เล่มที่ 21
องค์การสหประชาชาติและองค์การในเครือ
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
องค์การชำนัญพิเศษเฉพาะเรื่อง (Specialized Agencies)

            ของสหประชาชาติ มี สถานภาพเป็นองค์การระหว่างประเทศอย่างสมบูรณ์แบบ เป็นนิติบุคคลระหว่างประเทศ และมีธรรมนูญ ซึ่งที่ประชุมใหญ่ของรัฐสมาชิก มีมติรับรองเป็นเอกฉันท์ รัฐที่เข้าร่วมเป็นสมาชิก จ่ายเงินค่าบำรุงรายปี ตามสัดส่วนของรายได้ของประเทศ มีสิทธิได้รับประโยชน์จากการเป็น สมาชิก ตามที่ตกลงกัน เช่น มีสิทธิได้รับความช่วยเหลือทางการเงิน และทางด้านวิชาการ มีสิทธิเข้าร่วมประชุมสามัญประจำปี และการประชุมอื่นๆ ซึ่งองค์การจัดขึ้น มีสิทธิในการเสนอชื่อผู้เชี่ยวชาญของประเทศ ให้เข้ารับตำแหน่งต่างๆ ในองค์การตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เป็นต้น

องค์การชำนัญพิเศษเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเอเชีย และแปซิฟิก และมีสำนักงานภาคพื้นอยู่ในประเทศไทย มีดังต่อไปนี้
  • องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization-ILO) 
  • องค์การอาหารและการเกษตร (Food and Agriculture Organization -FAO) 
  • องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization-UNESCO) 
  • องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization-ICAO) 
  • สหพันธ์การไปรษณีย์สากล (Universal Postal Union-UPU) 
  • องค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก (World Intellectual Property Organization-WIPO) 
  • องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Industrial Development Organization -UNIDO) 
  • องค์การอนามัยแห่งโลก (World Health Organization-WHO)


ไอแอลโอมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองผู้ใช้แรงงานให้ได้รับความเป็นธรรมและปลอดภัย
ไอแอลโอมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองผู้ใช้แรงงานให้ได้รับความเป็นธรรมและปลอดภัย

ไอแอลโอมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองผู้ใช้แรงงานให้ได้รับความเป็นธรรมและปลอดภัย
ไอแอลโอมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองผู้ใช้แรงงานให้ได้รับความเป็นธรรมและปลอดภัย
องค์การแรงงานระหว่างประเทศ-ไอแอลโอ
(International Labour Organization-ILO)


            องค์การไอแอลโอ ตั้งขึ้นตั้งแต่ยังไม่มี ฃองค์การสหประชาชาติ คือ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๒ (ค.ศ. ๑๙๑๙) เป็นองค์การชำนัญเฉพาะเรื่ององค์การแรก ที่เข้าอยู่ในเครือสหประชาชาติ คือ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖) องค์การนี้มีอายุได้ ๗๗ ปี ใน พ.ศ. ๒๕๓๙ ในบรรดารัฐสมาชิกสหประชาชาติ ที่นับว่า เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้ง มีประเทศไทยรวมอยู่ด้วย ประเทศอื่นในภาคพื้นเอเชีย และแปซิฟิก ได้แก่ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น และนิวซีแลนด์

            ภารกิจหลักของ ไอแอลโอ คือ ช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานทั่วโลก ให้ได้รับความยุติธรรมจากสังคม ให้มีชีวิต และสภาพการทำงานที่ดีขึ้น ผลงานขององค์การทำให้ได้รับรางวัลโนเบล เพื่อ สันติภาพ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๒ (ค.ศ. ๑๙๖๙) ทั้งนี้ โดยที่องค์การยึดมั่นในหลักการที่ว่า สันติสุขแห่งโลกจะเกิดขึ้นได้ และมีความต่อเนื่องมั่นคง ก็ด้วยการที่มีความยุติธรรมในสังคม มีฐานรากคือ ความเคารพในสิทธิมนุษยชน มีมาตรฐานความ เป็นอยู่ที่ดี มีสภาพการทำงานซึ่งเกื้อกูลความ ผาสุกของผู้ใช้แรงงาน การมีโอกาสทำงานและ มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

            ยุทธศาสตร์การปฏิบัติงานของไอแอลโอ คือ จัดให้มีการเจรจาร่วมของผู้เกี่ยวข้องสามฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายแรงงาน ในกรณีที่มีความขัดแย้ง และพยายามแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยมีมติเป็นเอกฉันท์ ภารกิจขององค์การ นี้ในภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิกมีความหลากหลาย และยุ่งยาก เพราะประเทศต่างๆ มีสภาพเศรษฐกิจ และสังคมที่แตกต่างกัน ทั้งในด้านการพัฒนา อุตสาหกรรม โครงสร้าง รายได้และสวัสดิการ สังคม การพาณิชย์ การลงทุน แรงงาน ปัญหา ด้านสังคมและแรงงาน ความเปลี่ยนแปลงอย่าง รวดเร็วด้านเศรษฐกิจและสังคม ในประเทศที่เริ่ม เข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม ก็ได้นำมาซึ่งปัญหาใหม่ๆ อีกมากมาย

ไอแอลโอ จัดลำดับเรื่องสำคัญรีบด่วนไว้ สามประการ คือ

            ๑) การจัดให้มีงานทำ และขจัดความยากจน
            ๒) การคุ้มครองผู้ใช้แรงงาน และ
            ๓) ส่งเสริมประชาธิปไตย และสิทธิแห่งมนุษยชน

            ในข้อแรก ไอแอลโอ ช่วยเหลือประเทศต่างๆ ในการฝึกอบรมผู้ใช้แรงงานให้มีประสิทธิภาพ ในข้อที่สอง ไอแอลโอ ช่วยประเทศต่างๆ ให้เพิ่มพูนประสิทธิภาพ ในการคุ้มครองผู้ใช้แรงงาน ให้ได้รับความปลอดภัย และให้ตระหนักถึงภัยที่เกิดจากการทำงานในโรงงาน ในข้อที่สาม ไอแอลโอ ช่วยเหลือในการออกกฎหมายเกี่ยวกับแรงงาน และอุตสาหกรรมสัมพันธ์ระหว่างแรงงานกับนายจ้าง สนับสนุนองค์การของผู้ใช้แรงงาน ได้กำหนดมาตรฐานสากลเกี่ยวกับแรงงาน ซึ่งช่วยในการสร้างเสริมประชาธิปไตย และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

            องค์การไอแอลโอ มีสำนักงานภูมิภาค และสำนักงานประจำประเทศหลายแห่ง ในภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ให้ความช่วยเหลือทางด้าน วิชาการ จัดการฝึกอบรม ทำการศึกษาวิจัย เพื่อ ส่งเสริมสัมพันธภาพระหว่างรัฐบาล แรงงาน และนายจ้าง ในระดับประเทศ สำนักงานภาค พื้นเอเชียและแปซิฟิก ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร ตู้ไปรษณีย์ ๑๗๕๙ กรุงเทพมหานคร ๑๐๕๐๑ โทรศัพท์ (๖๖๒) ๒๘๒-๙๑๖๔, ๒๘๘-๑๗๑๐, ๒๘๘-๑๗๕๕ โทรสาร (๖๖๒) ๒๘๑-๑๔๙๖


สัตว์น้ำเป็นอาหารที่มีประโยชน์แก่ร่างกาย
สัตว์น้ำเป็นอาหารที่มีประโยชน์แก่ร่างกาย
องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ -เอฟเอโอ (Food and Agriculture Organization of the United Nations-FAO)

            ความอดอยากหิวโหย และขาดแคลนอาหาร ซึ่งเป็นผลกระทบของสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทำให้ประเทศต่างๆ ๔๔ ประเทศร่วมกันจัดตั้ง องค์การอาหารและเกษตร เมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. ๑๙๔๕) เป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ ก่อนการลงนาม ให้สัตยาบรรณ ในกฎบัตรสหประชาชาติ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๒ (ค.ศ. ๑๙๗๙) เป็นต้นมา องค์การได้กำหนดวันที่ ๑๖ ตุลาคม ให้เป็นวันอาหารแห่งโลก (World Food Day) ในปัจจุบันรัฐสมาชิกของเอฟเอโอ มีอยู่ ๑๖๒ ประเทศ

            ภารกิจหลักของเอฟเอโอ คือ ยกระดับโภชนาการ และมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชากรโลก ปรับปรุงสมรรถนะของการผลิต และการกระจายผลิตผลจากการเกษตร การทำไร่นา ป่าไม้ และการประมง ส่งเสริมการพัฒนาชนบท ปรับปรุงความเป็นอยู่ของชาวชนบท ซึ่งล้วนเป็น ทางนำไปสู่การขจัดความหิวโหย กิจกรรมที่นำ ไปสู่ผลสำเร็จตามความมุ่งหมาย ได้แก่ การส่งเสริมการลงทุนในการเกษตร ปรับปรุงคุณภาพดิน และจัดการเกี่ยวกับแหล่งน้ำ เพิ่มพูนผลิตผล ด้านการเพาะปลูก และเลี้ยงสัตว์ ถ่ายทอดความรู้ ด้านเทคโนโลยีการเกษตรและอาหาร ส่งเสริม การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ส่งเสริมการใช้ ปุ๋ยและยาฆ่าแมลงให้ถูกต้องตามหลักวิชา ขจัด โรคระบาดในสัตว์ พัฒนาการประมงน้ำจืด และ น้ำเค็ม แสวงหาแหล่งพลังงานซึ่งใช้หมุนเวียนได้ ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรป่าไม้โดยประหยัด และมีการปลูกป่าทดแทน นอกจากนี้ยังให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่โภชนาการ การปฏิรูปการเกษตร วิศวกรรมการเกษตร การสื่อสาร เพื่อพัฒนาการเกษตร การใช้ดาวเทียม เพื่อรวบรวมข้อมูลทรัพยากรธรรมชาติ และการป้องกันน้ำท่วม

            เอฟเอโอ เป็นองค์การแรกของสหประชาชาติ ที่มาตั้งสำนักงานภาคพื้นในประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๒ (ค.ศ. ๑๙๔๙) เพราะภาคพื้นเอเชีย และแปซิฟิก เป็นแหล่งที่ชาวชนบทถึงร้อยละ ๗๐ มีที่ดิน เพื่อการเกษตร เพียงร้อยละ ๒๗ จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมๆ กับการแผ่ขยายของความอดอยากยากจน ที่ดินเสื่อมโทรม มีการตัดไม้ทำลายป่าอย่างมาก และมีมลพิษในน้ำ ทะเล และอื่นๆ ซึ่งล้วนเป็นเหตุผลที่จำต้อง ดำเนินการแก้ไขโดยรีบด่วน สำนักงานภาคพื้นมี แผนการที่ดำเนินการช่วยเหลือประเทศไทยโดยเฉพาะ

            องค์การนี้ได้ดำเนินการโครงการช่วยเหลือ การพัฒนาในประเทศต่างๆ ในเอเชียและแปซิฟิกกว่า ๕๐๐ โครงการ เช่น การฟื้นฟูป่า การควบคุม ผลิตผลมิให้สูญเสีย การชลประทาน การปราบศัตรูพืช บำรุงเมล็ดพันธุ์ การใช้ปุ๋ยที่ถูกต้อง และการปฏิรูปด้านเกษตรทำงาน โดยร่วมมือกับองค์การอื่นๆ เช่น ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย และธนาคารโลก

            สำนักงานภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิกตั้งอยู่ ที่อาคารมะลิวัลย์ เลขที่ ๓๙ ถนนพระอาทิตย์ กรุงเทพมหานคร ๑๐๒๐๐ โทรศัพท์ (๖๖๒) ๒๘๑-๗๘๔๔ โทรสาร (๖๖๒) ๒๘๐-๐๔๔๕


เขียนอ่านทำงานร่วมกัน
เขียนอ่านทำงานร่วมกัน  

อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย - มรดกโลกทางวัฒนธรรม
อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย - มรดกโลกทางวัฒนธรรม
องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ-ยูเนสโก
(The United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization = UNESCO)


            องค์การยูเนสโก ตั้งขึ้น เพื่อเป็นกำลังช่วยเหลือภารกิจขององค์การสหประชาชาติ ในการธำรงไว้ ซึ่งสันติภาพที่มั่นคง และยืนนาน แก้ไขปัญหา และจุดอ่อน ที่เป็นสาเหตุให้เกิดความขัดแย้ง และสงครามทำลายล้าง รวมพลังกลุ่ม บุคคลด้านพุทธิปัญญา วัฒนธรรม นันทนาการ ศิลปะ การศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคม- ศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ เพื่อสร้างเสริมความ เข้าใจอันดีระหว่างกัน ร่วมมือกัน แม้ว่าจะ แตกต่างกันโดยเชื้อชาติ ภาษา สังคม วัฒนธรรม และระดับการศึกษา ดังนั้น ภายในหนึ่งปีหลัง จากการสถาปนาองค์การสหประชาชาติ ผู้นำ ประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรผู้ชนะสงครามก็ได้ตกลง กันในที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่กรุงลอนดอน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖) ให้จัดตั้งองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และ วัฒนธรรมขึ้น

            วัตถุประสงค์ของยูเนสโก คือ การส่งเสริมความรู้ความเข้าใจร่วมกัน ระหว่างชาติต่างๆ ให้ยอมรับระบบสังคม วัฒนธรรม ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ แนวคิด และผลงานทางศิลปะของ กันและกัน ขจัดความไม่รู้ในวิถีชีวิตของคนอื่นๆ เนื่องจากความไม่รู้นี้เป็นตัวการในการก่อให้เกิด ความเกลียดชัง ความอยุติธรรม และสงคราม ระหว่างประเทศในที่สุด

            ภารกิจหลักของยูเนสโก ครอบคลุมการส่งเสริมด้านการศึกษา พัฒนาการด้านวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ วัฒนธรรม และการสื่อสาร เพื่อประโยชน์ของประเทศสมาชิก โครงการหลักในเรื่องดังกล่าวเป็นโครงการเสริมความคิด ความรู้ สติปัญญา และเป็นการปฏิบัติ ที่เป็นรูปธรรม ยูเนสโกจัดลำดับเรื่องสำคัญที่จะมุ่งเน้นกิจกรรมใน ๓ ด้าน คือ

            ๑) การศึกษาพื้นฐาน สำหรับทุกคนในโลก อย่างน้อยในระดับประถมศึกษา ขจัดความไม่รู้หนังสือ จัดบริการการศึกษาแก่ผู้ใหญ่ ที่จบชั้นประถมศึกษา แล้วส่งเสริมการศึกษาต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ด้อยโอกาส สตรี เด็ก ชนกลุ่มน้อย คนยากจนทั้งในเมืองและชนบท ส่งเสริมการพัฒนาวิธีการใหม่ๆ ในการให้การศึกษา

            ๒) ปรับปรุงคุณภาพการศึกษา และการศึกษาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้มีสิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างต่อเนื่อง และยั่งยืน

            ๓) อำนวยความสะดวกในการร่วมมือ เพื่ออนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมอันล้ำค่า

            แผนงานนวัตกรรมการศึกษา เพื่อพัฒนา (Programme of Educational Innovation for Development - APEID) เป็นตัวอย่างแผนงานสำคัญแผนหนึ่งของสำนักงานใหญ่ ในภาคพื้นเอเชีย และแปซิฟิก แผนงานนี้มุ่งเน้นการขจัดความยากจน ส่งเสริมคุณธรรม ขจัดความเสื่อมทางจริยธรรม และสิ่งแวดล้อม สำนักงานช่วยเหลือรัฐสมาชิก ในการวางแผนการศึกษา การบริการสถานศึกษา ปฏิรูปหลักสูตร กำหนดโครงสร้างใหม่ สำหรับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ส่งเสริมการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม การศึกษาด้านประชากรศาสตร์ การป้องกันยาเสพติด โรคเอดส์ และอื่นๆ ซึ่งสมควรต้องให้การศึกษา

            ทางด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี มีการวิจัยในเรื่องสารเคมีในผลิตผลธรรมชาติ จุลชีวัน ไบออสเฟียร์ (แผนงานมนุษย์และไบออสเฟียร์) ส่งเสริมการจัดการและการเรียนการสอนทาง วิทยาศาสตร์ โดยผ่านทางเครือข่ายนโยบาย วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ทางด้าน สังคมศาสตร์ ได้ส่งเสริมความร่วมมือด้านการ ศึกษาวิจัยของสภา ในส่วนภูมิภาค ว่าด้วยสังคมศาสตร์ และเครือข่ายสารนิเทศของสังคมศาสตร์

            ในด้านวัฒนธรรมมีงานสำคัญๆ เช่น รณรงค์ เพื่ออนุรักษ์มรดกวัฒนธรรม ด้านสถาปัตยกรรมโบราณ ตัวอย่างเช่น อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย พุทธสถานโบโรพุทโธ ในอินโดนีเซีย กาฐมาณฑุในเนปาล สามเหลี่ยมทางวัฒนธรรมในศรีลังกา มีแผนงาน และโครงการอนุรักษ์และพัฒนาวัฒนธรรมมากมาย โดยเฉพาะในระหว่างทศวรรษ แห่งการพัฒนาวัฒนธรรมแห่งโลก (World Decade for Cultural Development 1988-1997) มีโครงการสำคัญๆ เช่น การศึกษา เส้นทางสายไหม ซึ่งเป็นเส้นทางติดต่อสมัย โบราณในด้านการค้าขาย และเผยแพร่วัฒนธรรม ระหว่างยุโรปกับเอเชีย

            ในด้านการสื่อสาร และการส่งเสริมบริการ ความรู้ ยูเนสโก ได้สนับสนุนการพัฒนาหนังสือ การพัฒนาห้องสมุด และสถาบันบริการสารนิเทศอื่นๆ เพื่อให้ประชาชนทั่วโลกได้รับรู้ข้อมูล ข่าวสาร วิชาการต่างๆ ที่มีการเผยแพร่โดยสิ่งพิมพ์ โสตทัศนวัสดุ วัสดุอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโดยผ่านสื่อมวลชนอื่นๆ ทุกประเภท ให้ทุกคนในโลกสามารถเข้าถึง รับรู้ และเรียนรู้ข้อมูลข่าวสาร วิชาการต่างๆ ไม่ว่าจะผลิตขึ้น ณ ที่ไหนในโลก

            สำนักงานใหญ่ภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ตั้งอยู่ที่ประเทศไทย อาคารดาราคาร เลขที่ ๙๒๐ ถนนสุขุมวิท กรุงเทพมหานคร ๑๐๑๑๐ โทรศัพท์ (๖๖๒) ๓๙๑-๐๕๗๗ โทรสาร (๖๖๒) ๓๙๑-๐๘๖๖


อาคารสำนักงานไอซีเอโอ ภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก กรุงเทพฯ
อาคารสำนักงานไอซีเอโอ ภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก กรุงเทพฯ  

การฝึกอบรมนักบินและเจ้าหน้าที่เทคนิคการบิน
การฝึกอบรมนักบินและเจ้าหน้าที่เทคนิคการบิน
องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ -ไอซีเอโอ (International Aviation Organization -ICAO)

            ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๗ (ค.ศ. ๑๙๔๔) มีวัตถุประสงค์ในการดูแลให้การบินพลเรือนปลอดภัย มีประสิทธิภาพ ประหยัด และเพิ่มพูนเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ทั่วโลก มีภารกิจเกี่ยวกับทุกเรื่อง ด้านการบินพลเรือน ทางด้านเทคนิค เศรษฐกิจ และกฎหมาย ได้กำหนดมาตรฐานการปฏิบัติทางด้านการบินพลเรือน ซึ่งประเทศสมาชิกทุกประเทศยอมรับ และปฏิบัติตาม สำนักงานภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิกย้ายจากเดิม มาตั้งอยู่ ณ กรุงเทพมหานคร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๘ (ค.ศ. ๑๙๕๕)

            องค์การนี้ช่วยเหลือรัฐสมาชิกทางด้านเทคนิค เช่น บริการจราจรทางอากาศ การค้นหา และช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติภัยทางอากาศ การกำหนดเส้นทางอากาศ และความช่วยเหลือด้านภาคพื้นดิน ฝึกอบรมบุคลากร บริการข้อมูล เกี่ยวกับภาวะอากาศ จัดการประชุมและสัมมนา เพื่อการปรับปรุงประสิทธิภาพของการบิน และความปลอดภัย ในระยะเวลา ๕๐ ปีที่ผ่านมา เห็นชัดว่า อุตสาหกรรมเครื่องบิน และการบินพาณิชย์ได้ก้าวหน้าไปอย่างมหาศาล

            เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๙ ผู้โดยสารเครื่องบินมีจำนวน ๙ ล้านคน ปัจจุบันมีจำนวนถึงหนึ่งล้านล้านคนต่อปี ประมาณว่า เมื่อสิ้นทศวรรษนี้ จะมีผู้โดยสารถึงสองล้านล้านคน อัตราอุบัติภัยทาง อากาศที่เคยมีแต่เดิมคือ ๓.๑๒ ต่อร้อยล้าน กิโลเมตรการบินลดลงเหลือเพียง ๐.๐๕ ทำให้ การเดินทางโดยทางอากาศเป็นการเดินทางที่ ปลอดภัยมากที่สุดในขณะนี้ ในขณะเดียวกัน เทคโนโลยีทางการบินก็ก้าวหน้าไปอย่างมหาศาล ทั้งในด้านเครื่องยนต์และตัวลำเครื่อง ซึ่งสามารถ รับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอย่างมาก

            สำนักงานภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิกตั้งอยู่ที่ สามแยกลาดพร้าว ตู้ไปรษณีย์ ๑๑ กรุงเทพ- มหานคร ๑๐๙๐๑ โทรศัพท์ (๖๖๒) ๕๓๗-๘๑๘๙ โทรสาร (๖๖๒) ๕๓๗-๘๑๙๙


ศูนย์ฝึกอบรมการไปรษณีย์ในภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก
ศูนย์ฝึกอบรมการไปรษณีย์ในภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก
สหพันธ์การไปรษณีย์สากล-ยูพียู
(Universal Postal Union-UPU)


            ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๗ (ค.ศ. ๑๘๗๔) โดยสนธิสัญญาแห่งกรุงเบิร์น (Berne Treaty) เข้าเป็นองค์การในเครือสหประชาชาติ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๑ (ค.ศ. ๑๙๔๘) มีวัตถุประสงค์ในการเพิ่มพูน ประสิทธิภาพการรับส่งทางไปรษณีย์ของประเทศ สมาชิก ส่งเสริมความร่วมมือในกิจการไปรษณีย์ ทุกอย่าง รัฐสมาชิกตกลงว่าจะใช้วิธีการทาง ไปรษณีย์ที่ดีที่สุดในประเทศเพื่อการรับส่ง

            สหพันธ์ฯ เป็นผู้กำหนดอัตราค่าไปรษณีย์ กำหนดเป็นน้ำหนัก และขนาดหีบห่อที่จะส่งทางไปรษณีย์ กำหนดระเบียบ และหลักเกณฑ์ในการ ลงทะเบียนสิ่งของที่ส่งทางไปรษณีย์ สหพันธ์ฯ ให้ความร่วมมือทางวิชาการในการวางแผน บริหารและปฏิบัติงานด้านไปรษณีย์ จัดฝึก อบรมบุคลากร ให้ความช่วยเหลือต่างๆ ในด้านนี้ ได้ช่วยประเทศที่กำลังพัฒนาในด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมอย่างมาก

            ศูนย์ฝึกอบรมด้านไปรษณีย์ในภาคพื้น เอเชีย และแปซิฟิก ตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร โดยได้รับความช่วยเหลือ จากแผนงานพัฒนาของสหประชาชาติ สำนักงานภาคพื้นตั้งอยู่ที่ ชั้น ๒ ของอาคารไปรษณีย์และโทรเลข ๙๙ ถนนแจ้งวัฒนะ ดอนเมือง ตู้ไปรษณีย์ ๑ หลักสี่ กรุงเทพมหานคร ๑๐๒๑๐ โทรศัพท์ (๖๖๒) ๕๗๓-๓๘๓๑ โทรสาร (๖๖๒) ๕๗๓-๑๑๖๑
องค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก-ไวโพ
(World Intellectual Property Organization- WIPO)


            ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๗ (ค.ศ. ๑๙๗๔) มีวัตถุประสงค์ ในการส่งเสริมการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาทั่วโลก โดยอาศัยความร่วมมือจาก ประเทศสมาชิก ซึ่งขณะนี้มีอยู่ ๑๓๕ ประเทศ

ทรัพย์สินทางปัญญามีอยู่สองประเภทคือ

            ๑. ทรัพย์สินที่เป็นผลิตผลด้านอุตสาหกรรม เช่น สิทธิบัตร การประดิษฐ์ เครื่องหมายการค้า และการออกแบบอุตสาหกรรม

            ๒. ลิขสิทธิ์และสิทธิข้างเคียงในวรรณกรรม และศิลปกรรม รวมสิ่งพิมพ์ โสตทัศนวัสดุ รายการทางวิทยุกระจายเสียง และอื่นๆ

            องค์การให้ความช่วยเหลือ ในด้านตรากฎหมาย เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา รวบรวม และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร เกี่ยวกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ส่งเสริมการประดิษฐ์ และสร้างสรรค์ อำนวยความสะดวกในการพัฒนา เทคโนโลยีพื้นเมืองในแต่ละประเทศ ให้ข้อมูล เกี่ยวกับเทคโนโลยีของประเทศอื่นที่มีการ จดทะเบียนแล้ว แจ้งให้ทราบถึงงานวรรณกรรม ต่างประเทศที่มีลิขสิทธิ์ ให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับ เอกสารสิทธิบัตร จัดฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ผู้รับ ผิดชอบเกี่ยวกับเอกสารสิทธิบัตร จัดฝึกอบรม เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับทรัพย์สินทาง ปัญญาของชาติในประเทศต่างๆ จัดการประชุม และสัมมนาในระดับประเทศและภูมิภาค

สำนักงานขององค์การแห่งโลกว่าด้วย
ทรัพย์สินทางปัญญา ตั้งอยู่ ณ อาคารเลขที่ ๓๔
ถนนโคลอมเบตตส์ (Chemin Des Colombettes)
๑๒๑๑ เยนีวา ๒๐ สวิตเซอร์แลนด์ โทรศัพท์ (๒๒)
๗๓๐-๙๑๑๑ โทรสาร (๔๑-๔๒) ๗๓๓-๕๔๒๘
องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ- ยูนิโด
(The United Nations Industrial Develop- ments Organization-UNIDO)


            ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๙ (ค.ศ. ๑๙๖๖) ในฐานะหน่วยงานหนึ่งขององค์การสหประชาชาติ เพื่อเร่งรัดการพัฒนาอุตสาหกรรม ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๒๙ (ค.ศ. ๑๙๘๖) ได้ยกฐานะเป็นองค์การนิติบุคคลตามกฎหมาย เป็นองค์การชำนัญพิเศษเฉพาะเรื่อง

            ยูนิโด รับผิดชอบในการประสานงาน กิจกรรมด้านอุตสาหกรรมของหน่วยงาน และองค์การในเครือสหประชาชาติ มีแผนงานหลากหลาย เพื่อให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ จัดฝึกอบรม ให้ข้อมูลข่าวสาร วางแผนทางเทคโนโลยี และอุตสาหกรรมระหว่างประเทศ อุตสาหกรรม ของประเทศที่กำลังพัฒนา อำนวยความสะดวก ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากประเทศ อุตสาหกรรมไปสู่ประเทศที่กำลังพัฒนา

            มีโครงการช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา รวม ๑๖๐ ประเทศ เป็นโครงการกว่าหมื่นโครงการ จัดส่งผู้เชี่ยวชาญไปช่วยเหลือ ให้เครื่องจักร และอุปกรณ์ ให้ทุนการศึกษา และดูงาน จัดทำโครงการนำร่อง ดำเนินการวิจัย เพื่อความเป็นไปได้ ในการจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมประเภทใดประเภทหนึ่ง ส่งเสริมอุตสาหกรรมหนัก อุตสาหกรรมขนาดกลาง และขนาดเล็ก ให้เหมาะสมกับแต่ละประเทศ จัดพิมพ์เผยแพร่ข้อมูล และความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีล่าสุดทางอุตสาหกรรม จัดทำ ทำเนียบนามผู้เชี่ยวชาญในด้านอุตสาหกรรมทั่วโลก

            สำนักงานยูนิโด ในประเทศไทย ตั้งอยู่ ณ อาคารสหประชาชาติ ถนนราชดำเนิน กรุงเทพ- มหานคร ๑๐๒๐๐ โทรศัพท์ (๖๖๒) ๒๘๘-๐๒๙๘, ๒๘๘-๑๘๑๖, ๒๘๘-๑๘๒๖ โทรสาร (๖๖๒) ๒๘๐-๑๘๖๒


การให้บริการสาธารณสุขมูลฐานแก่ประชาชน
การให้บริการสาธารณสุขมูลฐานแก่ประชาชน
องค์การอนามัยแห่งโลก-ดับเบิลยูเอชโอ
(World Health Organization-WHO)


ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๑ (ค.ศ. ๑๙๔๙) วันที่ ๗ เมษายน ซึ่งต่อมาได้กำหนดให้เป็น วันอนามัยโลก

            องค์การนี้มีสมาชิก ๑๘๓ ประเทศ มี วัตถุประสงค์หลักคือ ช่วยให้ทุกคนในโลกมีสุขภาพดีที่สุด เท่าที่สามารถทำได้ ภารกิจสำคัญ คือ เป็นผู้ประสานงาน เกี่ยวกับสุขภาพของประเทศต่างๆ ทั่วโลก มีวิธีการดำเนินงานคือ มีการประชุมใหญ่ระดับโลก มีคณะกรรมการบริหาร และสำนักงานเลขาธิการ

            เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๐ ที่ประชุมใหญ่ได้ กำหนดว่า ใน พ.ศ. ๒๕๔๓ (ค.ศ. ๒๐๐๐) ทุกคนในโลกจะมีสุขภาพดี (Health for All by the Year 2000) ตั้งแต่ปีนั้นมา องค์การได้กำหนดแผนงาน และโครงการทั่วโลก เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ยุทธศาสตร์ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกประเทศ คือ การจัดให้มีการบริการสาธารณสุขมูลฐาน มีกิจกรรม เพื่อส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การบำบัดโรค และการฟื้นฟูสุขภาพ

            องค์การมีสำนักงานภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตก ภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก ภาคพื้นยุโรป และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำนักงาน ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งอยู่ที่อาคาร อนามัยโลก อินทรปริสต์สถาน (Indraprasthan Estate) ถนนมหาตมคันธี นิวเดลี ๑๑๐-๐๐๒ อินเดีย โทรศัพท์ (๙๑-๑๑) ๓๓๑-๗๘๐๔ โทรสาร (๖๑-๑๑) ๓๓๑-๘๖๐๗