เล่มที่ 21
องค์การสหประชาชาติและองค์การในเครือ
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
องค์กรในเครือสหประชาชาติที่เป็นคณะกรรมการแผนงานและกองทุน

องค์กรของสหประชาชาติในกลุ่มนี้ ได้แก่

            ๑) คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชีย และแปซิฟิก (Economic and Social Commission for Asia and the Pacific-ESCAP)

            ๒) กองทุน สหประชาชาติเพื่อสงเคราะห์เด็ก (United Nations Children's Fund-UNICEF)

            ๓) แผนงาน สหประชาชาติเพื่อการพัฒนา (United Nations Development Programme-UNDP)

            ๔) แผนงาน สหประชาชาติเพื่อพัฒนาสิ่งแวดล้อม (United Nationations Environment Programme-UNEP)

            ๕) กองทุนสหประชาชาติเพื่อประชากร (United Nations Population Fund-UNPF)

            ๖) แผนงานอาหารแห่งโลก (World Food Programme-WFP)

            ๗) สำนักงานผู้ว่าการใหญ่แห่งสหประชาชาติ เพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยสงคราม (United Nations High Commissioner for Refugees-UNHCR)

            ๘) แผน งานสหประชาชาติเพื่อควบคุมยาเสพติดในนานา ประเทศ (United Nations International Drug Control Programme-UNDCP)

            ๙) กองทุน สหประชาชาติเพื่อการพัฒนาสตรี (United Nations Development Fund for Women-UNIFEM)


การพัฒนาเศรษฐกิจในชนบท
การพัฒนาเศรษฐกิจในชนบท
คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชีย และแปซิฟิก-เอสแคป
(Economic and Social Commission for Asia and the Pacific-ESCAP)


            ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ (ค.ศ. ๑๙๔๗) ณ นครเซียงไฮ้ ประเทศจีน ขณะนั้นเรียกว่า คณะกรรมการเศรษฐกิจ เพื่อเอเชีย และตะวันออกไกล (Economic Commission for Asia and the Far East-ECAFE) มีหน้าที่ช่วยเหลือการ ฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ อีกสอง ปีต่อมาได้ย้ายสำนักงานมาตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร เปลี่ยนชื่อเป็น คณะกรรมการเศรษฐกิจและ สังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๗ (ค.ศ. ๑๙๗๔) เพื่อขยายขอบเขตการพัฒนาไปสู่ ด้านสังคม และขยายอาณาบริเวณทางภูมิศาสตร์ ครอบคลุมประเทศที่อยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก รวมออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และเกาะอื่นๆ เอสแคป มีส่วนอย่างมากในการริเริ่มจัดตั้งธนาคารเพื่อ การพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank) เครือข่ายทางหลวงแห่งเอเชีย (Asian Highway Network) และคณะกรรมการเพื่อพัฒนาแม่น้ำโขง (The Mekhong River Commission)

            วัตถุประสงค์หลักของเอสแคป คือ การนำความเจริญด้านเศรษฐกิจ และสังคมมาสู่ประเทศ ในเอเชียแปซิฟิกที่ด้อยพัฒนา และด้อยโอกาส ช่วยขจัดความยากจน และช่วยพัฒนาชีวิตให้มีคุณภาพ มีหน้าที่หลักอยู่ ๔ ประการ คือ

            ๑) วิจัย และวิเคราะห์ปัญหาอย่างลึกซึ้งในด้านเศรษฐกิจ และสังคมของภาคพื้น

            ๒) รวมพลังของประเทศ สมาชิก (๔๙ ประเทศ และสมาชิกวิสามัญ อีก ๑๐ ประเทศ) ให้ระดมและแลกเปลี่ยน ประสบการณ์เพื่อการพัฒนา

            ๓) ให้ความช่วย เหลือทางเทคโนโลยี โดยสำนักงานเอสแคป และโดยขอความร่วมมือจากประเทศที่พัฒนาแล้ว

            ๔) รวบรวมและกระจายความรู้และข้อมูลเกี่ยว กับด้านเศรษฐกิจสังคม และการพัฒนาด้านต่างๆ ให้แก่ประเทศสมาชิก

            รัฐสมาชิกของเอสแคปร่วมมือกันสร้างความเจริญ ในภาคพื้นทุกด้าน ให้เป็นสังคมสมัยใหม่ ส่งเสริมการลงทุน อุตสาหกรรม การพาณิชย์ ขจัดความยากจน พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ พัฒนาชนบท และเมือง สำนักงานเลขาธิการ ให้ความช่วยเหลือทางความรู้ ให้คำแนะนำ จัดพิมพ์เผยแพร่เอกสาร จัดการอบรม และสัมมนาทุกด้าน

            สำนักงานเลขาธิการตั้งอยู่ที่ถนนราชดำเนิน กรุงเทพมหานคร ๑๐๒๐๐ โทรศัพท์ (๖๖๒) ๒๘๘-๑๒๓๔ โทรสาร (๖๖๒) ๒๘๘-๑๐๐๐


เด็กคือเป้าหมายการพัฒนาของยูนิเซฟ
เด็กคือเป้าหมายการพัฒนาของยูนิเซฟ

เด็กคือเป้าหมายการพัฒนาของยูนิเซฟ
เด็กคือเป้าหมายการพัฒนาของยูนิเซฟ
กองทุนสหประชาชาติเพื่อสงเคราะห์เด็ก- ยูนิเซฟ
(The United Nations International Children's Fund-UNICEF)


            กองทุนนี้ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖) เพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างรีบด่วนแก่เด็กกำพร้า เพราะสงครามโลกครั้งที่ ๒ มีชื่อเมื่อแรกตั้งว่า กองทุนเพื่อช่วยเหลือเด็กในยามฉุกเฉิน (The United Nations International Children's Emergency Fund- UNICEF) ต่อมาที่ประชุมใหญ่แห่งสหประชาชาติเห็นว่า ควรขยายขอบเขตจากเดิมให้เป็นกองทุนที่ ช่วยเหลือเด็กในประเทศด้อยพัฒนาในระยะยาว จึงได้เปลี่ยนชื่อโดยยกคำระหว่างประเทศ (International) และคำฉุกเฉิน (Emergency) ออกไป แต่คงคำย่อไว้อย่างเดิม ในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๖ (ค.ศ. ๑๙๕๓) องค์การสหประชาชาติ ยกฐานะกองทุนขึ้นเป็นส่วนหนึ่งขององค์การ

            กองทุนยูนิเซฟ เป็นองค์กรเดียวขององค์การสหประชาชาติ ที่อุทิศการปฏิบัติงานเพื่อเด็ก มีวัตถุประสงค์ในการเชิญชวนให้รัฐบาลต่างๆ สนใจในสุขภาพ ความเป็นอยู่ และการเจริญเติบโตของเด็ก ให้ผูกพันเร่งรัดการพัฒนาเด็ก ทั้งในด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา และคุณธรรม องค์กรพร้อมที่จะช่วยเหลือประเทศต่างๆ ปรับปรุง มาตรการและแนวทางปฏิบัติเพื่อปกป้องชีวิต ให้ ความคุ้มครองสิทธิต่างๆ ที่เด็กพึงได้รับ สนับสนุน โครงการเพื่อการพัฒนาเด็กทั่วโลก

            องค์การสหประชาชาติมอบหมายให้ยูนิเซฟ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการนำข้อตกลงระดับสากล ไปสู่ภาคปฏิบัติ ข้อตกลงฉบับแรกคือ ปฏิญญาสากล ว่าด้วยสิทธิของเด็ก (The Declaration on the Rights of the Children) ซึ่งประกาศเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๒ (ค.ศ. ๑๙๕๙) เตือนให้ระลึกว่า เด็กมีสิทธิที่จะได้รับอาหาร ที่อยู่อาศัย นันทนาการ การรักษาโรค การศึกษา และสิทธิในการที่จะได้ รับความช่วยเหลือให้พัฒนาทั้งในด้านร่างกาย จิตใจ คุณธรรม สติปัญญา โดยมีศักดิ์ศรีและอิสระเสรี ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๓๓ (ค.ศ. ๑๙๙๐) ได้มี ข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิของเด็ก (The Convention on the Rights of the Child) มีประเทศ ลงนามให้สัตยาบรรณ ๑๗๙ ประเทศ รวมทั้ง ประเทศไทย ทำให้เป็นที่ชัดเจนมากขึ้นว่า ประเทศต่างๆ จะเน้นความสนใจให้แก่สวัสดิการ และพัฒนการของเด็กมากขึ้น

            งานสำคัญของยูนิเซฟที่มีผลดีแก่เด็กทั่วไป มีหลายประการ เช่น การฉีดวัคซีนให้เกิดภูมิคุ้มกันโรคแก่เด็กทารกเพิ่งเกิด ได้ถึงร้อยละ ๙๐ ในประเทศเอเชียใต้ และแปซิฟิก การขจัดโรคโปลิโอในเด็ก การขจัดโรคที่เกิดจากการขาดวิตามินเอ การเติมไอโอดินลงในเกลือ เพื่อความเจริญเติบโต ของสมอง เป็นต้น สำหรับจุดมุ่งหมาย ใน พ.ศ. ๒๕๔๓ (ค.ศ. ๒๐๐๐) เป็นต้นไป ยูนิเซฟ จะขยายกิจกรรมที่เริ่มใน พ.ศ. ๒๕๓๙ ออกไปอีก จะลดอัตราการตายของเด็กแรกเกิดให้เหลือหนึ่ง ในสาม ลดการตายของมารดาในการคลอดให้ เหลือครึ่งหนึ่ง จะให้การศึกษาพื้นฐานแก่เด็ก ทุกคน อย่างน้อยร้อยละ ๘๐ ทั้งเด็กผู้หญิงและ ผู้ชายจะได้รับการศึกษาจนจบชั้นประถมศึกษา

ยูนิเซฟได้รับรางวัลโนเบลเพื่อสันติภาพเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๘ (ค.ศ. ๑๙๖๕)

            สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออก และแปซิฟิก ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๐ (ค.ศ. ๑๙๔๗) ในประเทศไทย สำนักงานตั้งอยู่ที่ อาคารเลขที่ ๑๙ ถนนพระอาทิตย์ กรุงเทพมหานคร ๑๐๒๐๐ ตู้ไปรษณีย์เลขที่ ๒-๑๕๔ โทรศัพท์ (๖๖๒) ๒๘๐-๕๙๓๑ โทรสาร (๖๖๒) ๒๘๐-๓๕๖๓


ยูเอ็นดีพีช่วยเหลือทางการเงินและวิชาการในการพัฒนาประเทศ
ยูเอ็นดีพีช่วยเหลือทางการเงินและวิชาการในการพัฒนาประเทศ

ยูเอ็นดีพีช่วยเหลือทางการเงินและวิชาการในการพัฒนาประเทศ
ยูเอ็นดีพีช่วยเหลือทางการเงินและวิชาการในการพัฒนาประเทศ
แผนงานสหประชาชาติเพื่อการพัฒนา- ยูเอ็นดีพี
(United Nations Development Programme-UNDP)


            แผนงานสหประชาชาติตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๘ (ค.ศ. ๑๙๖๕) เป็นองค์กรกลาง สำหรับจัดสรรทางการเงิน และความเชี่ยวชาญในวิชาการ ที่ต้องใช้ในการพัฒนาประเทศ มีวัตถุประสงค์ในการสร้างเสริม และสนับสนุนประเทศที่กำลังพัฒนา ให้สามารถพึ่งพาอาศัยตนเองได้ และเพื่อการ พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในโลกนี้ แผนงานนี้ได้รับ การสนับสนุนทางการเงินจากประเทศสมาชิกของ สหประชาชาติ ได้ดำเนินกิจกรรมด้วยความร่วมมือ จากหน่วยงานของรัฐ องค์กรเอกชน และบุคคล ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ในช่วงพ.ศ. ๒๕๓๕- พ.ศ. ๒๕๓๙ ได้จัดสรรเงินช่วยเหลือไปแล้ว เป็นจำนวนประมาณ ๑๓๗ ล้านเหรียญสหรัฐ เงินช่วยเหลือนี้ให้แก่ประเทศต่างๆ สำหรับการปรับปรุงนโยบายการพัฒนา และปรับปรุงหน่วยงานของรัฐให้มีประสิทธิภาพ ช่วยในการสร้างและปฏิบัติการ ตามแผนพัฒนาแห่งชาติ ส่วนใหญ่เป็นการให้ทุน เพื่อการศึกษาต่อ และดูงาน ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๓ ได้ให้ทุนการศึกษาต่อแก่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกมากกว่า ๕๐๐,๐๐๐ ทุน เพื่อการพัฒนาคนให้มีประสิทธิภาพ นอกจากช่วยเหลือทางการเงินแล้ว ยังช่วยเหลือทางวิชาการ โดยส่งผู้เชี่ยวชาญวิชาการที่ต้องใช้ เพื่อการพัฒนา ให้แก่ประเทศที่ต้องการ ส่งเสริมการแลกเปลี่ยน ความรู้ ความคิด และประสบการณ์ ระหว่างนักวิชาการในสาขาวิชาต่างๆ

จุดประสงค์หลักในการดำเนินงานของแผนงานยูเอ็นดีพี มีอยู่ ๓ ประการ คือ

            ๑) พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยขจัดความยากจน
            ๒) จัดการและปฏิรูปทางเศรษฐกิจและ
            ๓) จัดการกับสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ

            ทั้งนี้โดยอาศัยความร่วมมือกับองค์กร ทั้งภาครัฐ และเอกชน พยายามจัดโครงการให้ความช่วยเหลือต่างๆ มีประสิทธิภาพ และเกิดผลอย่างดี คุ้มการลงทุน

            ในการขจัดความยากจน แผนการมุ่งเน้นการสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง ส่งเสริมทักษะทางวิชาชีพ และการผลิต สร้างเสริมความสามารถในการจัดการสังคมเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ การจัดการ และปฏิรูป ด้านเศรษฐกิจ มุ่งเน้นการพัฒนานโยบายเศรษฐกิจ และการพาณิชย์ เสริมโครงสร้างทางพาณิชย์ ส่วนด้านสิ่งแวดล้อม และการจัดการทรัพยากรธรรมชาตินั้น จะช่วยเหลือรัฐสมาชิกในการสร้างความยั่งยืนแก่สิ่งแวดล้อมที่ดี ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีที่ลดของเสีย และเศษขยะ สนับสนุนพัฒนาการวิจัย เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม

            สำนักงานยูเอ็นดีพี ในประเทศไทย ตั้งอยู่ที่อาคารสหประชาชาติ ถนนราชดำเนิน ตู้ไปรษณีย์ ๖๑๘ กรุงเทพมหานคร ๑๐๕๐๑ โทรศัพท์ (๖๖๒) ๒๘๘-๑๒๓๔, ๒๘๘-๑๘๑๐ โทรสาร (๖๖๒) ๒๘๐-๐๕๕๖


ปะการังสมองที่หายากต้องอนุรักษ์
ปะการังสมองที่หายากต้องอนุรักษ์
แผนงานสหประชาชาติเพื่อพัฒนาสิ่งแวดล้อม -ยูเนป (United Nations Environment Programme-UNEP)

            แผนงานยูเนป ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ (ค.ศ. ๑๙๗๒) เป็นไปตามข้อตกลง ของที่ประชุมของสหประชาชาติ เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ ณ กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ในเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน หน้าที่ของ แผนงานนี้คือ เป็นศูนย์กลางในการประสานงาน และเร่งรัดให้มีการพัฒนาสิ่งแวดล้อม โดยความ ร่วมมือกับองค์การอื่นๆ ของสหประชาชาติ รัฐบาล องค์การเอกชน และองค์การระหว่างรัฐบาล

ขอบเขตงานของยูเนปมี ๓ ประการ คือ

            ๑) ประเมินสภาพสิ่งแวดล้อม
            ๒) จัดการกับ สิ่งแวดล้อม และ
            ๓) สนับสนุนมาตรการเกี่ยวกับ สิ่งแวดล้อม

            จุดหมายปลายทางคือ ช่วยเหลือประเทศสมาชิก ให้มีการพัฒนาที่ยั่งยืน มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ โดยไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ช่วยจัดสรรสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม แก่การมีชีวิตที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะสำหรับ ประเทศในเอเชียและแปซิฟิก

            เรื่องสำคัญที่ต้องดำเนินการแก้ไขด่วนเป็นลำดับแรก ได้แก่ การคุ้มครองบรรยากาศของโลก การรักษาคุณภาพของน้ำจืด การคุ้มครองทะเล มหาสมุทร และริมฝั่ง การระงับการตัดไม้ทำลายป่า และก่อให้เกิดสภาพทะเลทราย สิ่งแวดล้อมกับ สุขภาพ การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ การจัดการกับ ฤทธิ์ของสารเคมีและขยะอุตสาหกรรม การสร้างเสริมสมรรถภาพ ในการจัดการกับสิ่งแวดล้อม

ยุทธศาสตร์ในการดำเนินการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมดังกล่าว มีอยู่สามประการ คือ

            ๑) อนุรักษ์อย่างยั่งยืน จัดการ และใช้ทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะอากาศ ดิน น้ำ และระบบนิเวศ มิให้เกิดผลเสียตามมา

            ๒) ลดและป้องกันมลพิษ โดยวิธีชำระบำบัดของเสีย การนำของใช้แล้ว มาทำประโยชน์

            ๓) ส่งเสริมสนับสนุน ให้มีการลงนาม ให้สัตยาบรรณ เพื่อดำเนินการตามข้อมตกลงต่างๆ เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เช่น ข้อตกลง ณ เมืองมอนทรีออล (Montreal) และบาเซิล (Basel) เรื่องเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ

            แผนงานสหประชาชาติเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินงานสำคัญไปแล้วหลายประการ เช่น การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ของรัฐบาล ด้านการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม การ กำหนดยุทธศาสตร์ด้านข่าวสารและการสื่อสาร ในเอเชีย และแปซิฟิก ในช่วง พ.ศ. ๒๕๓๘ - พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ ด้านจัดการสิ่งแวดล้อมทางอุตสาหกรรม เพื่อลดการใช้สารเคมี ที่ทำลายโอโซน ในประเทศกำลังพัฒนา การฝึกอบรมการใช้ยาฆ่าแมลง และสารเคมีในบ้านอย่างปลอดภัย และอื่นๆ อีกมาก

            สำนักงานภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิกของยูเนป ตั้งอยู่ในอาคารสหประชาชาติ ถนนราชดำเนิน กรุงเทพมหานคร ๑๐๒๐๐ โทรศัพท์ (๖๖๒) ๒๘๘-๑๒๓๔, ๒๘๘-๑๘๗๐ โทรสาร (๖๖๒) ๒๘๐-๓๘๒๙


กองทุนสหประชาชาติเพื่อประชากร-ยูเอ็น เอฟพีเอ
(United Nations Population Fund- UNFPA)


            กองทุนนี้ตั้งขึ้น เมื่อพ.ศ. ๒๕๑๒ (ค.ศ. ๑๙๖๙) เพื่อช่วยเหลือประเทศ ที่กำลังพัฒนา ในด้านการวางแผนประชากร และเพื่อบริหารทรัพยากร ที่ต้องใช้ ในการให้ความร่วมมือทางวิชาการด้านประชากรศาสตร์ กองทุนนี้ได้สนับสนุนกิจกรรมด้านประชากร ให้แก่ประเทศต่างๆ ถึง ๑๔๐ ประเทศตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๒ จนถึง พ.ศ. ๒๕๓๖ ได้จ่ายเงินอุดหนุนไปแล้ว ถึง ๙๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐ ร้อยละ ๖๐ ของเงินจำนวนนี้ เป็นค่าใช้จ่ายในการวางแผนครอบครัว ขณะนี้กองทุนช่วย เหลือด้านประชากรนับว่าเป็นกองทุนสหประชาชาติ ที่ใหญ่ที่สุด

            วัตถุประสงค์หลักของกองทุน คือ ช่วยเหลือประเทศที่กำลังพัฒนา ในด้านประชากร ซึ่งมีอยู่สี่ประการ คือ

            ๑) ช่วยดำเนินการตามนโยบายด้านประชากร ให้เหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการของประเทศนั้นๆ

            ๒) ช่วยสร้างเสริมสมรรถนะของแต่ละประเทศ ในการสนองความต้องการด้านประชากร และการวางแผนครอบครัว

            ๓) รณรงค์ให้เกิดความตระหนัก ในปัญหาประชากร และกำหนดยุทธศาสตร์ เพื่อแก้ปัญหาเหล่านั้น

            ๔) บูรณาการแผนการประชากรเข้ากับแผนการพัฒนาด้านอื่นๆ ของประเทศ

            แผนการนี้ตระหนักในความสำคัญของสุขภาพแม่และเด็ก พัฒนาการของเด็ก และคุณภาพชีวิต จึงจัดให้ความช่วยเหลือแม่และเด็ก และการวางแผนครอบครัวเป็นอันดับหนึ่ง มีการช่วยจัดหาอุปกรณ์ และเครื่องมือในการวางแผนครอบครัว ช่วยฝึกอบรมบุคลากรที่ดำเนินงานนี้ ให้คำแนะนำ และประเมินผล จัดพิมพ์เอกสาร และดำเนินงานด้านสื่อมวลชนเพื่อเผยแพร่ความรู้ เกี่ยวกับประชากร และการวางแผนครอบครัว รณรงค์ให้เกิดความตระหนักในคุณค่าและการมี ส่วนร่วมของสตรีในการพัฒนาประเทศ ให้สตรีมี สิทธิทัดเทียมกับบุรุษ ให้มีการพัฒนาที่ยั่งยืน สำหรับทรัพยากรมนุษย์

            สำนักงานยูเอ็นเอฟพีเอ ในประเทศไทย ตั้งอยู่ที่อาคารสหประชาชาติชั้นที่ ๑๒ ถนน ราชดำเนิน กรุงเทพมหานคร ๑๐๒๐๐ โทรศัพท์ (๖๖๒) ๒๘๘-๑๒๓๔, ๒๘๘-๑๘๔๘, ๒๘๘-๑๘๔๙ โทรสาร (๖๖๒) ๒๘๐-๑๘๗๑


การลำเลียงอาหารจากชายแดนไทยไปเขมร
การลำเลียงอาหารจากชายแดนไทยไปเขมร
แผนงานอาหารแห่งโลก-ดับเบิลยูเอฟพี
(World Food Programme-WFP)


            แผนงานอาหารแห่งโลกตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๖ (ค.ศ. ๑๙๖๓) โดยองค์การสหประชาชาติ และองค์การอาหารและเกษตร เพื่อใช้อาหาร เงิน และบริการด้านสวัสดิการ ให้แก่รัฐสมาชิกของสหประชาชาติ เป็นการส่งเสริมพัฒนาการด้านเศรษฐกิจ และสังคม เป็นแผนงานช่วยเหลือด้าน อาหารที่ใหญ่ที่สุดในโลก ความช่วยเหลือได้จาก ประเทศสมาชิกประมาณ ๗๕ ประเทศ ซึ่งให้เงิน หรือให้อาหารแก่แผนงานนี้ ประเทศไทยไม่ได้ เป็นประเทศที่รับความช่วยเหลือ แต่เป็นแหล่ง จำหน่ายอาหารให้แก่แผนงาน เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้จำหน่ายอาหารต่างๆ เป็นมูลค่าถึง ๔๐ ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับแจกจ่ายไปยังประเทศที่ขาดแคลน

            วัตถุประสงค์หลักของแผนงานอาหารแห่งโลก คือ การช่วยเหลือประเทศที่กำลังพัฒนา ให้ขจัดความยากจน และความหิวโหยได้ เช่น จัดอาหารให้แก่ผู้ใช้แรงงาน ที่ได้ค่าจ้างน้อย ช่วยใน การปรับปรุงที่ดินเพื่อการเกษตร ช่วยฟื้นฟูสภาพ ป่าไม้ พัฒนาแหล่งประมง ช่วยปรับปรุงโครง- สร้างสำคัญๆ เช่น สร้างถนน สร้างระบบน้ำ ประปา ศูนย์เลี้ยงเด็ก และโรงเรียนสำหรับเด็กก่อนวัยเรียน นอกจากนี้ยังช่วยบรรเทาความอดอยาก อันเกิดจากภัยธรรมชาติ และภัยสงคราม เช่น จัดอาหารให้แก่ชาวเขมรอพยพ ๓๖๐,๐๐๐ คน คิดเป็นเงินช่วยเหลือกว่า ๒๗๐ ล้านเหรียญสหรัฐ

            สำนักงานแผนงานอาหารแห่งโลกใน ประเทศไทยตั้งอยู่ที่ อาคารสหประชาชาติชั้น ๔ ถนนราชดำเนิน กรุงเทพมหานคร ๑๐๒๐๐ โทรศัพท์ (๖๖๒) ๒๘๘-๑๒๓๔, ๒๘๘-๑๔๖๑ โทรสาร (๖๖๒) ๒๘๐-๐๔๒๗


กองกำลังสหประชาชาติในเขมรต้อนรับผู้อพยพจากประเทศไทยคืนสู่มาตุภูมิ
กองกำลังสหประชาชาติในเขมรต้อนรับผู้อพยพจากประเทศไทยคืนสู่มาตุภูมิ

ผู้อพยพชาวศรีลังกา ณ ศูนย์รับผู้อพยพที่ทรินโคมาลีศรีลังกา ก่อนเดินทางเข้าหมู่บ้าน
ผู้อพยพชาวศรีลังกา ณ ศูนย์รับผู้อพยพที่ทรินโคมาลีศรีลังกา ก่อนเดินทางเข้าหมู่บ้าน
สำนักงานผู้ว่าการใหญ่แห่งสหประชาชาติ เพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยสงคราม-ยูเอ็นเอชซีอาร์
(United Nations High Commissioner for Refugees-UNHCR)


            สำนักงานนี้ตั้งขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๔ (ค.ศ. ๑๙๕๑) เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ลี้ภัยสงครามทั่วโลก เมื่อแรกตั้ง ขอบเขตความช่วยเหลือ จำกัดอยู่เฉพาะประเทศ ในทวีปยุโรปที่ประสบภัยจากสงครามโลกครั้งที่ ๒ ครั้นต่อมา ได้ขยายขอบเขตภารกิจไปทั่วโลก เอเชียและ แปซิฟิกเป็นภาคพื้นหนึ่ง ซึ่งได้รับความช่วยเหลือ จากสำนักงานนี้อย่างมาก จากจำนวนผู้ลี้ภัย ๒๗ ล้านทั่วโลก ประมาณ ๗.๘ ล้าน อยู่ในภูมิภาคนี้ เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๑๘ รัฐบาลไทยได้ขอให้สำนักงานมาจัดตั้งสาขาขึ้นในประเทศไทย เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยสงครามกลางเมือง ในประเทศอินโดจีน คือ เขมร เวียดนาม และลาว สำนักงานสาขาก็ได้ดำเนินการเรื่อยมา ได้จัดหาที่อยู่อาศัยให้แก่ผู้ลี้ภัย ให้ไปอยู่ในประเทศอื่น ๖๘๐,๒๗๔ คน ได้ช่วยให้กลับมาตุภูมิ เมื่อเหตุการณ์สงบแล้ว เป็นจำนวน ๒๖๐,๐๐๐ คน

            ผู้ลี้ภัยตามนิยามที่กำหนดไว้ในข้อตกลง เกี่ยวกับสถานภาพของผู้ลี้ภัยที่กำหนดขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๔ (Convention Relation to the Status of Refugees ๑๙๕๑) มีอยู่ดังนี้ "ผู้ลี้ภัย คือ บุคคลที่อยู่นอกประเทศภูมิลำเนา เนื่องจากความหวาดกลัว อย่างมีเหตุผลเพียงพอว่า จะถูกประหัตประหาร เพราะความแตกต่างด้านเชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติของสมาชิกของกลุ่มสังคมใดสังคมหนึ่ง หรือเพราะความคิดเห็นทางการเมือง เป็นผู้ซึ่งไม่อาจ หรือไม่ยินดี รับความคุ้มครองจากประเทศนั้นๆไม่ยินดีกลับไป เพราะกลัวจะถูกประหัตประหาร"

            สำนักงานผู้ว่าการใหญ่แห่งสหประชาชาติ เพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยสาขาในภาคพื้นเอเชียและ แปซิฟิก ตั้งอยู่ในประเทศไทย อาคารสหประชาชาติ ถนนราชดำเนิน กรุงเทพมหานคร ๑๐๒๐๐ โทรศัพท์ (๖๖๒) ๒๘๘-๑๒๓๔, ๒๘๘-๑๘๕๑ โทรสาร (๖๖๒) ๒๘๐-๐๕๕๕, ๒๘๑-๖๑๐๐


เปลี่ยนจากการปลูกต้นฝิ่นเป็นการปลูกไม้ดอก
เปลี่ยนจากการปลูกต้นฝิ่นเป็นการปลูกไม้ดอก
แผนงานสหประชาชาติเพื่อควบคุมยา เสพติดในนานาประเทศ-ยูเอ็นดีซีพี
(The United Nations International Drug Control Programme-UNDCP)


            แผนงานนี้เริ่มขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๔ (ค.ศ. ๑๙๙๑) โดยรวมหน่วยงานเดิมของสหประชาชาติ สามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามยาเสพติดเข้าด้วยกัน วัตถุประสงค์หลักของแผน งานนี้คือ การช่วยเหลือประเทศสมาชิกรณรงค์ เพื่อกำจัดการลักลอบค้ายาเสพติด การผลิตยา เสพติด และควบคุมการใช้ยาเสพติดทั่วโลก ใน ภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก มีสำนักงานภูมิภาค ย่อยสองแห่ง คือ ในประเทศไทยสำหรับดำเนิน กิจการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และที่อินเดีย สำหรับดำเนินงานในเอเชียใต้ นอกจากนี้ยังมี สำนักงานย่อยประจำประเทศอีกหลายประเทศ

            กิจกรรมหลักของแผนงานนี้ได้แก่ การลดการผลิตยาเสพติด และการปลูกพืช ซึ่งนำมาใช้ในการผลิตยาเสพติด พัฒนาชนบท เพื่อขจัดการปลูกพืช ที่เป็นยาเสพติด เช่น ฝิ่น กัญชา หาทางป้องกันการใช้ยาเสพติด ฟื้นฟูสภาพจากการติดยา ช่วยเหลือผู้เลิกเสพยา ให้ปรับตัวเข้าสังคมปกติได้ ช่วยรัฐต่างๆ ในการร่างกฎหมายต่อต้านการผลิต การใช้และการลักลอบนำยาเสพติดจากแหล่งผลิต ไปสู่ประเทศอื่น นอกจากนี้ยังได้จัดการประชุม และสัมมนาในระดับภาคพื้นเกี่ยวกับปัญหาและ แนวทางแก้ไขการใช้ยาเสพติด สำหรับเอเชียนั้น แผนงานยังได้ช่วยเหลือรัฐบาลให้แก้ปัญหา "การฟอกเงินทุจริต" ที่ได้มาจากการจำหน่ายยาเสพติด แต่ทำให้ดูเหมือนว่า เป็นเงินที่ได้มาสุจริตอีกด้วย

            สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของแผนงานนี้ ตั้งอยู่ที่ อาคารสหประชาชาติ ถนนราชดำเนิน กรุงเทพมหานคร ๑๐๒๐๐ ตู้ ไปรษณีย์ ๖๑๘ โทรศัพท์ (๖๖๒) ๒๘๘-๑๒๓๔, ๒๘๘-๑๙๐๔ โทรสาร (๖๖๒) ๒๘๑-๒๑๒๙


ผู้บริหารควรคำนึงถึงสภาพการใช้แรงงานสตรีให้สมควรแก่กำลัง ความสามารถและความปลอดภัย
ผู้บริหารควรคำนึงถึงสภาพการใช้แรงงานสตรีให้สมควรแก่กำลัง ความสามารถและความปลอดภัย
กองทุนสหประชาชาติเพื่อการพัฒนาสตรี- ยูนิเฟม
(The United Nations Development Fund for Women = UNIFEM)


            ความคิดเกี่ยวกับกองทุนสหประชาชาติ เพื่อพัฒนาสตรี ได้เกิดขึ้นระหว่างการประชุมระดับโลก ว่าด้วยสตรี ณ กรุงเม็กซิโก เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๘ (ค.ศ. ๑๙๗๕) ในปีต่อมามีการจัดตั้งกองทุนบริจาค เพื่อดำเนินงานทศวรรษแห่งสตรี โดยมีวัตถุประสงค์จะนำเรื่องเกี่ยวกับสตรี ให้อยู่ในกิจกรรมของสหประชาชาติเพื่อการ พัฒนา ระหว่างการประชุมทศวรรษแห่งสตรี ณ กรุงไนโรบี เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๘ (ค.ศ. ๑๙๘๕) บทบาทของกองทุนได้ขยายออกไปเป็นกองทุน สหประชาชาติเพื่อการพัฒนาสตรี มีสถานภาพ เป็นองค์กรนิติบุคคลที่มีความเชื่อมโยงกับแผน งานสหประชาชาติเพื่อการพัฒนา (ยูเอ็นดีพี)

            ภารกิจของยูนิเฟม คือ สนับสนุนสตรีในประเทศที่กำลังพัฒนา ให้ได้รับความสำเร็จ ดังมีจุดมุ่งหมายในด้านเศรษฐกิจ และสังคม และเมื่อได้ผลดีดังความมุ่งหมายแล้ว สตรีก็จะมีชีวิตที่มีคุณภาพทัดเทียมกับบุรุษ ยูนิเฟมทำงานร่วมกับ องค์กรอื่นๆ ในภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิกในการกำหนดยุทธศาสตร์ เพื่อพัฒนาสตรีสามประการ คือ

            ๑) ปรับปรุงข้อมูลและสถิติเกี่ยวกับสตรี

            ๒) กำหนดนโยบายเกี่ยวกับการสนองความต้องการของสตรี ทั้งในระดับสูง และระดับต่ำ

            ๓) จัดการศึกษา และฝึกอบรม เพื่อให้เกิดความตระหนัก ในบทบาทของสตรี ในการพัฒนา

            ตัวอย่างกิจกรรมของยูนิเฟม ในช่วง ๒-๓ ปีที่ผ่านมา ได้แก่ การรวบรวมสถิติเกี่ยวกับสตรี ในประเทศจีน ซึ่งมีประชากรมากที่สุดในโลก การให้คำแนะนำ และสนับสนุนสตรีเขมร ให้มี ส่วนร่วมในการเลือกตั้งใน พ.ศ. ๒๕๓๖ โครงการนำร่องในประเทศสาธารณรัฐประชาชนเกาหลี ที่จะให้สตรีมีส่วนร่วมในการเศรษฐกิจของประเทศ โดยพิจารณากำหนดชั่วโมงทำงาน และสภาพการทำงานที่เหมาะสม และยืดหยุ่นได้ จัดให้มีศูนย์เลี้ยงเด็กเล็ก เพื่อบรรเทาภาระของมารดาที่ทำงาน ในโรงงาน เป็นต้น

            สำนักงานยูนิเฟมสำหรับภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ตั้งอยู่ ณ อาคารสหประชาชาติ ถนน ราชดำเนิน กรุงเทพมหานคร ๑๐๒๐๐ โทรศัพท์ (๖๖๒) ๒๘๘-๑๒๓๔, ๒๘๐-๓๘๑๐, ๒๘๘-๒๐๙๓ โทรสาร (๖๖๒) ๒๘๐-๖๐๓๐