การตั้งโรงฝึกศิลปาชีพในส่วนกลาง
หลังจากที่ได้ดำเนินการก่อตั้งมูลนิธิศิลปาชีพฯ แล้วสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเห็นควรให้มีการก่อสร้างอาคารศิลปาชีพขึ้น ในสวนจิตรลดา เพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนการสอนศิลปาชีพแขนงต่างๆ แก่ราษฎร ที่ได้รับคัดเลือกเข้าเรียน โดยได้เริ่มโครงการขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑ ด้วยการใช้วิธีกางเต็นท์ขึ้นข้างตึกที่ทำการของกองราชเลขานุการในพระองค์ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และต่อมามีนักเรียนเพิ่มขึ้น รวมทั้งโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มสาขาวิชาศิลปาชีพให้มากขึ้น สถานที่เรียนไม่เพียงพอ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อสร้างอาคารศิลปาชีพขึ้น โดยทรงใช้จ่ายจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ อีกจำนวนหนึ่ง
ศูนย์ศิลปาชีพพิเศษบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผู้เข้ารับการฝึกอบรม
ในระยะแรก สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จะทรงคัดเลือกผู้ที่สมควรได้รับการฝึกสอนด้วยพระองค์เอง โดยจะทรงคัดเลือกจากกลุ่มสตรีและเกษตรกร ที่มีฐานะยากจน และไร้ที่ทำมาหากิน ต่อมางานศิลปาชีพได้แพร่ขยายเพิ่มขึ้น มีการจัดตั้งศูนย์ฝึกศิลปาชีพในภาคต่างๆ ศูนย์ศิลปาชีพแต่ละแห่ง จะพิจารณาคัดเลือกผู้เข้ารับการฝึก โดยยึดพระราโชบายของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เป็นหลัก
การจัดหาครูผู้ฝึกสอน
ในระยะแรก สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จะทรงเสาะแสวงหาครูผู้มีฝีมือ ด้านศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน ที่ยังหลงเหลืออยู่ มาถ่ายทอดวิชาการอันละเอียดอ่อน ซึ่งบางคนก็เป็นชาวบ้านในท้องถิ่น ข้าราชบริพาร รวมทั้งการขอความร่วมมือจากครูผู้ฝึกสอนงานหัตถกรรมในครอบครัว ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้มาช่วยฝึกสอนแก่ราษฎร์อีกด้วย ต่อมาการจัดหาครูฝึกสอนได้อยู่ในความรับผิดชอบของมูลนิธิฯ
วิชาศิลปาชีพที่เปิดสอน
ปัจจุบันที่ศูนย์อุตสาหกรรมศิลปาชีพ สวนจิตรลดา มีผู้เข้ารับการฝึกอบรมมากกว่าศูนย์ศิลปาชีพในภาคอื่นๆ วิชาที่เปิดสอนมี ๒๐ สาขา คือ
๑. ถมเงินและถมทอง ๒. ช่างเครื่องเงินและเครื่องทอง ๓. การเขียนลาย ๔. การทำคร่ำ ๕. การจักสานย่านลิเภา ๖. การจักสานลายขิต ๗. การตกแต่งด้วยปีกแมลงทับ ๘. การทอผ้าไหม ๙. การทอจก ๑๐. การทอพรม ๑๑. การปักผ้า ๑๒. การผลิตดอกไม้ประดิษฐ์ ๑๓. การตัดเย็บ ๑๔. การแกะตัวหนังตะลุง ๑๕. การแกะสลักไม้ ๑๖. การแกะสลักหินอ่อน ๑๗. การปั้น ๑๘. การบรรจุภัณฑ์ ๑๙. งานช่างไม้ ๒๐. งานช่างหวาย |