เล่มที่ 2
กรุงเทพมหานคร
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
สถานที่สำคัญทางราชการ

            กรุงเทพมหานครเป็นที่ตั้งของรัฐสภา และสถานที่ราชการสำคัญ เช่น สำนักนายกรัฐมนตรี และ กระทรวงทบวงกรมต่างๆ เป็นต้น

รัฐสภา

            รัฐสภาเป็นสถาบันที่พระมหากษัตริย์พระราชทานอำนาจให้เป็นผู้ออกกฎหมายสำหรับการปกครอง และการบริหารประเทศ ซึ่งเรียกว่า อำนาจนิติบัญญัติ รัฐสภาจะประกอบด้วยสภาเดียวหรือสองสภาย่อมแล้วแต่บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันบัญญัติให้รัฐสภาประกอบด้วยวุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะประชุมร่วมกันหรือแยกกันตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนู

ท้องพระโรงในพระที่นั่งอนันตสมาคมท้องพระโรงในพระที่นั่งอนันตสมาคม ในภาพแสดงการตั้งเก้าอี้ และบัลลังก์ประธานสภา เพื่อให้ผู้เข้าชมนึกเห็นภาพของห้องประชุมสภา

            รัฐสภากำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๔๗๕ เมื่อผู้แทนราษฎรจำนวน ๗๐ คนซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร ได้เปิดประชุมสภาขึ้นเป็นครั้งแรก ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม และเมื่อการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรทั่วประเทศได้สำเร็จลงพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้พระราชทานพระที่นั่งอนันตสมาคมองค์นี้แก่ผู้แทนราษฎร เพื่อใช้เป็นที่ประชุมสืบต่อมาจนถึงบัดนี้

            เมื่อจำนวนสมาชิกรัฐสภาต้องเพิ่มมากขึ้นตามอัตราส่วนของจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น จึงเกิดความจำเป็นที่จะต้องจัดสร้างอาคารรัฐสภาที่มีขนาดใหญ่กว่า เพื่อให้มีที่ประชุมเพียงพอกับจำนวนสมาชิกและมีที่ให้ข้าราชการสำนักงานเลขาธิการรัฐสภาใช้เป็นที่ทำงาน จึงได้มีการวางแผนการจัดสร้างอาคารรัฐสภาขึ้นใหม่ถึง ๔ ครั้งด้วยกัน แต่ก็ต้องระงับไปถึง ๓ ครั้ง เพราะคณะรัฐมนตรีผู้ดำริต้องพ้นจากตำแหน่งไปเสียก่อน

            แต่ในครั้งที่ ๔ แผนการจัดสร้างรัฐสภาใหม่ได้ประสงผลสำเร็จ เพราะพระเมตตาคุณ และพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งได้ทรงยืนยันพระราชประสงค์เดิมที่จะให้ใช้พระที่นั่งอนันตสมาคม และบริเวณ เป็นที่ทำการของรัฐสภาต่อไป และยังได้ทรงพระราชทานที่ดินบริเวณทิศเหนือของพระที่นั่งอนันตสมาคมให้เป็นที่จัดสร้างสำนักงานเลขาธิการรัฐสภาขึ้นใหม่อีกด้วย

            สถานที่ทำการใหม่ของรัฐสภา ประกอบด้วยอาคารหลัก ๓ หลังคือ หลังที่ ๑ เป็นตึก ๓ ชั้นใช้เป็นสำนักงานเลขาธิการรัฐสภาและห้องประชุมรัฐสภา หลังที่ ๒ เป็นตึก ๗ ชั้น ใช้เป็นสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา และโรงพิมพ์รัฐสภา และหลังที่ ๓ เป็นตึก ๒ ชั้นใช้เป็นสโมสรรัฐสภาเริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๑๓ โดยมีกำหนดสร้างเสร็จภายใน ๘๕๐ วัน ใช้งบประมาณทั้งสิ้น ๕๑,๐๒๗,๓๖๐ บาท
อาคารหลังที่ ๑ ของสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา
อาคารหลังที่ ๑ ของสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา ใช้เป็นที่ประชุมวุฒิสภาสภาผู้แทนราษฎร และการประชุมร่วมกันของสภาทั้งสอง ส่วนอื่นๆ เป็นที่ทำการของสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา ประธาน และรองประธานของสภาทั้งสอง
            สถานที่ทำการใหม่ของรัฐสภานี้ ได้ใช้ในการประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๑๗ สำหรับพระที่นั่งอนันตสมาคมนั้น คงถือเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และใช้เป็นที่รับรองอาคันตุกะบุคคลสำคัญ ใช้เป็นสถานที่ประกอบรัฐพิธีเปิดสมัยประชุม รัฐพิธีฉลองวันพระราชทานรัฐธรรมนูญ และจักได้ใช้ชั้นล่างของพระที่นั่งเป็นพิพิธภัณฑ์รัฐสภาต่อไป

สำนักนายกรัฐมนตรี

            มีฐานะเป็นกระทรวงตั้งอยู่ในเขตดุสิต เดิมเป็นบ้าน "นรสิงห์" ของพลเอกเจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ) ข้าราชการข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมารัฐบาลซื้อจากเจ้าของเดิมมาใช้เป็นศูนย์กลางบริหารของรัฐบาล อันมีนายกรัฐมนตรีเป็นประมุข

ทำเนียบรัฐบาลทำเนียบรัฐบาล เป็นที่ทำการส่วนหนึ่งของสำนักนายกรัฐมนตรี

กระทรวงกลาโหม

            ตั้งอยู่ที่แขวงพระราชวังเขตพระนคร ตรงข้ามวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เดิมเป็นโรงช้าง โรงม้า และโรงสีข้าวของทหาร มาถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ จอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) ได้กราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตสร้างเป็นโรงทหารถาวรขึ้น และต่อมาจึงจัดเป็นกระทรวงกลาโหม
ทำเนียบรัฐบาล
กระทรวงกลาโหม
กระทรวงการคลัง

            อยู่ในแขวงพระราชวัง เขตพระนคร อยู่ภายในบริเวณพระบรมมหาราชวังชั้นนอก เป็นตึกที่สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตึกแรกมีชื่อว่า "หอรัษฎากรพิพัฒน์"