วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เรียกกันอยู่ทั่วๆ ไปว่า วัดพระแก้ว เป็นวัดในบริเวณพระบรมมหาราชวังชั้นนอก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้เริ่มสร้างขึ้นพร้อมกับพระบรมมหาราชวังเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕ ด้วยมีพระราชดำริจะให้เป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (แก้วมรกต) และแล้วเสร็จใน พ.ศ. ๒๓๒๗ สิ่งสำคัญในวัดพระศรีรัตนศาสดารามมี | |
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม | |
๑. พระอุโบสถ เป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (แก้วมรกต) พระพุทธรูปสำคัญที่สุดในประเทศไทย เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิสร้างด้วยหยกสีเขียว มีตำนานเล่าต่อกันมาว่า เทวดาสร้างถวายพระอรหันต์องค์หนึ่งทางอินเดีย แล้วบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ในองค์พระพุทธรูป ครั้นเวลาต่อๆ มา พระพุทธรูปองค์นี้ตกไปอยู่ตามเมืองต่างๆ หลายแห่ง เช่น ลังกา เชียงราย เชียงใหม่ และเวียงจันทร์ ใน พ.ศ. ๒๓๒๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งยังดำรงตำแหน่งเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เสด็จเป็นแม่ทัพไปตี ได้เมืองเวียงจันทร์ จึงทรงอัญเชิญพระแก้วมรกต มาไว้ยังกรุงธนบุรี ครั้นเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ จึงได้อัญเชิญประดิษฐานในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม สืบต่อมาจนทุกวันนี้ | |
พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม | |
หน้าฐานชุกชีที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต มีพระพุทธปฏิมากรฉลองพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑ และที่ ๒ เป็นพระพุทธรูปยืนสูง ๖ ศอก (๓ เมตร) หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์และหุ้มทองคำ ทรงเครื่องต้นอย่างจักรพรรดิราช (ตามแบบกษัตริย์ สมัยโบราณ) พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สร้างอุทิศพระราชกุศลถวาย สมเด็จพระอัยการธิราช และสมเด็จพระบรมชนกนาถ องค์ทางขวา (ทิศเหนือ) ถวายพระนามว่า "พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก" องค์ทางซ้าย (ทิศใต้) ถวายพระนามว่า "พระพุทธเลิศหล้านภาลัย" แล้วโปรดให้ออกประกาศเรียกพระนามพระอดีตรัชกาล ตามพระนามที่ถวายแด่พระพุทธรูปทั้งสองพระองค์ แทนคำที่เรียกกันอยู่ในขณะนั้นว่า "แผ่นดินต้น" "แผ่นดินกลาง" ดูประหนึ่งว่า พระองค์จะต้องเป็นแผ่นดินปลาย ซึ่งถือเป็นการอัปมงคล ดังนั้น ครั้งถึงรัชกาลที่ ๔ จึงโปรดให้เรียกพระนามพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ว่า "พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว" โดยอนุโลม จากพระนามเดิมว่า "ทับ" ส่วนพระองค์เองใช้ พระนามว่า "พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" โดยอนุโลมจากพระนามเดิมว่า "มงกุฎ" นับแต่นั้นมา จึงมีการถวายพระบรมนามาภิไธย ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จารึกพระสุพรรณบัฏทุกรัชกาลสืบมา | |
ปราสาทพระเทพบิดร | ๒. ปราสาทพระเทพบิดร เป็นที่ประดิษฐาน พระบรมรูปพระมหากษัตริย์แห่งพระราชวงศ์จักรี ที่เสด็จสวรรคตไปแล้ว ทั้งแปดรัชกาล ประชาชนมีโอกาสที่จะเข้าถวายบังคมพระบรมรูป ในปราสาทนี้ ในวันที่ระลึกมหาจักรี คือ วันที่ ๖ เมษายน ทุกปี |
๓. พระมณฑป เป็นที่ประดิษฐานพระไตรปิฎก ในตู้มุกรูปทรงเดียวกับพระมณฑป ๔. พระศรีรัตนเจดีย์ เป็นพระเจดีย์ประดับ กระเบื้องสีทอง เป็นที่ประดิษฐานพระมณฑป ๕. นครวัดจำลอง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ช่างจำลองแบบนครวัดแห่งกรุงกัมพูชา มาสร้างไว้ ๖. อนุสาวรีย์ประจำรัชกาล ตั้งอยู่บนไพที (ยกพื้น) เดียวกับปราสาทพระเทพบิดร พระมณฑป พระศรีรัตนเจดีย์ และนครวัดจำลอง อนุสาวรีย์นี้ มี ๓ องค์ ประดิษฐานบุษบกตั้งพานวางตราประจำ รัชกาล มีฉัตรล้อม และมีรูปช้างโลหะประจำรัชกาลอยู่เชิงอนุสาวรีย์ อนุสาวรีย์องค์หนึ่งประดิษฐานตราประจำรัชกาลที่ ๑, ๒ และ ๓ เป็นรูปอุณาโลม (สำหรับรัชกาลที่ ๑) รูปครุฑ (หมายถึง วิมานฉิมพลีที่สถิต ของพระยาครุฑ อนุโลมตามพระนามเดิมว่า ฉิม) และรูปปราสาท (หมายถึง พระนามเดิมว่า ทับ แปลว่า ที่อยู่) อนุสาวรีย์อีกหนึ่งประดิษฐานตราประจำรัชกาลที่ ๔ เป็นรูปมงกุฎ (พระนามเดิมว่า มงกุฎ) และอนุสาวรีย์อีกองค์หนึ่งประดิษฐานตราประจำรัชกาลที่ ๕ เป็นรูปพระเกี้ยว หรือจุลมงกุฎ (ซึ่งพระราชโอรสชั้นเจ้าฟ้าทรงเวลาโสกันต์) อนุโลมตามพระบรมนามาภิไธยว่า จุฬาลงกรณ์ (เครื่องประดับพระเศียร) หรือจุลจอมเกล้า (ซึ่งอนุโลมเข้ากับจุลมงกุฎด้วยก็ได้) |
๗. วิหารยอด ครั้งหนึ่งเคยมีวัตถุสำคัญอยู่ใน วิหารนี้คือ พระแท่นมนังศิลาบาตรของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช | วิหารยอด |
นอกจากสิ่งสำคัญมากที่กล่าวมาแล้ว ในบริเวณวัดพระศรีรัตนศาสดารามยังมีสิ่งอื่นๆ อีก เช่น พระปรางค์ประดับกระเบื้องเคลือบสีต่างๆ ศาลาราย หอระฆัง และภาพเขียนเรื่องรามเกียรติ์ ตามพระระเบียง เป็นต้น |