ตุ๊กตาตามความเชื่อพื้นบ้าน
ตุ๊กตาประเภทนี้มักประดิษฐ์ง่ายๆ ด้วยฝีมือชาวบ้าน และใช้ในเชิงไสยศาสตร์ เช่น
ตุ๊กตาเสียกบาล
๑. ตุ๊กตาเสียกบาล
เป็นตุ๊กตาดินเผา และดินเผาเคลือบสมัยสุโขทัย (พุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐) เป็นผู้หญิง มือถือของใช้ อุ้มเด็ก ฯลฯ ตุ๊กตาประเภทนี้คงจะไม่มีความมุ่งหมาย ที่จะให้เป็นของเล่นของเด็ก ตุ๊กตาประเภทนี้ ปั้นขึ้นเมื่อเวลามีคนเจ็บป่วยในบ้าน เพื่อสมมติว่า เป็นตัวแทนของคนป่วยนั้น เรียกกันว่า ตุ๊กตาเสียกบาล ตุ๊กตานี้จะถูกหักคอ หรือต่อยหัวออก เพื่อลวงผีว่า คนเจ็บผู้นั้นตายไปแล้ว จะได้ไม่มาเอาชีวิตของคนป่วย
๒. ตุ๊กตาแก้บน
เป็นตุ๊กตาที่ประดิษฐ์ขึ้น หรือซื้อหามา "แก้บน" หลังจากการบนบานศาลกล่าว ขอร้องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ช่วยโดยให้คำมั่นสัญญาว่า จะให้สิ่งของตอบแทน ถ้าช่วยให้สิ่งที่ขอร้องนั้นเป็นผลสำเร็จ ซึ่งเมื่อเป็นผลสำเร็จตามที่ขอไว้ ผู้ที่บนบานก็จะมาแก้บนตามสัญญา ที่ให้ไว้
ตุ๊กตาแก้บน
ตุ๊กตาแก้บนที่เห็นมากก็คือ ตุ๊กตาที่ใช้แก้บนเทวดา เจ้าที่ หรือพระภูมิเจ้าที่ ที่สถิตบนศาลพระภูมิ หรือศาลเพียงตา ที่สร้างไว้ในบริเวณบ้าน ผู้บนมักจะบนไว้ด้วยละคร โดยบ่งจำนวนโรง โรงละครนั้นทำง่ายๆ และวิวัฒนาการไปตามสมัย ในสมัยโบราณ มักปั้นตัวละครด้วยดินสอพอง (ประกอบง่ายๆ ในโรงโปร่ง) มีจำนวน ๓ ตัว คือ พระ นาง และตัวรับใช้ชาย ในปัจจุบันมักทำด้วยเครื่องปั้นดินเผา ใช้สีทาบ้านระบาย เป็นเสื้อผ้า ละครที่แก้บนนี้ ทำแทนละครชาตรี ผู้ที่มีเงินจ้างละครชาตรี จะจ้างให้มาแสดงจริงๆ ไม่ใช้ตุ๊กตา ในการบนตุ๊กตาชุดนี้ จะนับจำนวนโรงว่า ถ้าสมหวัง จะแก้บนด้วยตุ๊กตาละคร กี่โรง ส่วนมากจะบนตั้งแต่ ๒ โรงขึ้นไป บางทีใช้ช้าง ไม้แก้บน ซึ่งส่วนมาก จะถวายท้าวมหาพรหม
นอกจากแก้บนด้วยตุ๊กตาละครและช้างแล้ว ยังมีม้าดินเผา หรือม้าปูนปั้นแก้บนได้อีกด้วย
๓. ตุ๊กตากุมาร
ส่วนมากจะเป็นตุ๊กตาเครื่องปั้นดินเผา ทำเป็นเด็กผู้ชายไว้จุก ตั้งไว้ในที่สูง เพื่อบูชากราบไหว้ เชื่อกันว่า จะช่วยเฝ้าบ้านให้ได้ ต้องมีการเซ่นด้วยอาหารคาวหวาน ทุกวัน ซึ่งอาจจะได้ความคิดมาจากกุมารทองในเรื่องขุนช้างขุนแผน
๔. ตุ๊กตานางกวัก
ประดิษฐ์เป็นหญิงสาว แต่งตัวสวยงาม สวมกระบังหน้า ท้าวแขนซ้าย และยกมือขวากวักไปข้างหน้า เชื่อกันว่า สามารถเรียกลูกค้าให้เข้าร้าน และกวักเงินทองโชคลาภมาให้ ส่วนมากจะทำด้วยโลหะ ขนาดพอสมควร ที่จะตั้งไว้ในที่สูงหรือหิ้ง บางแห่งจะมีเครื่องเซ่น บูชาด้วยธูปและดอกไม้