สัญลักษณ์ ๕๐ ปีแห่งสหประชาชาติ
วัตถุประสงค์และหลักการของสหประชาชาติ
วัตถุประสงค์ซึ่งกล่าวไว้ในมาตรา ๑ ของกฎบัตรแห่งสหประชาชาติ มีอยู่ว่า จะรักษาสันติสุข และความมั่นคงแห่งโลก จะป้องกัน และขจัดเสีย ซึ่งสาเหตุแห่งการคุกคามชีวิต จะสร้างสัมพันธภาพอันดีงาม ระหว่างชาติต่างๆ มีความเคารพสิทธิ และความเสมอภาค ตลอดจนอิสรภาพ ในการปกครองตนเองของทุกประเทศ ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ จะส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อผดุงสันติภาพ สร้างความมั่นคง และความก้าวหน้า โดยเสมอหน้ากัน โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างของเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา เพศ วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ
หลักการที่กำหนดไว้ เพื่อให้ปฏิบัติการได้ตามวัตถุประสงค์นั้น มีประเด็นสำคัญ ซึ่งกล่าวไว้ในมาตรา ๒ ของกฎบัตร คือ การยึดหลักแห่งความเสมอภาค ในอธิปไตยของมวลสมาชิก ขอให้มวลสมาชิกปฏิบัติ ตามข้อผูกพัน ที่ระบุในกฎบัตร ด้วยความจริงใจ สมาชิกจะต้องระงับกรณีพิพาทระหว่างประเทศของตน โดยสันติวิธี ต้องละเว้นจากการคุกคาม หรือใช้กำลังต่อบูรณภาพแห่งอาณาเขต หรือเอกราชทางการเมืองของรัฐใดๆ มวลสมาชิกจะให้ความช่วยเหลือแก่องค์การ ในการกระทำต่างๆ ที่ดำเนินไปตามกฎบัตรฉบับปัจจุบัน สำหรับรัฐที่มิใช่สมาชิก องค์การถือว่า จะต้องปฏิบัติตามหลักการในกฎบัตรเท่าที่จำเป็นต่อการธำรงไว้ ซึ่งสันติภาพ และความมั่นคงระหว่างประเทศ
พุทธศักราช ๒๕๓๘ (ค.ศ.๑๙๙๕) เป็นปีที่องค์การสหประชาชาติดำเนินการมาได้ ๕๐ ปี องค์การได้มีบทบาทสำคัญตลอดมา ตั้งแต่แรกตั้งองค์การ ในการพยายามระงับการพิพาทระหว่างประเทศที่ใช้กำลัง ในการช่วยเหลือพัฒนาการด้านเศรษฐกิจ และสังคมของหลายๆ ประเทศ ที่ประสบความเสียหาย เนื่องจาก สงคราม รวมทั้งประเทศ ที่ต้องเผชิญกับความแร้นแค้นของธรรมชาติ องค์การสหประชาชาติดำเนินการ ด้วยความร่วมมือของประเทศสมาชิก ซึ่งมีอยู่ทั่วโลก มีองค์กรในเครือ ซึ่งดำเนินการเฉพาะด้านหลายองค์กร ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะบางองค์กร ซึ่งเกี่ยวข้องอย่างมากกับประเทศต่างๆ ในภาคพื้นเอเชีย และแปซิฟิก และในประเทศไทย องค์กรเหล่านี้แบ่งกว้างๆ ออกได้เป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มที่มีลักษณะเป็น แผนงาน (Programme) หรือกองทุน (Fund) หรือคณะกรรมการ (Commission) และกลุ่มที่เป็นองค์การชำนัญพิเศษ (Specialized agencies) ซึ่งมีการจัดระบบบริหารแบบองค์การ (Organization) เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย มีธรรมนูญ หรือกฎบัตร เป็นกฎหมายแม่บท รองรับความเป็นองค์การ |