เล่มที่ 20
เสียงและมลภาวะทางเสียง
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
เราได้ยินอะไร

            ปัจจัยที่พิจารณากำหนดความดังเชิงจิตวิสัยของเสียง มีความซับซ้อนอยู่พอสมควร ซึ่งการวิจัยยังคงกระทำกันอยู่ต่อไปในขณะนี้ อย่างหนึ่ง ได้แก่ หูคนเรามีความไว ที่ทุกความถี่ไม่เท่ากัน จะไวที่สุดในพิสัย ๒ กิโลเฮิรตซ์ ถึง ๕ กิโลเฮิรตซ์ ไวน้อยที่สุดที่ความถี่สูงมากๆ และต่ำมากๆ ปรากฏการณ์เช่นว่านี้ จะเด่นชัดที่ระดับความดันเสียงต่ำ มากกว่าที่ระดับความดันสูง ดูจากรูป กราฟแสดงความดันเสียงในระดับความถี่ต่างๆ จะเห็นมีเส้นโค้งเป็นชุด ชี้บอกระดับความดันเสียงที่ความถี่ต่างๆ ที่ให้ความดังปรากฏเท่ากับ น้ำเสียงที่ ๑๐๐๐ เฮิรตซ์ ตัวอย่างเช่น น้ำเสียง ๕๐ เฮิรตซ์ จะต้องมีระดับสูงกว่าน้ำเสียง ๑๐๐๐ เฮิรตซ์ ถึง ๑๕ เดซิเบล เพื่อจะให้ความรู้สึก เป็นความดังที่ ๗๐ เดซิเบล

คอนทัวร์ที่มีความดังเท่ากัน สำหรับเสียงบริสุทธิ์ที่ความถี่ต่างๆ
คอนทัวร์ที่มีความดังเท่ากัน สำหรับเสียงบริสุทธิ์ที่ความถี่ต่างๆ

            เราสามารถสร้างวงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่มีความไวแปรผันตามความถี่ เหมือนเช่นหูมนุษย์ได้ วงจรดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า วงจรถ่วงน้ำหนัก เอ บี และซี เป็นมาตรฐานสากล วงจรเอใช้สำหรับเส้นโค้ง (ความดังเท่ากัน) ที่ระดับความดันเสียงต่ำ วงจรบีสำหรับระดับเสียงปานกลาง และวงจรซีสำหรับระดับสูง ในปัจจุบันใช้วงจรเอกันอย่างกว้างขวาง เพราะแบบ บี และซี ไม่มีสหสัมพันธ์ที่ดีต่อการทดสอบทางการรับรู้เสียง นอกจากนี้ยังมีการปรับมาตรฐานเพิ่มเติมขึ้น สำหรับการวัดเสียงเครื่องบิน เป็นวงจรถ่วงน้ำหนักแบบดี (D) อีกด้วย

            เหตุผลหนึ่งที่วงจรถ่วงน้ำหนัก บี และ ซี ไม่ได้ให้ผลตามคาด เพราะว่า เส้นที่มีระดับเสมอกัน (หรือคอนทัวร์) นั้น ได้มาจากพื้นฐานการทดลอง โดยใช้เสียงบริสุทธิ์ (เสียงความถี่เดียว) เสียงทั่วๆ ไปส่วนมากมิใช่เสียงบริสุทธิ์ แต่เป็นสัญญาณเสียงเชิงซ้อน

เส้นโค้งถ่วงน้ำหนักตามมาตรฐานสากลสำหรับเครื่องวัด (มาตร) ระดับเสียง
เส้นโค้งถ่วงน้ำหนักตามมาตรฐานสากลสำหรับเครื่องวัด (มาตร) ระดับเสียง