เล่มที่ 21
องค์การสหประชาชาติและองค์การในเครือ
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

การดำเนินงานก่อตั้งองค์การสหประชาชาติ

มีอยู่ ๖ ขั้นตอนด้วยกัน คือ

            ๑) การจัดทำกฎบัตรแอตแลนติก (Atlantic Charter) ซึ่งประธานาธิบดีโรสเวลท์ (Theodore Roosevelt) แห่งสหรัฐอเมริกา และนายกรัฐมนตรีเซอร์ วินสตัน เชอร์ชิลล์ (Sir Winston Churchil) แห่งสหราชอาณา จักรร่วมกันกำหนดหลักการเมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๔ (ค.ศ.๑๙๔๑)

            ๒) มีการปรับปรุงแก้ไขกฎบัตรแอตแลนติกและนำเข้ารวมอยู่ใน ปฏิญญาสหประชาชาติ (United Nations Declaration) ลงนามเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๕ (ค.ศ.๑๙๔๕) โดยรัฐต่างๆ ๒๖ รัฐที่เข้าร่วม สงครามต่อต้านเยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น

            ๓) เมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน พ.ศ.๒๔๘๖ (ค.ศ.๑๙๔๓) นายคอร์เดลล์ ฮัลล์ (Cordell Hull) รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ได้กล่าวปราศรัยทางวิทยุกระจายเสียงเกี่ยวกับปัญหาการก่อตั้ง องค์การนานาชาติและเสนอข้อยุติของปัญหาเหล่านี้ คำปราศรัยของเขาเป็นแรงจูงใจให้มีการก่อตั้งองค์การ สหประชาชาติขึ้น

            ๔) การจัดทำปฏิญญามอสโคว์ (Moscow Declaration) ซึ่งรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศของสหราชอาณาจักร และสหภาพโซเวียต ร่วมกันลงนามเมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๘๖ (ค.ศ.๑๙๔๓)

            ๕) การร่างกฎบัตรสหประชาชาติ (United Nations Charter) เริ่มขึ้นระหว่างเดือนสิงหาคม-ตุลาคม พ.ศ.๒๔๘๗ (ค.ศ.๑๙๔๔) ที่ตำบลดัมบาร์ตัน โอคส์ (Dumbarton Oaks) ใกล้กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา โดยผู้แทนสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร สหภาพโซเวียต และจีนนำเข้าเสนอที่ประชุม ณ เมือง ยัลตา (Yalta) ในรัฐยูเครนของสหภาพโซเวียต เมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๘๘ (ค.ศ.๑๙๔๕)

            ๖) การลงนามในกฎบัตรสหประชาชาติ (United Nations Charter) ณ นครซานฟรานซิสโก สหรัฐฯ เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๘ (ค.ศ.๑๙๔๕) โดยมีรัฐที่เข้าร่วมประชุม เพื่อจัดตั้งองค์การสหประชาชาติ ๕๐ ประเทศกฎบัตรมีผลบังคับใช้ในวันที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๘๘ (ค.ศ.๑๙๔๕) จึงถือว่าวันที่ ๒๔ ตุลาคม ของ ทุกปีเป็นวันสหประชาชาติ