เล่มที่ 2
การตรวจอากาศ
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
เรดาห์สำหรับตรวจอากาศ

            ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ และอเมริกัน ต่างได้ช่วยกันค้นคว้าสร้างเรดาร์ เพื่อตรวจหาตำแหน่งเครื่องบินและเรือรบของข้าศึก ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สำคัญยิ่งอย่างหนึ่ง ช่วยให้ฝ่ายสัมพันธมิตรมีชัยชนะในสงครามได้ ในสมัยต่อมานักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า เรดาร์สามารถใช้ ตรวจฝนและหิมะได้ ฉะนั้นนักอุตุนิยมวิทยาจึงได้อาศัยเรดาร์ เป็นเครื่องมือตรวจการเคลื่อนตัวของพายุ ฟ้าคะนอง และพายุไต้ฝุ่นได้เป็นอย่างดี เรดาร์สามารถจับการเคลื่อนตัวของพายุไต้ฝุ่นได้ เมื่อศูนย์กลางของพายุเข้ามาอยู่ในระยะ ๒๐๐ ถึง ๘๐๐ กิโลเมตร (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกำลังของเรดาร์)




เรดาร์สำหรับตรวจอากาศ

            เรดาร์เป็นเครื่องมือที่ค่อนข้างยุ่งยากซับซ้อน มีแต่หลักการคือ เรดาร์ส่งคลื่นวิทยุ ที่มีความถี่สูงมาก ราว ๓,๐๐๐ เมกะเฮิรตซ์ มีความยาวคลื่นระหว่าง ๓ ถึง ๑๐ เซนติเมตร เมื่อคลื่นความถี่สูงนี้ไป กระทบเป้าหมายเข้า ก็จะสะท้อนกลับมายังเครื่อง รับภาพจากค่าความเร็วของคลื่นวิทยุ ซึ่งมีค่าเท่ากับ ความเร็วของแสงคือ ๓๐๐,๐๐๐ กิโลเมตร ต่อวินาที กับระยะเวลาที่คลื่นเดินทางไปและกลับ เราก็สามารถหาระยะทางของเป้าว่า อยู่ห่างจากเครื่องรับเท่าไรได้


เครื่องมือและจอรับภาพจากเรดาร์
สำหรับตรวจอากาศ

เม็ดน้ำ (water droplets) และอนุภาคน้ำแข็ง (ice particles) ขนาดใหญ่ สามารถสะท้อนคลื่นเรดาร์ได้ โดยทั่วๆ ไปแล้ว สิ่งที่เป็นเป้าหมายขนาดใหญ่ๆ ก็สามารถสะท้อนคลื่นเรดาร์ได้ดี เช่น ลูกเห็บ เป็นต้น
            เรดาร์อุตุนิยมวิทยามีประโยชน์มากในการตรวจการเคลื่อนตัวของพายุฟ้าคะนอง พายุดีเปรสชัน หรือไต้ฝุ่น เมื่อนักอุตุนิยมวิทยาทราบทิศ และความเร็วของการเคลื่อนตัวของพายุไต้ฝุ่น ก็จะได้ออกประกาศเตือนให้ประชาชนทราบล่วงหน้า เพื่อจะได้เตรียมตัวป้องกันภัยอันตรายซึ่งอาจจะเกิดขึ้นให้ลดน้อยลงได้ นอกจากนี้แล้วจากการวัดความแรง (strength) ของภาพสะท้อน ที่จอเรดาร์ จะช่วยให้เราสามารถคำนวณหาอัตราของปริมาณฝนที่ตกลงมาได้ด้วย