เล่มที่ 21
การตลาดและการส่งออกศิลปหัตถกรรม
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
            ก่อนอื่นเราควรมาทำความเข้าใจกันเสียก่อนว่า ชิ้นงานหัตถกรรมคือ งานประเภทใด มีผู้รู้ หรือผู้เชี่ยวชาญหลายท่าน ได้ให้คำจำกัดความไว้ว่า ผลิตภัณฑ์หัตถกรรม คือ ชิ้นงานที่จัดทำขึ้นด้วยฝีมือ หรือเครื่องมือ ที่ถืออยู่ในมือ หรือด้วยเครื่องจักร ที่ทำให้เดินด้วยมือหรือเท้าเป็นหลัก

            ผลิตภัณฑ์หัตถกรรม เป็นผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน ที่มีความสำคัญต่อชีวิต และสังคมของชุมชนไทยเรา ซึ่งสามารถสะท้อนให้เห็นถึงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม ฐานะความเป็นอยู่ และระดับของความเจริญรุ่งเรืองของสังคมได้อย่างดี

            ประเทศไทยมีการผลิตงานศิลปหัตถกรรมมาเป็นเวลาช้านาน นับตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ดังจะเห็นได้จากหลักฐานการค้นพบเครื่องปั้นดินเผา ที่บริเวณถ้ำผี จังหวัดขอนแก่น ซึ่งถือว่า เป็นเครื่องปั้นดินเผาที่เก่าแก่ที่สุด คือ มีอายุประมาณ ๑๐,๐๐๐ ปี เป็นต้น ผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรม ที่ผลิตในประเทศไทยมีอยู่มากมายหลายชนิดด้วยกัน ทุกคนจะต้องเคยเห็นผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมกันมาแล้ว เพราะในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าเวลาเราไปตลาด หรือเดินทางออกจากบ้านไปทำธุระใกล้หรือไกล เรามักจะพบเห็นผลิตภัณฑ์หัตถกรรมเสมอ ตัวอย่างง่ายๆ เช่น กระจาดใส่ขนม ที่สานด้วยไม้ไผ่ ดอกไม้ประดิษฐ์ ที่ทำจากผ้าหรือกระดาษต่างๆ พัดที่สานจากไม้ไผ่ หรือใบลาน ของที่ระลึก เช่น พวงกุญแจ หรือพวงระย้ารูปต่างๆ ที่ประดิษฐ์จากเปลือกหอย เป็นต้น

            การผลิตชิ้นงานหัตถกรรมในระยะแรก ก็เพื่อใช้สอยในชีวิตประจำวันภายในครอบครัว ต่อมามีการผลิตเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก รวมทั้งมีการพัฒนาเกี่ยวกับกรรมวิธีการผลิต และรูปแบบ ให้สวยงาม และมีคุณภาพดี สามารถจะนำไปซื้อขายแลกเปลี่ยนกับปัจจัยอื่น ที่สำคัญต่อการดำรงชีพภายในท้องถิ่น หรือต่างท้องถิ่นภายในประเทศ นอกจากนี้ยังสามารถส่งออกไปขายยังตลาดต่างประเทศ ทำรายได้ให้แก่ประเทศเป็นมูลค่าสูง นับเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความสำคัญยิ่งต่อเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ของประชาชนชาวไทย ผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทย ที่สามารถส่งออกไปขายยังตลาดต่างประเทศมีอยู่หลายชนิดด้วยกัน เช่น เครื่องประดับอัญมณี ดอกไม้ประดิษฐ์ เครื่องทองลงหิน เครื่องใช้ในครัวเรือนทำด้วยไม้ เครื่องปั้นดินเผา ตุ๊กตาชนิดต่างๆ เป็นต้น