เล่มที่ 20
เสียงและมลภาวะทางเสียง
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
เสียงและมนุษย์

            เสียงเป็นส่วนประกอบร่วมในชีวิตประจำวันของเรา แต่เราไม่ค่อยจะเข้าใจหน้าที่ของมันมากนัก เสียงดนตรี ทำให้เรารู้สึกสนุกสนาน เสียงนกร้อง ทำให้เราเพลิดเพลิน เสียงใช้เป็นเครื่องสื่อสารคำพูดระหว่างครอบครัว และเพื่อนฝูง เสียงปลุกและเตือนเรา เช่น เสียงกริ่งโทรศัพท์ เสียงเคาะประตู หรือเสียงรถดับเพลิง เสียงเป็นเครื่องประเมินคุณภาพ เช่น เสียงเคาะของเครื่องรถยนต์ เสียงดังเอี๊ยดอ๊าดของล้อ หรือเสียงหัวใจดังฟู่ๆ เป็นต้น

ดนตรีที่ให้ความสนุกสนาน

            ในสังคมสมัยใหม่มีอยู่บ่อยครั้ง ที่เสียงทำความเดือดร้อนรำคาญให้เรา เสียงหลายอย่างที่เป็นเสียงที่เราไม่ต้องการ ทำให้เกิดความไม่พอใจ ซึ่งเราเรียกว่า เสียงรบกวน การที่เสียงรบกวน จะทำความเดือดร้อนรำคาญให้เรามากหรือน้อยนั้น มิได้ขึ้นอยู่กับคุณภาพของเสียงเพียงอย่างเดียว แต่ยังขึ้นอยู่กับทัศนคติของเรา ที่มีต่อเสียงอีกด้วย คนขี่รถจักรยานยนต์ที่ชอบดัดแปลงท่อไอเสีย อาจชอบเสียงดังสนั่นจากรถของเรา แต่ผู้คนที่รถวิ่งผ่านจะไม่ชอบ และรู้สึกแสบแก้วหู เสียงที่ทำความเดือดร้อนรำคาญไม่จำเป็นต้องเป็น เสียงดังเสมอไป เสียงน้ำหยดจากก๊อก เสียงพื้นลั่น เสียงจากรอยขีดข่วนบนแผ่นเสียง อาจรบกวนให้รำคาญได้เหมือนเสียงดังๆ ทั้งหลาย

            ยิ่งไปกว่านั้น เสียงยังสามารถทำให้เกิดความเสียหาย และการทำลายได้อีกด้วย เช่น เสียงของคลื่นกระแทก หรือโซนิกบูมจากเครื่องบิน ทำให้บานกระจกหน้าต่างสั่น แต่ที่สำคัญที่สุดนั้น ได้แก่ การที่เสียงทำความเสียหายต่อเครื่องมือ ซึ่งมีความละเอียดอ่อนที่ใช้รับฟังอันได้แก่หูของ คนเรานั่นเอง