และคนไทยอาชีพต่างๆ

เช่น ชาวประมงน้ำจืด แม่ค้า ฯลฯ

            ตุ๊กตาต่างๆ เหล่านี้จะหาชมได้ ในพิพิธภัณฑ์ตุ๊กตาของร้านทำตุ๊กตาบางกอกดอลล์ น่าดูมาก และอาจใช้เป็นอุปกรณ์การสอนวิชาภูมิศาสตร์ หรือวัฒนธรรมพื้นบ้าน และศิลปะการร่ายรำ มีประโยชน์แก่ผู้ที่ได้ชม ทุกเพศทุกวัย และทุกสถานภาพ
ตุ๊กตารำไทย
ตุ๊กตารำไทย
๓. ตุ๊กตาชาวบ้านอยุธยาของ นางสาวสุดใจ เจริญสุข

            นางสาวสุดใจ เจริญสุข เป็นชาวอยุธยาโดยกำเนิด นับเป็นศิลปินพื้นบ้าน ที่หาได้ยากในการปั้นตุ๊กตา ตุ๊กตาแต่ละตัว จะแสดงการดำเนินชีวิต อิริยาบถ การละเล่นพื้นบ้าน การเล่นของคนในชนบท เช่น การว่าเพลงเรือ ชายพายลำหนึ่ง หญิงพายลำหนึ่ง เล่นไม้หึ่ง เดินก๊อบแก๊บที่ใช้กะลาตัวเมียร้อยเชือกยาวพอจะถือ และยกด้วยมือได้ ขี่ม้าส่งเมือง เดินไม้สูง มอญซ่อนผ้า ฯลฯ ชีวิตประจำวันพื้นบ้านก็ได้แก่ ยายนั่งไกว เปลหลาน หญิงแก่ไหว้พระภูมิ หญิงอาบน้ำ ลูกน้อยที่นอนหงายอยู่ที่หว่างขา เด็กชายขี่ม้าก้านกล้วย แม่ค้ากลับบ้านหาบลูกไว้ในกระจาดใบที่อยู่ข้างหน้า ฯลฯ ตุ๊กตาเหล่านี้แม้จะเล็กอย่างไรก็มีสีหน้า และได้สัดส่วน ทั้งอยู่ในอิริยาบถ ที่มีชีวิตชีวาอีกด้วย
ตุ๊กตาดินเผาพระพายเรือบิณฑบาต
ตุ๊กตาดินเผา
พระพายเรือบิณฑบาต
นางสาวสุดใจ เจริญสุข เกิด เมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๓ ที่ตำบลกระมัง อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นหลานปู่นายอุทัย สุวรรณนิล ช่างปั้น พระที่กรุงเทพฯ นายอุทัยมีความริเริ่มสูงมาก จึงนำเอาความรู้ทางปั้นพระ มาปั้นตุ๊กตาคนและสัตว์ ทีแรกก็ปั้นตัวขนาดใหญ่ก่อน แล้วจึงย่อให้เล็กลงๆ จนเล็กมาก ขนาดนิ้วทารก นางสาว สุดใจมีพรสวรรค์ทางการปั้นสูง ได้เริ่มปั้นตั้งแต่อายุเพียง ๔ ขวบ
            ต่อมานายอุทัยได้รับพระราชทานโล่ที่ระลึกผลงานช่างฝีมือดีเด่น จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เข้าไปอยู่ในวัง นางสาวสุดใจจึงกลับมาอยู่กับนายเนี้ยว และนางบุญส่ง ผู้เป็นบิดามารดา ที่เชิงสะพานปรีดีธำรง และยึดอาชีพทางปั้นตุ๊กตาตลอดมา การปั้นตุ๊กตาของนางสาว สุดใจเป็นการปั้นระดับศิลป์ มีเอกลักษณ์ของตัวเองสูง จนไม่อาจจะถ่ายทอดให้ผู้อื่น หรือไม่มีผู้ใดลอกเลียนแบบได้
ตุ๊กตาดินเผาเด็กเรียนหนังสือกับพระ
ตุ๊กตาดินเผา
เด็กเรียนหนังสือกับพระ
นางสาวสุดใจทำงานนี้บนบ้าน เป็นเรือนฝากระดานใต้ถุนสุง แม้จะมีความเป็นอยู่ง่ายๆ แต่ก็มีผู้สนใจทั้งชาวไทยและต่างประเทศเป็นจำนวนมากไปขอชมผลงาน
            การปั้นลงทุนต่ำมาก ใช้ดินแถวเชิงสะพานปรีดีธำรงนั่นเอง เอามากรองและนวด ดินก้อนไม่สู้ใหญ่ แต่ทำตุ๊กตาได้เป็นร้อยตัว เครื่องมือมีมีดเล่มเดียว เมื่อปั้นดัดแขนขาตามอิริยาบถที่ต้องการแล้ว ก็จะนำไปผึ่งในที่แดดไม่จัด แล้วเผาในเตาหุงต้มธรรมดาด้วยแกลบ สุมไว้จนมอดตลอดคืนให้คลายความร้อน จึงนำมาลงสีในภายหลัง
            นางสาวสุดใจ เจริญสุข เป็นศิลปินอิสระ ผู้ใดจะขอดูเวลาปั้น หรือเวลาทำงาน ก็จะอธิบายให้ฟังโดยไม่ปิดบัง แต่ก็คงยังเป็นศิลปินปั้นตุ๊กตาที่มีชื่อเสียงเพียงคนเดียว งานจึงท่วมท้น ทำไม่ทันตามสั่งหรือจอง ขณะนี้ (พ.ศ. ๒๕๓๑) ตุ๊กตาดินเผาที่ประดิษฐ์ มีจำหน่ายที่บ้านของนางสาวสุดใจเอง บ้านเลขที่ ๔๐ ตำบลกระมัง เชิงสะพานปรีดีธำรง อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยาตุ๊กตาดินเผาที่ปั้นผึ่งแดดไว้ก่อนนำไปเผา
ตุ๊กตาดินเผาที่ปั้นผึ่งแดดไว้
ก่อนนำไปเผา
๔. ตุ๊กตาไทยของนายจักรพันธุ์ โปษยกฤต

            ตุ๊กตาไทยนี้ เป็นตุ๊กตาที่ประดิษฐ์ขึ้นด้วยความประณีตบรรจงสูงมาก อันที่จริงแล้ว นายจักรพันธุ์ โปษยกฤตนั้น เป็นจิตรกร แต่บางครั้งก็ผลิตผลงานศิลปะไทยหลายแขนงด้วยกัน เช่น ทำตัวหุ่น ซึ่งจัดแสดงเป็นครั้งคราว โดยเป็นผู้เชิดหุ่นเอง เครื่องแต่งตัวหุ่นของนายจักรพันธุ์นั้นปักและประดับเครื่องแต่งตัว ที่ทำจากทองและพลอยจริงๆ นอกจากนั้นก็ปั้นตุ๊กตา

ตุ๊กตาไทยของนายจักรพันธุ์ที่เป็นที่รู้จักในหมู่คนไทยที่รักศิลปะนั้น มีดังนี้

            ตุ๊กตาพราหมณ์เกศสุริยง ตัวละคร จากละครนอกเรื่อง "สุวรรณหงส์" เป็นเรื่องที่จัดแสดงกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยา จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ แต่งไว้หลายสำนวน แต่ที่ชอบนำมาเล่นกันมากคือ บทพระนิพนธ์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ (พระองค์เจ้าทินกร - ต้นราชสกุลทินกร ณ อยุธยา) พระราชโอรส ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และเจ้าจอมมารดาศิลา
            ตุ๊กตาเด็กโกนจุก สูง ๒๒ เซนติเมตร เตี้ยกว่าตุ๊กตาพราหมณ์เกศสุริยงเล็กน้อย ไม่ใช่ตัวละครในวรรณคดี การประดิษฐ์เสื้อผ้าเครื่องประดับนั้นใช้ทองจริง และทับทิมแท้เหมือนกันทั้งสองตัว ประดิษฐ์เสร็จเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๐ตุ๊กตาพราหมณ์เกศสุริยงสูง ๒๔ เซนติเมตร
ตุ๊กตาพราหมณ์เกศสุริยง
สูง ๒๔ เซนติเมตร
            ตุ๊กตานางกวัก ตุ๊กตานางกวักนั้นมีมานานจนไม่ทราบว่าทำขึ้นในสมัยใด เป็นครั้งแรก นิยมตั้งไว้บูชาตามบ้านหรือร้านค้า เป็นรูปหญิงนั่งพับเพียบ เท้าแขนซ้าย และยกมือขวาขึ้นกวัก เชื่อกันว่า เรียกผู้คนเข้ามาอุดหนุนซื้อสินค้า หรือนำเอาเงินทองมาให้ ผู้ที่ได้ชมตุ๊กตานางกวักของนายจักรพันธุ์จะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เป็นตุ๊กตานางกวัก ที่สวยที่สุด ในสมัยรัตนโกสินทร์

ตุ๊กตานางกวัก ที่ได้รับยกย่องว่า เป็นตุ๊กตานางกวัก ที่สวยที่สุด ในสมัยรัตนโกสินทร์

            ตุ๊กตากุมารน้อยจากวรรณคดี เป็นตุ๊กตากุมาร ที่ใช้ได้กับตัวละคร ที่เป็นเด็ก ทั้งในโขนหรือละครไทย เช่น พระลักษมณ์ ในเรื่องรามเกียรติ์ พระสังข์ในเรื่องสังข์ทอง สังข์ศิลป์ไชย ในเรื่องสังข์ศิลป์ไชย หรือสียะตราในเรื่องอิเหนา
ตุ๊กตากุมารน้อย
ตุ๊กตากุมารน้อย
ตุ๊กตากุมารน้อยของนายจักรพันธุ์ โปษยกฤต ตัวนี้เป็นเด็กชายน่าเอ็นดู แต่งตัวเช่น โอรสกษัตริย์
            ตุ๊กตาของนายจักรพันธุ์ทุกตัว เวลาทำ จะมีลูกมือ ๓-๕ คน ถึงกระนั้นยังต้องใช้เวลาประดิษฐ์ตัวละประมาณเกือบ ๑ ปี จึงจะแล้วเสร็จ หล่อด้วยวัสดุพิเศษ เสื้อสไบปักด้วยดิ้น เลื่อม และลูกปัดแก้วขนาดจิ๋ว ลงบนผ้าไหมไทย เครื่องประดับทำด้วยทองและอัญมณีแท้ ทั้งดอกไม้ทัด อุบะห้อย ประดิษฐ์ด้วยความประณีต และแลดูได้สัดส่วนทุกส่วน